xs
xsm
sm
md
lg

สกลฯเตรียมรับมือน้ำป่า-ดินโคลนถล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบุญส่ง วิจักษณบุญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสกลนคร
สกลนคร - ปภ.สกลนครเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม หลังภาวะอากาศมีฝนตกชุกจากอิทธิพลความกดอากาศต่ำพัดผ่าน โดยเฉพาะพื้นที่เคยประสบภัย

นายบุญส่ง วิจักษณบุญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเรื่องหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน จะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกมากกว่าภาคอื่นๆ ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ส่งผลทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองได้ในระยะนี้

โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ มีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดหนองคาย อุดรธานี สกลนคร และนครพนม อุณหภูมิต่ำสุด 23 องศา สูงสุด 34 องศา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ขอให้ประชาชนระมัดระวังน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และดินโคลนถล่ม

ส่วนการคาดการณ์สภาพอากาศใน 7 วันข้างหน้า ในช่วงวันที่ 26-30 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 31 พ.ค.-1 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจายส่วนมาก ทางตอนบนของภาค ระยะนี้สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนควรระวังและป้องกันการระบาดของ โรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลชนิดต่างๆ เช่น น้อยหน่า ซึ่งจะทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตและตาย ส่วนผลผลิตข้าวที่เก็บเกี่ยวมาแล้วควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา

นายบุญส่ง กล่าวอีกว่า ในระยะนี้มีฝนตกชุก ทางศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้ติดตามรายงานสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น โดยที่ผ่านมาพื้นที่จังหวัดสกลนคร มักจะประสบกับปัญหาน้ำท่วม ซึ่งได้สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่นาข้าวที่อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ หรือลำน้ำ

นอกจากนี้ ยังมีจุดเสี่ยงต่อดินโคลนถล่มในบางอำเภอ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เข้าร่วมหารือเพื่อหาทางป้องกันอย่างเต็มที่ พร้อมกันนี้จะได้ออกไปตรวจสอบพื้นที่ซึ่งเคยประสบปัญหา เช่น ที่หนองหารซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ทุกปีน้ำในหนองหารจะเอ่อล้นท่วมไร่นาและบ้านเรือนราษฎร ดังนั้นจึงต้องมีการระบายน้ำออกก่อนไม่ให้ระดับน้ำสูงเกินไป เป็นการกันไว้ก่อนที่จะเกิดปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น