ศรีสะเกษ – กัมพูชาส่งทีมช่างจากกรุงพนมเปญ เข้ามาเร่งพัฒนาปราสาทเขาพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน จ.ศรีสะเกษ เผยเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวและการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ขณะที่ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา บริเวณเชิงเขาพระวิหารที่ชาวกัมพูชา และเจ้าหน้าที่รุกล้ำเข้ามาตั้งชุมนุม ที่พักอาศัย และร้านค้า กว่า 500 คน ยังไม่มีว่าจะได้รับการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด
วันนี้ (5 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านอ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ขณะนี้ชาวกัมพูชากำลังเร่งดำเนินการพัฒนาปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของปราสาทเขาพระวิหารกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยิ่งปราสาทโคปุระชั้นที่ 1 ซึ่งสภาพของปราสาทชำรุดทรุดโทรม และหินหลายส่วนได้พังทรุดลงมากองอยู่กับพื้น ได้มีช่างจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา จำนวนประมาณ 20 คน มาทำการบูรณะซ่อมแซมปราสาทโคปุระกันดังกล่าวอย่างเร่งด่วน
โดยได้มีการกั้นรอบบริเวณปราสาทโคปุระชั้นที่ 1 ไม่ยอมให้นักท่องเที่ยว และผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปใกล้บริเวณดังกล่าว รวมทั้งไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวบันทึกภาพบริเวณที่กำลังปรับปรุงบูรณะอีกด้วย ทั้งนี้ คณะช่างได้นำเอาไม้ขนาดใหญ่มาค้ำยันก้อนหิน ซึ่งอยู่ด้านบนของตัวปราสาทเพื่อไม่ให้หล่นลงมา พร้อมทั้งได้มีการจัดเรียงหินบางส่วนใหม่ เพื่อให้มีสภาพที่เรียบร้อยและสวยงาม ซึ่งคาดว่า การบูรณะซ่อมแซมดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงจะแล้วเสร็จ
ขณะที่ชาวกัมพูชาส่วนหนึ่งได้พากันนำเอาจอบเสียมและมีดแผ้วถางหญ้าตามทางเดินที่จะขึ้นไปสู่ปราสาทโคปุระชั้นที่ 2 รวมทั้งใช้เครื่องตัดหญ้าตัดหญ้ารอบบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร เพื่อให้สภาพภูมิทัศน์ของปราสาทเขาพระวิหาร สะอาดความเรียบร้อยและสวยงาม
นายรั๊วะ เฮง ประธานช่องเขาพระวิหาร จ.พระวิหาร ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า สภาพของปราสาทเขาพระวิหารหลายส่วนได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ดังนั้น ทางหน่วยเหนือจึงได้ส่งคณะช่างมาทำการซ่อมแซมบูรณะเป็นบางส่วนก่อน ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารมีสภาพที่สมบูรณ์สวยงามตามแบบวัฒนธรรมของ ขอมโบราณเช่นเดิม
นอกจากนั้นยังได้พัฒนาภูมิทัศน์รอบตัวปราสาทเขาพระวิหารด้วย เพื่อเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยว และเป็นการเตรียมความพร้อมในการขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก กับ ยูเนสโก อีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ส่วนปัญหาชาวกัมพูชา และเจ้าหน้าที่ รุกล้ำเข้ามาตั้งชุมนุม ที่พักอาศัย และร้านจำหน่ายสินค้า กว่า 500 คน บริเวณเชิงเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนเข้ามาในด้านฝั่งประเทศไทย ที่เป็นปัญหายืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2543 จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด