หนองคาย-พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจังหวัดหนองคายคืบหน้าเกินครึ่ง ผู้ว่าฯเชื่อเป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค พร้อมผลักดันให้เป็นศูนย์เรียนรู้วิจัยสัตว์น้ำและกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัด ด้านผู้อำนวยการโครงการเปรียบผลงานกับพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในเมืองไทย หนองคายไม่แพ้ที่อื่น ชูจุดขายทันสมัย ผสานเมืองพญานาค มั่นใจคนกลับมาเที่ยวซ้ำไม่เบื่อ
นายเจด็จ มุสิกวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวภายหลังตรวจติดตามการดำเนินการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจังหวัดหนองคาย ที่บริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ต.หนองกอมเกาะ อ.เมืองหนองคาย ว่า พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจังหวัดหนองคายแห่งนี้จะเป็นสถานที่อนุรักษ์ และจัดแสดงพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง ตลอดจนเป็นสถานที่ศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ของคณะประมง มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย
อีกทั้งเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป และเป็นการเสริมภาพลักษณ์ของจังหวัดหนองคายที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 7 ของโลก และเมืองน่าอยู่อันดับ 1 ของภาคอีสาน
โครงการได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ งานก่อสร้างบ่ออนุบาลปลาภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย มีอาคารบ่ออนุบาลพันธุ์ปลา 1 หลัง และบ่อเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา 3 บ่อ เพื่อรองรับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ใช้งบประมาณ 8,067,000 บาทซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จเรียบร้อย
งานก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น 4,840 ตารางเมตรและถัง Giant tank ขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 26เมตร สูง 7 เมตร พร้อมลานจอดรถยนต์ 100 คัน ซึ่งมีสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.หนองคาย และบริษัท พี.คอนสตรั๊คชั่นแอนด์แมทรีเรียล จำกัด เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เริ่มต้นสัญญา 24 สิงหาคม 2549 สิ้นสุดสัญญา 12 มีนาคม 2551 ระยะเวลาก่อสร้าง 720 วัน ราคาค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 179,390,000 บาท
ขณะนี้การก่อสร้างดำเนินไปแล้วร้อยละ 60 แต่ยังติดขัดในด้านงบประมาณในการจัดภูมิทัศน์โดยรอบ ซึ่งจังหวัดจะประสานของบประมาณจากรัฐบาลดำเนินการให้แล้วเสร็จ ซึ่งพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งนี้ นับว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ และมีความโดดเด่นที่สามารถดึงดูดประชาชน และนักท่องเที่ยวให้เข้ามาชม ซึ่งจะเป็นการผสมผสานระหว่างความทันสมัยและความโบราณในการจัดการทุกส่วนในอาคารพิพิธภัณฑ์ คาดว่าเมื่อก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้ได้ จะผลักดันให้จังหวัดหนองคายมีผู้เข้ามาเที่ยวและชมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งนี้จำนวนมาก
ด้านนายวีระวัฒน์ สุวรรณาภิรมย์ ผู้อำนวยการโครงการพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ บริษัทเลเซอร์เวิร์ลโปรดัคแอนด์กราฟท์ กล่าวว่า การออกแบบและจุดประสงค์ของโครงการนี้สิ่งที่ต้องการคือความทันสมัย บวกกับความเป็นเอกลักษณ์ของหนองคาย ซึ่งคอนเซ็ปต์ที่ทราบกันดีของประชาชนทั่วไป คือ เมืองพญานาค ผสานกับเมืองโบราณ และเมืองน่าอยู่ การออกแบบตัวอาคารให้ดูทันสมัย เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง จึงลงตัวที่การทำให้ภายนอกอาคารเป็นแบบรูปคลื่น
ส่วนภายในมีแนวคิดว่าทำอย่างไรเมื่อทำออกมาแล้วจะไม่เป็นอาคารร้าง คนไม่สนใจ การออกแบบจึงต้องดึงจุดขายให้สามารถขายคนไทยและคนทั่วโลกได้ ให้เห็นว่าอาคารพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำนี้ทุกคนจะต้องเดินทางมา และมีความแปลก โดดเด่นในระดับโลก กล่าวคือจุดดึงดูดแรกคือ Giant tank หรือ บ่อใหญ่ โดยเล็งเห็นว่าพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยหลายแห่งที่มีอุโมงค์ส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะการเดินตรง ยังไม่มีแบบเดินลง
ดังนั้น จึงคิดว่าถ้าเราทำตรงนี้ขึ้นมาแล้วนำเสนอไปทั่วโลกว่าเรามีบ่อใหญ่ แล้วเดินลงจากชั้น 2 มายังชั้น 1 ด้วยความลึก 7.50 เมตร จึงกลายเป็นรูปแบบที่ทางบริษัทได้ออกแบบและเริ่มลงมือทำ
ส่วนการนำเสนอในจังหวัดจะชูจุดขายว่า ให้เดินเข้าพิพิธภัณฑ์ทางชั้น 2 เพื่อสื่อให้เห็นว่าชั้น 2 คือ พื้นที่ จ.หนองคาย สื่อความเป็นเมืองโบราณ ในภาพลักษณ์ของจังหวัดบวกกับตู้ปลาที่ทันสมัยสอดคล้องกับเมืองโบราณที่ออกแบบไว้ จากนั้นเดินลง Giant tank อุปมานว่าเดินลงในแม่น้ำโขง จุดเด่นแม่น้ำโขงที่หนองคายคือมีพระธาตุกลางน้ำที่องค์พระธาตุจมลงในแม่น้ำโขง ซึ่งมีการจำลองว่าใน Giant tank จะต้องมีพระธาตุกลางน้ำอยู่ด้วย เพื่อย้ำว่าที่นี่คือหนองคาย และพันธุ์ปลาที่นำมาใช้ต้องเป็นพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงเป็นหลัก
นอกจากนั้นทุกปีหนองคายมีบั้งไฟพญานาค จึงมีการจำลองว่าหลังจากเดินลงในแม่น้ำโขง จะพบเมืองบาดาลหรือเมืองพญานาค ซึ่งเป็นจุดที่ค่อนข้างยากที่จะสื่อให้เห็นว่าที่นี่คือเมืองบาดาล เมืองจำลองของพญานาค สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องทำให้เห็นว่าทั้งหมดคือจังหวัดหนองคาย เรียกได้ว่าในอีสานตอนบน พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหนองคายจะโดดเด่นและใหญ่ที่สุด
นายวีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นที่หนองคายคือคนมาเที่ยวแต่ไม่ยอมพักค้างคืน แต่กลับไปพักที่ จ.อุดรธานี แล้วค่อยเดินทางไปเที่ยวลาว ซึ่งเป็นโจทย์ที่สำคัญว่าทำอย่างไรจะดึงนักท่องเที่ยวให้อยู่หนองคาย พักที่หนองคายนาน ๆ และทำให้คนกลับมาเที่ยวอีกครั้งหรือหลายครั้ง จึงได้วางแผนไว้ว่าจะใช้จุดการแสดงเป็นหลัก ต้องมีจุดที่น่าสนใจและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าคนเดินเข้ามาดูแล้วเจอแบบเดิม จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนรูปแบบไปเรื่อย ๆ เพื่อทำให้อาคารหลังนี้เป็นที่กล่าวขานและคนกลับมาเที่ยวซ้ำอีก
ทั้งนี้ หากจะเปรียบเทียบพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่คนไทยรู้จัก เช่น อันเดอร์วอเตอร์ พัทยา, โอเชี่ยน เวิร์ล, บึงฉวาง จ.สุพรรณบุรี หรือ ที่พารากอน อาจจะกล่าวได้ว่าหากไปชมอันเดอร์วอเตอร์พัทยา ที่นั่นอุโมงค์ค่อนข้างยาว 102-103 เมตร เล็ก และซิกแซก เมื่อเดินออกมาแล้วจะรู้สึกว่าปวดหัว หรือที่บึงฉวางเฟสแรก มีอุโมงค์ 8 เมตร เน้นตัวอาคารและลานแสดงจระเข้ มีแลนสเคปที่สวยงามและใหญ่โตแต่ตัวอาคารที่แสดงยังไม่โดดเด่นมากนัก เข้าไปแล้วไม่เห็นอะไรมาก
เมื่อเทียบกับพารากอนที่ลงทุน 1,300 ล้านบาท มีจุดเด่นคือการตกแต่ง touch pool ที่สวยงามโดดเด่นมาก และมีจอใหญ่มีความลึกของน้ำ 8-9 เมตร แต่ความลึกของน้ำไม่ใหญ่ เน้นโชว์หน้าจอเป็นหลัก จะให้คนยืนดูได้ทั้งชั้น 1 และชั้น 2 นับว่าเป็นจุดขายที่เด่นของพารากอน ส่วนที่หนองคายจอขนาด 4-5 เมตร แต่ลึกกว่าและใหญ่กว่าพารากอน การแสดงจะโดดเด่นและสร้างสีสันได้มากกว่า ตัวอุโมงค์ทุกที่จะเดินตรง
ขณะที่ของหนองคายจะเป็นลักษณะเดินจากชั้น 2 ลงชั้น 1 เชื่อว่าจะเกิดการเปรียบเทียบของคนดู อย่างไรก็ตามที่หนองคายยังต้องปรับปรุงแลนเสคป ที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์หากปรับปรุงแล้วเชื่อว่าพิพิธภัณฑ์หนองคายจะโดดเด่นกว่าทุกแห่งที่มีในเมืองไทย