xs
xsm
sm
md
lg

สระแก้วเสวนาแนวคิดการจัดการเทศบาลธรรมาธิบาลตามหลัก ศก.พอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สระแก้ว - เทศบาลเมืองสระแก้ว จัดเวทีเสวนาแนวคิดการจัดการเทศบาลธรรมาธิบาลตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชน องค์กรภาคีต่างๆ ในพื้นที่ มีการปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางของการพึ่งตนเอง

นายเฉลิมศักดิ์ วงษ์ศิริวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานเปิดเวทีเสวนาแนวคิดการจัดการเทศบาลธรรมาธิบาลตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ณ ห้องประชุมโรงแรมทิพปุระ อำเภอเมืองสระแก้ว โดยมีผู้นำชุมชน และประชาชนทั้ง 18 ชุมชนของเทศบาลเมืองสระแก้ว ตลอดจนตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังเวทีเสวนากว่า 200 คน

ทั้งนี้ มีอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มาร่วมบรรยายพิเศษให้ความรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการดำรงตนอยู่อย่างพอเพียง

นายหฤษฎ์ สุขกุล นายกเทศมนตรีเมืองสระแก้ว กล่าวว่า เทศบาลเมืองสระแก้วมียุทธศาสตร์และแนวทางพัฒนาตามวิสัยทัศน์การพัฒนาเทศบาลเมืองสระแก้ว ที่ว่า “เทศบาลเมืองสระแก้วเป็นเมืองน่าอยู่ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดี มีส่วนร่วมในการพัฒนา” ซึ่งมุ่งสู่การทำให้เมืองสระแก้วน่าอยู่ มีแนวทางการบริหารจัดการบ้านเมืองแบบชุมชนมีส่วนร่วม โดยกระตุ้นให้เกิดการสร้างเวทีประชาคม ที่แสดงถึงพลังแห่งการมีส่วนร่วมจากกลุ่มในชุมชน และดำเนินตามหลักธรรมาธิบาล 7 ประการ คือ หลักแห่งความโปร่งใส, หลักนิติธรรม, หลักความรับผิดชอบ,หลักความเสมอภาค, หลักคุณธรรม, หลักความคุ้มค่า และหลักการมีส่วนร่วม

ดังนั้น เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลและนโยบายด้านการพัฒนาของเทศบาล เทศบาลเมืองสระแก้วจึงได้จัดเวทีเสวนาพัฒนาแนวคิด การจัดการเทศบาลธรรมาธิบาลตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ในการสร้างเมืองน่าอยู่ ตามวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนตนเอง ซึ่งนำไปสู่การสร้างชุมชนเข้มแข็งในการจัดการปัญหาของตนเองอย่างยั่งยืน

ตลอดจนมีการปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางของการพึ่งพาตนเอง และสร้างภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางปฏิบัติควบคู่ไปกับการพัฒนาแบบบูรณาการ โดยเป็นองค์รวม ยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาของเทศบาล ซึ่งจะนำไปสู่ความเห็นพ้องต้องกันและการทำงานร่วมกันในการพัฒนาด้านต่างๆ ในพื้นที่ ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่ และมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่า และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของชุมชนที่จะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น