xs
xsm
sm
md
lg

“ปางช้างฯ-ตลาดชายแดนพม่า” พ้นวิกฤตน้ำท่วมแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – ปางช้างกะเหรี่ยงรวมมิตร/ตลาดชายแดนพม่าริมฝั่งน้ำสาย พ้นวิกฤตน้ำท่วมแล้ว หลังต้องขนสินค้า-ช้างหนีน้ำกันจ้าละหวั่นช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่น้ำโขงยังเพิ่มสูงขึ้นไม่หยุด

เมื่อเช้าวันนี้ (4 ส.ค.) ระดับน้ำป่าที่หนุนกับแม่น้ำกก ทะลักเข้าท่วมปางช้างบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย แหล่งเลี้ยงช้างและจุดอันซีนด์ท่องเที่ยวชื่อดังของเชียงราย เริ่มลดลงแล้ว เนื่องจากฝนตกน้อยลงทำให้ควาญช้างได้เก็บกวาดซากเศษไม้และวัชพืชที่ตกค้าง และนำช้างเข้ามาที่ปางช้างได้เช่นเดิม สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ น้ำกกทะลัก ท่วมปางช้าง เรือนำเที่ยวหวิดล่มหลายลำ

หลังจากน้ำป่าไหลบ่าหนุนน้ำกก ทะลักท่วมปางช้างแหล่งท่องเที่ยวดังเชียงราย ชนเผ่ากะเหรี่ยงต้องอพยพช้าง 34 เชือกหนีกระแสน้ำ ขณะที่เรือนำเที่ยว ถูกกระแสน้ำเชี่ยวกราก หวิดล่มหลายลำเมื่อวันที่ 2 ส.ค.51 ซึ่งบางจุดที่อยู่ในที่ต่ำ มีระดับน้ำสูงกว่า 70 ซม.

นอกจากนี้ ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมากระแสน้ำกกที่ไหลเชี่ยวกราก ได้พัดพาท่อนซุง เศษไม้ ไหลมาจำนวนมาก ทำให้เรือหางยาวที่นำพากรุ๊ปทัวร์ออกเที่ยวไม่สามารถขึ้นเทียบท่าที่ปางช้างได้ จึงนำเรือไปจอดเทียบท่าในจุดข้างเคียง ด้วยความลำบาก และมีรายงานด้วยว่า มีเรือหางยาวนำเที่ยวหลายลำ หวิดล่มกลางแม่น้ำกก เนื่องจากกระแสน้ำไกลเชี่ยวกราก การบังคับควบคุมเรือทำได้ลำบาก ทำให้ต้องมีการจ่ายถ่ายนักท่องเที่ยวลงในจุดที่ปลอดภัยแทน

ส่วนกรณีระดับน้ำในแม่น้ำสาย ทะลักท่วมย่านการค้าตลาดท่าล้อ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ทำให้พ่อค้าท่าขี้เหล็ก ต้องปิดร้านค้า นำกระสอบทรายเข้ากั้นเป็นแนวยาว แต่ไม่สามารถต้านทานกระแสน้ำที่มาแรงและมีระดับสูงได้ โดยกระแสน้ำได้ท่วมขัง มีระดับ 30 ซม. บางจุดอยู่ในที่ต่ำ มีระดับเกินกว่า 50 ซม. ทำสีสันเมืองการค้าชายแดนชะงักลงนั้น

ล่าสุด พบว่ากระแสน้ำป่าได้ลดระดับลง น้ำที่ท่วมขังได้ลดระดับและแห้งลงไปในที่สุด ทำให้พ่อค้าของทั้งสองประเทศ ต่างออกมาเปิดร้าน ทำความสะอาด กวาดคราบดินโคลนที่เกาะติดในร้านออกไป

ส่วนที่ อ.เชียงแสน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม่น้ำโขงกั้นพรมแดนไทย-ลาวได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรปลูกไร่ข้าวโพดของราษฎรบ้านสบกก ต.บ้านแซว ถูกน้ำโขงท่วมขัง กว่า 300 ไร่ กลายเป็นเวิ้งน้ำขนาดใหญ่ และที่บ้านเชียงแสนน้อย ต.เวียงเชียงแสน ก็ถูกน้ำโขงไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรเช่นเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น