ศูนย์ข่าวขอนแก่น-กระทรวงพาณิชย์ดันนักธุรกิจอีสาน รุกเปิดตลาดอินเดีย เผยเป็นตลาดใหม่น่าสนใจ ประชากรถึง 1.1 พันล้านคน ทั้งอัตราการขยายตัว GDP โตต่อเนื่อง เชื่อลู่ทางขยายตลาดส่งออกยังสดใส ระบุผลเปิดเสรีการค้า เบื้องต้นแค่ 82 รายการ มูลค่าการส่งออกเพิ่มถึง 3 เท่าตัวกว่า 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อินเดียยกสินค้าไทยอยู่ตลาดบน เชื่อศักยภาพสินค้าอีสานทั้ง ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป สินค้าเกษตร ชูยางพารามีโอกาสสูง เหตุยางสังเคราะห์ราแพงตามน้ำมัน
เมื่อเร็วๆนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดสัมมนาเรื่อง “ตะลุยภารตะ : ขุมทรัพย์ทางการค้า” โดยมีนายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ ให้ความรู้กับนักธุรกิจ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง ร่วมสัมมนามากกว่า 300 คน ณ โรงแรมโซฟิเทล ราชาออคิด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตลาดอินเดียเป็นตลาดส่งออกใหม่ที่น่าสนใจ น่าจะมีการยกระดับให้ความสำคัญในการขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากตลาดหลัก สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เริ่มประสบปัญหา จากการแข่งขันที่รุนแรงและเข้าตลาดลำบาก
ที่น่าสนใจ อินเดียเป็นประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชีย เป็นตลาดใหญ่รองจากจีนเท่านั้น มีจำนวนประชากรสูงถึง 1.1 พันล้านคน ที่สำคัญการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจอินเดียในระยะหลัง มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมี GDP เติบโตถึงร้อยละ 8 ต่อปี เป็นตลาดหนึ่งที่มีกำลังซื้อสูง และหลากหลายกลุ่ม
“แม้สังคมโลก มองภาพอินเดียว่าเป็นประเทศยากจน แต่ด้วยจำนวนประชากรมหาศาล กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงหรือตลาดบนมีจำนวนมากกว่า 50 ล้านคน ส่วนชนชั้นกลางอินเดียมีประชากรมากกว่า 300 ล้านคน ส่วนที่เหลือเป็นตลาดล่าง และมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยเช่นกัน สินค้าไทยจึงสามารถทำตลาดอินเดียได้หลายกลุ่ม” รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวและว่า
ที่ผ่านมา สินค้าส่งออกไทยในตลาดอินเดีย มีภาพลักษณ์ที่ดีมาก คนอินเดียให้การยอมรับสินค้าไทยในฐานะเป็นสินค้าคุณภาพสูง เมื่อเทียบกับสินค้าชนิดเดียวกันจากประเทศคู่แข่งขัน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เจรจาระหว่างรัฐ เพื่อเปิดตลาดให้แล้ว และสินค้าไทยมีลู่ทางขยายตลาดอินเดียอีกมาก ซึ่งผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะต้องศึกษาตลาดอินเดียให้ถ่องแท้ โอกาสที่จะประสบผลสำเร็จสูงมาก
สำหรับตลาดอินเดีย สินค้าจีนครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด ส่วนสินค้าไทยยังมีปริมาณน้อย เนื่องจากสินค้าไทยเสียเปรียบต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ราคาสินค้าไทยในตลาดอินเดียสูงกว่าสินค้าจีน แต่ด้วยกลยุทธ์การเจรจาการค้าตามกรอบข้อตกเสรีการค้า จะลดความเสียเปรียบด้านราคาลง ขณะที่ภาพลักษณ์สินค้าไทยดีกว่า เชื่อว่าจะทำให้สินค้าขยายการส่งออกอีกมาก
ในอดีตมูลค่าการค้าระหว่างไทย-อินเดีย มีปริมาณน้อย แต่หลังจากที่ไทย-อินเดีย ได้ลงนามตามกรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรี เมื่อ 9 ตุลาคม 2546 ตกลงลดภาษีสินค้าเหลือ 0% เบื้องต้นแค่ 82 รายการ ทำให้การค้าระหว่างไทย-อินเดีย ขยายตัวในลักษณะก้าวกระโดด จากเดิมมูลค่าส่งออกอินเดียประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการส่งออกพุ่งสูงถึง 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2550
ทั้งนี้ หากมองในแง่ของปริมาณการค้าระหว่างไทยอินเดียทั้งหมด เมื่อปี 2550 มีมูลค่าการค้าทั้ง 2 ประเทศ กว่า 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2551 มูลค่าการค้าไทย-อินเดียน่าจะสูงถึง 5,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาลดภาษีสินค้าทั้งสองประเทศเพิ่มเติมกว่า 5,000 รายการ ซึ่งหากผลการเจรจาประสบผลสำเร็จ น่าจะส่งผลดีต่อการค้าทั้งสองประเทศในอนาคตอันใกล้ เชื่อมั่นว่ามูลค่าการค้าน่าจะเพิ่มถึง 10,000 ล้านบาทแน่
นายชนะ กล่าวต่อว่า สินค้าส่งออกของผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีศักยภาพส่งออกในตลาดอินเดียมีหลายชนิด ทั้งผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป ที่มีการผลิตในพื้นที่ สินค้าอุปโภคบริโภค ชิ้นส่วนยานยนต์ และสินค้าที่เชื่อมโยงกับปัญหาน้ำมันราคาแพง เช่น ยางพารา เป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจสูงมาก เนื่องจาก ยางสังเคราะห์มีราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน
ยางพารา ถือเป็นสินค้าที่มีอนาคต และมีการส่งเสริมปลูกยางพาราจำนวนมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูง จะยิ่งทำให้ยางพาราจากแหล่งผลิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถขยายปริมาณการส่งออกไปสู่ตลาดอินเดียสูงขึ้นในอนาคต