ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชแหล่งผลิตไก่เนื้อแห่งใหญ่ของประเทศต้องลุ้นระทึกอีกรอบ พบเป็ดชาวบ้าน อ.ครบุรี ตายไม่ทราบสาเหตุ 124 ตัว จากทั้งหมด 500 ตัว ปศุสัตว์จังหวัดเร่งเข้าฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในรัศมี 5 กม.หวั่นหวัดนกระบาดพร้อมทำลายฝังเป็ดที่เหลือ และเก็บตัวอย่างส่งตรวจห้องแล็บ เผยผลตรวจไก่พื้นที่ใน อ.โนนไทย เป็นลบ พร้อมเตรียมเปิดโครงการรณรงค์ค้นหาโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกแบบบูรณาการ ครั้งใหญ่ แบบเอกซเรย์เชิงรุกทุกหมู่บ้านทั้งจังหวัด 12 ก.พ.นี้
วันนี้ (7 ก.พ.) ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ด้านข้างศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นส.พ.สมบุญ หลิมวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ว่า ล่าสุด จนถึงขณะนี้ยังไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกเกิดขึ้นใน จ.นครราชสีมา แต่มีรายงานสัตว์ปีกป่วยตายอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ป่วยเป็นอหิวาตกโรค ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวอย่างมูลสัตว์ปีกที่ป่วยตายเข้าไปตรวจยังห้องปฏิบัติการทั้งหมดแล้วและผลตรวจออกมาล้วนเป็นลบ ไม่พบเชื้อไข้หวัดนกแต่อย่างใด รวมถึงไก่พื้นเมืองที่ป่วยตายในพื้นที่ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ด้วย
นส.พ.สมบุญ กล่าวต่อว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา พบเป็ดเลี้ยงของชาวบ้าน ในพื้นที่หมู่ 12 ต.ครบุรีใต้ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุจำนวน 124 ตัวจากทั้งหมด 500 ตัว ส่วนใหญ่มีอาการท้องเสีย และมีอาการทางระบบประสาทจากนั้นได้ตายอย่างกะทันหัน
หลังเจ้าหน้าที่เข้าไปสอบสวนผู้เลี้ยงเบื้องต้นทราบว่า ก่อนที่เป็ดจำนวนดังกล่าวจะตายได้เข้าไปกินผักของชาวบ้านที่ปลูกไว้ในบริเวณใกล้เคียง จากนั้นเป็ดจึงมีอาการท้องเสียและตายในที่สุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้เก็บตัวอย่างมูลเป็ดไปตรวจยังห้องปฏิบัติการแล้ว และเข้าทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในรัศมี 5 กิโลเมตร (กม.) เพื่อป้องกันโรค
จากนั้นได้สั่งกักเป็ดทั้งหมดไว้ และสั่งห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายเด็ดขาด ล่าสุดได้รับแจ้งจากเจ้าของเป็ด ว่า ไม่มีค่าใช้จ่ายที่จะซื้ออาหารให้เป็ด จึงได้มอบให้ทางปศุสัตว์ดำเนินการ และเจ้าหน้าที่ได้ทำลายทิ้งและฝังเป็ดที่เหลือไปแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ
นส.พ.สมบุญ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่พบการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนกใน จ.นครราชสีมา แต่ทางปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมาได้เพิ่มมาตรการคุมเข้ม ทั้งการตั้งจุดตรวจ และ การเฝ้าระวังโรค ด้วยการสร้างเครือข่ายปศุสัตว์ให้เกิดขึ้นทั้ง 32 อำเภอของ จ.นครราชสีมา และทำการเอกซเรย์ค้นหาไข้หวัดนกในพื้นที่ อย่างต่อเนื่อง
รวมถึงการตรวจสัตว์ปีกที่ขนย้ายเข้ามาเลี้ยงใหม่ในฟาร์มต่างๆ ที่ต้องเข้มงวดมากเป็นพิเศษ เพราะการระบาดของโรคไข้หวัดนก ที่ จ.พิษณุโลกครั้งนี้ เกิดจากฟาร์มระบบปิดซึ่งอาจมีข้อบกพร่องในระหว่างการนำสัตว์ปีกเข้ามาเลี้ยงใหม่ทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าไประบาดในฟาร์มได้ ฉะนั้นเรื่องความสะอาดของฟาร์มและการพักเล้าให้ครบ 21 วัน จึงเป็นสิ่งที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ
โดยตลอดเดือน ก.พ.นี้ ปศุสัตว์จังหวัดร่วมกับจ.นครราชสีมาได้จัด “โครงการรณรงค์ค้นหาโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกแบบบูรณาการ” ครั้งใหญ่ โดยทำการเอกซเรย์ทุกพื้นที่ ด้วยการค้นหาโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกเชิงรุกทุกหมู่บ้าน ซึ่งให้เครือข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกออกสอบถามลักษณะอาการสัตว์ปีกจากเจ้าของในระยะ 21 วัน หากพบความผิดปกติและเป็นไปตามนิยามของโรคไข้หวัดนกเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จะได้ดำเนินการควบคุมโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะดำเนินการเฝ้าระวังโรคในคนต่อไป ซึ่งจะทำการเปิดโครงการรณรงค์ครั้งใหญ่นี้ ที่วัดโคกพรม อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ใน 12 ก.พ.นี้
“การระดมเอกซเรย์ค้นหาโรคไข้หวัดนกครั้งใหญ่ดังกล่าว จะเน้นไปที่อำเภอที่เคยพบการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในรอบ 1 และ รอบ 2 ที่ผ่านมา ซึ่ง มี 9 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เฉลิมพระเกียรติ, โนนไทย, สูงเนิน, ห้วยแถลง, โนนสูง ,พิมาย ,ครบุรี ,เมือง และ อ.ประทาย” นส.พ.สมบุญ กล่าว
นส.พ.สมบุญ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกทุกชนิดให้ติดต่อสอบถามวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและกฎหมาย ก่อนการเคลื่อนย้ายทุกครั้งที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอทุกแห่ง และขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกรายย่อยให้ทำเล้าหรือคอกเลี้ยงสัตว์ปีกแยกออกจากตัวบ้านที่พักอาศัยเพื่อป้องกันการติดโรคจากสัตว์ปีกสู่คน
ในช่วงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ตั้งด่านตรวจสกัดผู้ที่ลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้ามายังพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งพบมีเคลื่อนย้ายเป็ดไร่ทุ่งเข้ามาในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ได้ทำการตักเตือนและผลักดันให้ออกนอกพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นผู้เลี้ยงในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งถูกกดดันก็จะไล่เป็ดข้ามเข้ามาในเขต จ.นครราชสีมา เจ้าหน้าที่ได้ผลักดันออกไปจำนวน 2 ราย
ทั้งนี้ จ.นครราชสีมา ถือเป็นแหล่งผลิตไก่เนื้อเพื่ออุตสาหกรรม รวมทั้งไก่ไข่ และไก่พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจาก จ.ชลบุรี โดยเฉพาะไก่เนื้อมีการเลี้ยงรอบละกว่า 10 ล้านตัว หรือประมาณปีละกว่า 60 ล้านตัว จากกว่า 400 ฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ส่งป้อนโรงงานชำแหละและแปรรูปส่งออกขายต่างประเทศสร้างรายได้มากกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี และยังมีไก่พื้นเมืองอีกกว่า 2 ล้านตัว
“หากเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกขึ้นในพื้นที่นครราชสีมาจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลทั้งในระดับประเทศและตลาดส่งออกในต่างประเทศ ซึ่งขอยืนยันว่าล่าสุดจนถึงขณะนี้ยังไม่การระบาดของโรคไข้หวัดนกในพื้นที่แต่อย่างใด” นส.พ. สมบุญ กล่าว