xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาบุรีรัมย์หันทำปุ๋ยชีวภาพใช้เอง หลังปุ๋ยเคมีพุ่งแบกต้นทุนไม่ไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปุ๋ยเคมีราคาแพงเกษตรกรบุรีรัมย์เดือดร้อนหนัก ทนแบกรับต้นทุนไม่ไหว ต้องหันมารวมกลุ่มกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากเศษอาหารและมูลสัตว์ใช้เอง วันนี้ ( 7 เม.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- หลังปุ๋ยเคมีราคาพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกษตรกรบุรีรัมย์ ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงทำนาไม่คุ้มทุน ขณะที่ชาวนา ต.ศรีสว่าง เกือบทั้งตำบลได้หันมารวมกลุ่มกันทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากเศษอาหารและมูลสัตว์ใช้เองเพื่อลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งลดมลพิษ

วันนี้ (7 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดบุรีรัมย์ว่า หลังปุ๋ยเคมีซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการเพาะปลูกข้าวและพืชผลต่างๆ มีราคาพุ่งสูงขึ้นกระสอบละกว่า 1,000 บาท ทำให้เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาได้รับผลกระทบเดือดร้อนหนัก ต้องแบกรับภาระต้นทุนสูง ประกอบกับประสบปัญหาภัยแล้งทำนาได้ผลผลิตน้อยไม่คุ้มทุน มีหนี้สินจากการกู้ยืมเงินมาลงทุน

ส่งผลให้ขณะนี้ชาวนาใน ต.ศรีสว่าง อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ 9 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 10 หมู่บ้าน ได้หันมาร่วมกันจัดตั้งกลุ่มทำโรงเรือนหมักปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพใช้เองมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยจะใช้วัตถุดิบจากพืช และเศษอาหารที่เหลือทิ้งของแต่ละครัวเรือนมาหมักเป็นน้ำปุ๋ยชีวภาพทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน

จากนั้นนำน้ำปุ๋ยชีวภาพที่หมักเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไปผสมคลุกเคล้ากับมูลสัตว์ที่มีอยู่ในครัวเรือนของสมาชิกนำมารวมกันคนละ 45 ปี๊บ แล้วทิ้งไว้นานกว่า 1 เดือน ก่อนจะนำมาอัดเป็นเม็ดปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ แจกจ่ายให้แก่ชาวนาที่เป็นสมาชิกเพื่อนำไปหว่านใส่นาข้าวแทนการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง

ทั้งนี้ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว การใช้ปุ๋ยชีวภาพยังช่วยเพิ่มความสมดุลให้ธรรมชาติ ไม่มีสารตกค้าง ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในไร่นา ทำให้ดินร่วนซุย และมีผลผลิตดีขึ้น ทั้งยังลดช่วยมลพิษจากการใช้ปุ๋ยเคมีอีกด้วย

นางบุญโฮม ปาสำลี ผู้ใหญ่บ้าน ม.8 บ.สว่าง กล่าวว่า หลังชาวบ้านได้รวมตัวกันมาทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ โดยนำมูลสัตว์ พืช และเศษอาหาร มาหมักนำไปใส่นาข้าวแทนปุ๋ยเคมี ทำให้ชาวนาลดต้นทุนมีเงินเหลือจากการขายข้าว จากที่ผ่านมามีหนี้สินจากการกู้ยืมเงิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาลงทุน ส่วนสมาชิกชาวนาในหมู่บ้านสามารถที่จะเข้ามารวมกลุ่มเป็นสมาชิกเพิ่มได้ตลอดเวลา ซึ่งขณะนี้ บ.สว่าง มีชาวนาเข้ารวมกลุ่มจำนวน 37 ราย แล้ว

“ถึงแม้รัฐบาลจะกำหนดราคาข้าวของเกษตรกรให้ได้ถึงตันละ 30,000 บาท แต่เกษตรกรก็หมดโอกาสแล้ว เพราะข้าวทั้งหมดชาวนาได้ขายใช้หนี้สินไปเมื่อหลังเก็บเกี่ยวเพียงตันละ 10,000 บาท ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ตอนนี้จะเป็นพ่อค้าคนกลางหรือโรงสีมากกว่า” นางบุญโฮม กล่าว

ด้าน นายขวัญชัย เปไธสง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และ ประธานกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพบ้านสว่าง กล่าวว่า ผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกเพียงจ่ายเงิน 50 บาท เป็นค่าบำรุงกลุ่ม และ อีก 100 บาท เป็นเงินออมสัจจะ เพื่อให้สมาชิกกู้ยืมนำไปใช้จ่ายในยามขัดสน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาหลังก่อตั้งกลุ่ม ชาวนาในหมู่บ้านที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสามารถลดต้นทุนในการเพาะปลูกข้าว ได้มากกว่า 80% ทั้งยังเป็นการช่วยทำให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ ลดมลภาวะ สารพิษตกค้างในนาข้าว ปลา และสิ่งมีชีวิตกลับคืนมาอาศัยเป็นอาหารของชาวบ้านได้อีกด้วย

นายบุญช่วย ทิพย์โอสถ อายุ 60 ปี ชาวนาบ้านสว่าง กล่าวว่า ตนและครอบครัวมีอาชีพทำนามาโดยตลอดทั้งชีวิตไม่สามารถจะทำอาชีพอื่นได้ แต่เมื่อปีที่ผ่านมาตนต้องกู้ย้มเงิน ธ.ก.ส. และเงินสหกรณ์มาลงทุนทำนา แต่ประสบปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับใช้ปุ๋ยเคมี 2 ตัน ในการทำนากว่า 40 ไร่ ผลผลิตน้อยทำให้ขาดทุนเป็นหนี้ ธ.ก.ส. ถึง 120,000 บาท จึงได้หันมาเข้ากลุ่มทำปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งหวังว่าจะลดต้นทุนการผลิต หากฝนดีไม่มีอุปสรรคคาดว่าปีนี้จะสามารถใช้เงินคืน ธ.ก.ส.ได้

“อย่างไรก็ตามขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาควบคุมราคาปุ๋ยให้ถูกลง เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มราคาผลผลิตให้กับเกษตรกรให้สามารถอยู่รอดได้ ก่อนที่จะไม่มีเกษตรกรทำนาอีกต่อไป” นายบุญช่วย กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น