พิษณุโลก - รองอธิบดีกรมอุทยานฯ บุกแปลงกระกล่ำ กลางภูหินร่องกล้า ขณะที่หัวหน้าอุทยานฯโต้ เป็นโครงการมีส่วนร่วม ให้ชาวบ้านปลูกป่า “พญาเสือโคร่ง” แต่เรื่องดังขึ้นมาก็เพราะมีผู้เสียผลประโยชน์ ที่อ้างตัวเป็นนักข่าวขอเอี่ยวทำโครงการ แต่ ผอ.อนุรักษ์ 11 ไม่เล่นด้วย ใช้สื่อเขียนข่าวตี ซ้ำเดินหน้าเรียกเก็บเงินจากม้งไร่ละ 6,000 บาทเข้ากระเป๋า
วันนี้ (9 พ.ค.) ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก นายวิชิต พัฒนาโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พ.ต.ท.ณรงค์ธรรม บังทอง รอง ผกก.ฝป.3 บก.ปทส. (กองบังคับการปราบปราม กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม) นายวิรัช จตุพนาพร ผอ.ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ที่ 11 กรมอุทยานฯ และนายธีรพล กาญจนโกมล ชุดปฏิบัติการที่ 3 ภาคเหนือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สนธิกำลังร่วม 50 นาย ตรวจสอบพื้นที่ “ภูลมโล” ภูเขาในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ ต.กกกะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย ต.วังบาล หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ และ เนินเพิ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ที่ปลูกไร่กระหล่ำปี และเตรียมการปลูกต้นพญาเสือโคร่งบนเนื้อที่ 1,200 ไร่ กลางอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
เจ้าหน้าที่ได้เดินสำรวจและใช้เครื่องพารามอเตอร์สำรวจแปลงพิกัดที่ปลูกกระล่ำปลีเนื้อที่ 1,200 ไร่ ตามคำสั่งของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ให้ตรวจสอบ หลังจากได้รับการร้องเรียนว่า หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า คือ นายมโน มนูญสราญ ทำโครงการการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่อ้างว่าฟื้นฟูสภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง แต่กลับปล่อยให้ชาวบ้านมาปลูกเป็นไร่กะหล่ำปลี
ทั้งนี้ พบว่า สภาพพื้นที่เป็นที่ดินที่บุกรุกมานานจนเป็นเขาหัวโล้น พื้นที่ข้างเคียงเป็นพื้นที่กันเขตออก และอนุญาติให้ชาวเขาปลูกกระหล่ำปลีจนเป็นเขาหัวโล้น ท่ามกลางสภาพเขาบางลูกที่ยังอุดมสมบูรณ์ ทั้งหมดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า 200,000 ไร่
กรณีพื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียน คือ แปลงปลูกกะหล่ำปลี และมีไม้ไผ่ปักเป็นแนว เพื่อเตรียมปลูกต้นพญาเสือโคร่ง ชุดเจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงได้ดำเนินการบันทึกตรวจยึดแปลงพื้นที่ดังกล่าวไว้ก่อนทั้งหมดจำนวน 1,200 ไร่
นายวิชิต พัฒนาโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ตนมาตรวจสอบหลังอธิบดีสั่งการลงมาดูว่าเป็นพื้นที่บุกรุกใหม่หรือไม่ เบื้องต้นทราบว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุกมานาน หากบุกรุกใหม่ก็มีปัญหาแน่
กรณีนี้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าแจงว่า ที่ปลูกกะหล่ำเป็นการทำโครงการของรัฐที่ร่วมกับชาวบ้านฟื้นฟูสภาพป่า แบบประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งก็ต้องไปดูว่า หน.อุทยานฯมีอำนาจตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ที่ให้อำนาจหัวหน้าอุทยานทำกิจกรรมมาตราของ พ.ร.บ.อุทยานฯ ข้อ 4 (11) หรือไม่ หากพิจารณาแล้วไม่ผิดกฎหมายก็ดำเนินการต่อได้ หากผิดก็ต้องจับ
นายมโน มนูญสราญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ปัญหาที่ร้องเรียนว่ามีขบวนการกินป่ามีคนของรัฐ เกิดขึ้นเพราะนักข่าว 2 คน ที่มักอ้างตัวเป็นนักข่าวยักษ์ใหญ่ และมีเครือข่ายอีกจำนวนมาก ซึ่งต่อมาเรียกว่า ผู้เสียผลประโยชน์ เพราะตั้งแต่ตนมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 ก็พบกับนาย ป.เมื่อธันวาคม 2549 ซึ่งช่วงแรกๆ นาย ป. มักอ้างตัว เป็นนักข่าวสื่อยักษ์ใหญ่หัวเขียว มาขอทำโครงการแบบมีส่วนร่วม
ต่อมาก็มีนักข่าวอีกคนมาสบทบและพยายาม ให้ป่าไม้อนุมัติทำโครงการปลูกป่าโดยประชาชนมีส่วนร่วมในอุทยานฯภูหินร่องกล้า แต่ตนทำหนังสือเสนอ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษที่ 11 ในขณะนั้น (นายสังเวียน คงดี) ว่า ได้หรือไม่ แต่สรุปออกมาว่าไม่ได้
ปัญหาเกิดขึ้นมา เพราะนักข่าวที่อ้างตัวว่าใหญ่ อ้างว่ารู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ ทำหนังสือทุกแห่ง ล่าสุดทำไปถึงอธิบดี เพราะไม่พอใจ ที่เขาทำโครงการไม่ได้ แต่คนของป่าไม้ทำโครงการได้ พอเปลี่ยนหัวหน้าอนุรักษ์ ที่ 11 ใหม่ (นายโกวิทย์ สุรธรรม) ก็มีความพยายามอีกครั้ง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ที่สำคัญโครงการยังไม่เกิด กลับไปแอบอ้าง เรียกเก็บเงินจากชาวบ้าน บอกว่ามีที่ดินทำไร่กะหล่ำ แต่ต้องเสียเงินไร่ละ 6,000 บาท ก็ไม่รู้ว่าเรียกเก็บไปกี่รายแล้ว
ที่ผ่านมาก็เรียกประชุมชาวบ้านว่าไม่ต้องไปเสียเงินให้ ทำให้นักข่าวเกิดความไม่พอใจ เจ้าหน้าที่อุทยาน กระทั่งนำมาสู่การร้องเรียนและเขียนข่าวโจมตีบนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ซึ่งข้อเท็จจริงคือ แปลงที่ปลูกกะหล่ำที่ภูหินร่องกล้าอนุญาตให้ม้งหรือชาวบ้านทำฟรี เพียงแต่ปลูกต้นพญาเสือโคร่งให้เท่านั้น
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า กล่าวว่า สำหรับการฟื้นฟูสภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ ได้ให้ประชาชนมาร่วมปลูกต้นนางพญาเสือโคร่ง ในพื้นที่ 1,200 ไร่ มีชาวบ้านร่วม 128 คนระหว่างที่รอต้นไม้โตระยะเวลา 1-3 ปี ให้ชาวบ้านสามารถมาทำกินปลูกพืชล้มลุกแซมได้คือ กะหล่ำ หากต้นนางพญาเสือโคร่งโตจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของอุทยาน