ศูนย์ข่าวศรีราชา – การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา เหลวไม่เป็นท่า หลัง 2 ฝ่ายใช้เวลาหารือร่วมกันนานกว่า 8 ชั่วโมง แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปการจัดการปัญหาพื้นที่ทับซ้อน บริเวณปราสาทพระวิหารได้ อ้างติดข้อกฎหมายที่ไม่สามารถนำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จำต้องนำข้อเสนอแนะและบทสรุปปัญหากลับไปเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 2 ประเทศ ขณะที่การตรึงกำลังบริเวณแนวชายแดนของทั้ง 2 ฝ่าย ยังคงเป็นไปตามปกติ แต่จะเน้นการเผชิญหน้าด้วยความสงบ ปราศจากการใช้อาวุธ และจะไม่มีการเพิ่มกำลังทั้ง 2 ฝ่าย
การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา หรือ จีบีซี สมัยวิสามัญ ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมอินโดจีน อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทพระวิหาร โดยมี พล.อ.เตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของกัมพูชา ในฐานะประธานคณะกรรมการชายแดนทั่วไปกัมพูชา เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายกัมพูชา และมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะรองประธานคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ซึ่งสิ้นสุดเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น.และใช้เวลาในการประชุมนานกว่า 8 ชั่วโมง ยังไม่สามารถหาข้อสรุปกรณีพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทพระวิหารได้
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ได้เปิดให้มีการแถลงข่าวในทันที ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 20 นาที ในการแถลงข่าว และไม่เปิดให้ผู้สื่อข่าวซักถามถึงผลการประชุมมากนัก สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติ ที่รอทำข่าวตั้งแต่ช่วงเช้า
พล.อ.บุญสร้าง แถลงถึงการประชุมที่ใช้เวลานาน ว่า เนื่องจากเนื้อหาการประชุมเป็นเรื่องที่ยาก จึงไม่สามารถนำสู่การประชุมที่เป็นรูปแบบตามที่กำหนดไว้ได้ โดยการประชุมร่วมกันในวันนี้เป็นเพียงการประชุมวงเล็กที่ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันในปัญหาต่างๆ เนื่องจากติดที่ข้อกฎหมายจึงทำให้ผลการประชุมที่ได้ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญต้องนำข้อเสนอแนะระหว่างการประชุมและปัญหาต่างๆ กลับไปเสนอต่อหัวหน้ารัฐบาล เพื่อหาข้อสรุปและแนวทางแก้ไขในข้อกฎหมายต่อไป
“แต่สิ่งที่แน่นอนและสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ในขณะนี้ ก็คือ ทั้ง 2 ฝ่ายจะกำชับกองกำลังทหารที่กำลังเผชิญหน้ากัน อยู่บริเวณแนวชายแดนให้อยู่ในความสงบ โดยไม่มีการใช้อาวุธจนเป็นเหตุนำไปสู่ความรุนแรง ทั้งนี้ การถอนทหารเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะยังติดที่ข้อกฎหมาย แต่สิ่งที่ทำได้ คือ ทั้ง 2 ฝ่าย จะไม่เพิ่มกำลังทหารในจุดที่ตรึงกำลังอยู่ อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ยังเป็นจุดอ่อนของทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องนำกลับไปเสนอต่อหัวหน้ารัฐบาลเพื่อหาทางออกต่อไป โดยคาดว่าหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งในกัมพูชาแล้วจะสามารถประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้อีกครั้ง”
ด้าน พล.อ.เตีย บัญ ในฐานะหัวหน้าคณะประชุมฝ่ายกัมพูชา เผยถึงการประชุมร่วมกันในครั้งนี้ ว่า แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการหาข้อยุติปัญหาร่วมกัน แต่ก็ถือว่าทั้ง 2 ฝ่ายพยายามที่จะหาทางแก้ไขอย่างเต็มที่แล้ว แต่ปัญหาที่พบ ก็คือ ข้อติดขัดทางกฎหมายที่ยากต่อการนำไปปฏิบัติ ทำให้การหารือเพื่อหาข้อยุติและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ควรนำไปสู่การปฏิบัติได้จะต้องยุติไว้ก่อน
“สิ่งที่เราเข้าใจตรงกันอย่างลึกซึ้ง คือ ความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง เพื่อลดอุณหภูมิร้อนแรงที่กำลังเกิดขึ้นทั้ง 2 ประเทศ ทั้งนี้ ข้อหารือส่วนใหญ่เป็นไปด้วยดี แต่ยังติดขัดที่ข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นผลให้การหารือก่อนการประชุมเป็นไปอย่างล้าช้า และไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จได้ในช่วงเช้าได้”
ต่อข้อถามที่ว่า เหตุใดกัมพูชา จึงไม่ใช้ความสัมพันธ์ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหาข้อยุติปัญหาพื้นที่ทับซ้อน บริเวณปราสาทพระวิหารโดยรอให้มีการเปิดประชุมร่วมกันก่อน แต่กลับเลือกวิธีขอความช่วยเหลือจากสหประชาชาตินั้น
พล.อ.เตีย บัญ อ้างว่า การร้องขอความช่วยเหลือไปยังยูเอ็น เป็นสิ่งที่กัมพูชาไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว และไม่สามารถหาทางออกได้ กัมพูชาจึงเห็นว่าการขอความช่วยเหลือจากยูเอ็นเป็นสิ่งที่ควรกระทำในเวลานี้ อย่างไรก็ดี จะต้องมีการประชุมร่วมกันอีกครั้งในเร็วๆ นี้ อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาด้านข้อกฎหมายที่ไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ น่าจะเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการปักปันเขตแดน ซึ่งในที่ประชุมไม่มีการชี้แจงแน่ชัดว่า การติดขัดด้านข้อกฎหมายคือกฎหมายด้านใด ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวคณะกรรมการของทั้ง 2 ฝ่าย ต่างเดินทางออกจากโรงแรมที่ประชุมอย่างรวดเร็ว โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวได้ซักถามรายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด