xs
xsm
sm
md
lg

ผู้สมัคร อบจ.แพร่ฉวยโอกาสจัดรดน้ำผู้สูงอายุแจกซองซื้อเสียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนังสือเชิญเข้าร่วมตรวจสอบเลือกตั้งที่ส่งพร้อมขอคำตอบในวันเดียว
แพร่ - ผู้สมัคร ส.อบจ.แพร่ อาศัยเทศบาล - อบต.ในเครือข่ายจัดงานรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ แจกซองผู้สูงอายุ แถมถือโอกาสชี้นำให้เลือกคนของตัวเอง ขณะ กกต.จังหวัดส่อหมกเม็ด กีดกันเอกชนร่วมตรวจสอบ ทำหนังสือแจ้งกระชั้นชิดแค่วันเดียว จนเตรียมตัวไม่ทัน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดแพร่ว่า การเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(ส.อบจ.)แพร่ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 เมษายนนี้ กำลังส่อเค้าว่ามีการซื้อเสียงกันอย่างรุนแรง โดยใช้วัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์เข้ามามีส่วนในการซื้อเสียง

นักการเมืองที่ลงสมัคร ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับนักการเมืองระดับเทศบาล และ อบต.ที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งมา ได้พากันจัดงานวันสงกรานต์ โดยเชิญผู้สูงอายุจำนวนมากเข้าร่วมพิธีรดน้ำดำหัวและมีการแจกซองเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุภายใต้งบประมาณในองค์กรท้องถิ่นนั้นๆ

ในการจัดงานตามประเพณี ก็นำเอานักการเมืองในกลุ่มของตนเข้ามาร่วมกิจกรรม ซึ่งในงานดังกล่าวจะมีการชี้นำให้ไปเลือกตั้ง ส.อบจ.ในกลุ่มของตนเอง เป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง และผู้สมัคร ส.อบจ.บางรายไม่ละอายใช้งานรื่นเริงในวันสงกรานต์เข้าไปแจกสุรา ซึ่งพฤติกรรมการซื้อเสียงดังกล่าวเกิดขึ้นทุกอำเภอในจังหวัดแพร่

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ก็ทำงานเพียงลำพังโดยไม่มีองค์กรพัฒนาเอกชนที่ กกต.รับรองเข้ามาร่วมตรวจสอบ เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดแพร่ออกหนังสือเชิญให้ร่วมตรวจสอบอย่างกระชั้นชิด โดยออกหนังสือเชิญในวันที่ 8 เมษายน 2551 และให้ส่งโครงการพร้อมทั้งรายชื่ออาสาสมัครพร้อมหลักฐานการเข้าร่วมตรวจสอบในวันเดียวกัน

นางกรรณิการ์ ชมภูศรี เลขานุการคณะกรรมการเครือข่ายเลือกตั้งภาคพลเมือง จ.แพร่ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งระบุชัดให้มีการร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งโดยองค์กรเอกชน ที่กกต.รับรอง แต่การเลือกตั้ง ส.อบจ.แพร่ครั้งนี้ ไม่มีการประสานงานให้ร่วมตรวจสอบจนเลยวันรับสมัครไปแล้ว

ต่อมาในวันที่ 8 เมษายน 2551 กกต.จังหวัดแพร่มีหนังสือด่วนที่สุดที่ ลต (พร) 0704 / ว 724 ถึงผู้มีอำนาจทำการแทนองค์กรเอกชนตรวจสอบเลือกตั้งจังหวัดแพร่ ให้เสนอโครงการตรวจสอบเลือกตั้ง ส.อบจ.แพร่ โดยให้เสนอโครงการภายในวันที่ 8 เมษายน 2551 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแพร่ ซึ่งไม่ต้องคิดว่าจะส่งโครงการเลย แค่คิดจะเขียนโครงการหรือประสานงานอาสาสมัครในอำเภอก็ทำไม่ทันแล้ว ซึ่งการตรวจสอบแต่ละครั้งต้องมีอาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้งหน่วยละ 1 คน และคณะบริหารรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำงานไม่น้อยกว่า 1,000 คน เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเสนอโครงการหลังได้รับทราบเพียงวันเดียว

นางกรรณิการ์ กล่าวอีกว่า การส่งหนังสือเชิญร่วมตรวจสอบเลือกตั้งเป็นเพียงการทำให้เกิดความชอบธรรมในแง่มุมกฎหมายว่าได้เชิญองค์กรเอกชนแล้ว แต่องค์กรเอกชนไม่พร้อมจึงไม่ได้ร่วมตรวจสอบ การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญของประชาชน และไม่เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง

นอกจากนั้นยังพบว่ามีการตั้งงบประมาณในการตอบแทนอาสาสมัครน้อยจนไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น ค่าพาหนะให้เพียงหัวละ 50 บาท ซึ่งในต่างจังหวัดไม่สามารถนำรถยนต์ส่วนตัวเดินทางได้ และรถโดยสารประจำทางในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ยังไม่มี ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการตรวจสอบเลือกตั้งควรใช้อัตราเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส.หรือ ส.ว. แม้ว่ายังน้อยแต่ก็สามารถจัดสรรได้เพียงพอ

ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นแผนการที่ กกต.ไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบเลือกตั้งโดยองค์กรเอกชน ซึ่งคงต้องมีการเรียกร้องและประจานการทำงานอย่างนี้ผ่านสื่อได้เท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เกิดจาก กกต.จังหวัดแต่เกิดจาก กกต.ใหญ่อาจสั่งการมานั่นเอง นางกรรณิการ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น