อุบลราชธานี- ม.อุบลฯตั้งศูนย์ผลิตโปรแกรมเมอร์ หวังสร้างมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ในเขตพื้นที่อีสานใต้-อินโดจีนรับการแข่งขันธุรกิจซอฟต์แวร์ในตลาดโลก
จากมูลค่าการค้าในตลาดไอทีไทยปีละกว่า 23,000 ล้านบาท แต่ประโยชน์ส่วนใหญ่ยังเป็นของบริษัทข้ามชาติ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงร่วมกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ตั้งศูนย์ประสานงานปรับยกคุณภาพโปรแกรมเมอร์และบุคคลทั่วไปให้มีความรู้ของโลกไอที เพื่อสร้างมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ในอีสานใต้ และกลุ่มประเทศอินโดจีนให้แข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้
ล่าสุด ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือศูนย์ประสานงานเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อุบลราชธานี ว่า ศูนย์แห่งนี้จะรองรับอุตสาหกรรมด้านไอทีซอฟต์แวร์ ที่กำลังขยายตัวในภาคอีสานตอนล่าง 5 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมทั้งกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กับไทย เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป.ลาว) กัมพูชา และเวียดนาม เพราะธุรกิจซอฟต์แวร์มีอัตราการเจริญเติบโตของอย่างต่อเนื่องในรอบ 30 ปี ล่าสุดมีอัตราการเติบโตทางการค้าถึงปีละกว่า 23,000 ล้านบาท
อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวต่อว่า แม้ธุรกิจด้านซอฟต์แวร์ในประเทศมีอัตราเติบโตถึงร้อยละ 30 ต่อปี แต่กลับมีการส่งออกซอฟต์แวร์สู่ต่างประเทศเพียงปีละ 1,000 ล้านบาท และกว่า 70% เป็นผู้ประกอบการของบริษัทต่างชาติ แต่หากมีการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย ก็จะมีความสามารถแข่งขันกับต่างชาติและสามารถรับงานจากต่างประเทศมาทำได้เช่นเดียวกับประเทศอินเดีย
ปัจจุบันในวงการไอทีของโลกต่างให้การยอมรับคุณภาพประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบซอฟต์แวร์ของอินเดีย ว่า มีความสามารถสูงกว่ากลุ่มในประเทศยุโรปที่เป็นผู้คิดค้น ในการผลิตซอฟต์แวร์ทางคอมพิวเตอร์ออกมาใช้
ดังนั้น เมื่อมีศูนย์ประสานงานเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อุบลราชธานี คนไทยก็จะมีโอกาสได้รับการฝึกฝนสร้างความชำนาญในการผลิตซอฟต์แวร์ และโปรแกรมเมอร์ก็จะมีโอกาสเข้าถึงตลาดซอฟต์แวร์ เมื่อทดลองบริหารงานจนมีความชำนาญโปรแกรมเมอร์ก็สามารถไปหาตลาดด้วยตัวเอง ทำให้มีการแข่งขันด้านการผลิตซอฟต์แวร์ทุกรูปแบบออกมารองรับการเติบโตของตลาดซอฟต์แวร์ในภูมิภาคนี้อย่างเพียงพอ และมีประสิทธิภาพตรงตามที่ตลาดต้องการ สำหรับศูนย์ดังกล่าวตั้งอยู่ที่อาคารสำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี