xs
xsm
sm
md
lg

โครงการ“อยู่ดีมีสุข”เมืองชาละวันฉาวส่อทุจริตทุกพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร – ชาวบ้านเมืองชาละวันแห่ร้องศูนย์ดำรงธรรมรายวัน หลังโครงการอยู่ดีมีสุขส่อพิรุธ ล่าสุดชาวอำเภอบางมูลนาก บุกประท้วงหน้าศาลากลาง ส่วนวังทรายพูนก็ทำโครงการสวยหรู ซื้อปุ๋ยชีวภาพ สุดท้ายได้ปุ๋ยเคมีมาให้ชาวบ้าน แต่เจ้าหน้าที่บนที่ว่าการอำเภอได้เปอร์เซ็นต์ ส่วน “ทับคล้อ” ซื้อวงปูนเลี้ยงปลาแพงเกินจริง ขณะที่สามง่าม เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ ก็เล่นเอง จนถูกตั้งกรรมการสอบต้องวิ่งล้มคดีวุ่น

รายงานข่าวจากจังหวัดพิจิตร แจ้งว่า นายนิยม ใหญ่เย็น แกนนำชาวบ้านจากบ้านวังน้ำเต้า ม.10 ต.บางไผ่ อ.บางมูลนาก พร้อมชาวบ้านเกือบ 100 คนได้มาชุมนุมกันที่ศาลากลางจังหวัดพิจิตร เมื่อ 18 ม.ค.51 ที่ผ่านมา เพื่อกล่าวโทษร้องทุกข์ถึงการกระทำที่ไม่สุจริตของโครงการอยู่ดีมีสุข ซึ่งต้นเหตุเกิดผู้ใหญ่บ้านและผู้นำชุมชน จัดทำโครงการใช้เงิน 2 แสน 5 หมื่นบาท เอาไปจัดซื้อปุ๋ยชีวภาพที่ไม่มีคุณภาพมาแจกชาวบ้านหลังคาละ 1 ถุง น้ำหนัก 50 กก.และแจกเงินสดอีก 500 บาท

ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่อยากได้ปุ๋ย อยากเอาเงินไปใช้ทำโครงการอื่นที่มีประโยชน์มากกว่านี้ แต่ผู้ใหญ่บ้านกลับไม่ทำประชาคม เอาเงินบางส่วนไปซื้อปุ๋ย เพื่อหวังเปอร์เซ็นต์ในการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ ขอให้ ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ตั้งกรรมการสอบสวน หลังจากที่เคยไปร้องเรียนที่อำเภอบางมูลนากมาแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า

กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมเจรจากับใคร โดยอ้างว่าจะขอพบ ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรเท่านั้น โดยยอมรอตั้งแต่เช้ามาจนถึงเย็น กระทั่งได้พบผู้ว่าฯ ที่รับปากจะตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและถ้าพบว่ามีความผิด ก็จะฟันไม่เลี้ยง ซึ่งชาวบ้านต่างพอใจ สลายตัวกลับไปในตอนเย็นวันเดียวกัน

ประเด็นปัญหาการใช้งบประมาณตามโครงการอยู่ดีมีสุขของจังหวัดพิจิตรนั้น เกิดขึ้นหลายท้องที่ ก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนที่ อ.ทับคล้อ ซึ่งทางอำเภอได้ตรวจสอบราคาการจัดซื้อจัดจ้างโครงการเลี้ยงปลา หมู่ที่ 2 บ้านวัดป่าเรไร ต.ทับคล้อ พบว่า มีการตั้งราคาซื้อสูงกว่าความเป็นจริง และมีการล่ารายชื่อของชาวบ้านเพื่อทำโครงการซ้ำซ้อน จึงได้ระงับเงินการเบิกจ่ายงบประมาณเนื่องจากมีการส่อทุจริต

เช่นเดียวกับที่ อ.วังทรายพูน ที่จัดทำโครงการซื้อปุ๋ยชีวภาพ แต่กลับนำงบประมาณไปจัดซื้อปุ๋ยเคมีแทนหรือบางหมู่บ้านไม่มีการจัดซื้อปุ๋ยตามวัตถุประสงค์ของโครงการแต่อย่างใด นอกจากนี้บางหมู่บ้านกรรมการก็ซื้อสิ่งของหรือสัตว์เลี้ยง แจกแต่ในกลุ่มพรรคพวกของผู้นำชุมชนเท่านั้น จึงทำให้เกิดการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของ อ.สามง่าม นายเดชา ภู่ละออ เกษตรจังหวัดพิจิตร เคยตั้งกรรมการสอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอสามง่ามและพวกที่ร่วมกันทุจริตโครงการ 1 ตำบล 1 ฟาร์มและโครงการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนปี 2549 ของหมู่ที่ 5 บ้านบึงเฒ่า ต.หนองโสน อ.สามง่าม โดยมีพฤติกรรมจัดซื้อพันธุ์ปลาให้เกษตรกร 1 หมื่น 5 พันตัว ราคาตัวละ 1.50 บาท แต่มีการทุจริตออกบิลเงินสดราคาตัวละ 3 บาท แล้วขอปลาเป็นจำนวน 2 เท่า ส่วนหนึ่งให้เกษตรกร ที่เหลือเอาไปเป็นสมบัติส่วนตัว มีการตั้งกรรมการลงพื้นที่สืบจนได้ความจริง ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างพิจารณาลงโทษของคณะกรรมการระดับจังหวัดยังไม่ทราบผล แต่นายเดชา ก็ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดอุตรดิตถ์ก่อน

และเมื่อมีหัวหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตรคนใหม่มา ผู้กระทำผิดก็มีความพยายามวิ่งเต้น แก้ไขสำนวนการสอบสวนเดิม หรือขอให้สอบสวนใหม่ให้พ้นมลทิน แต่นายเดชา เกษตรจังหวัดพิจิตรคนเก่า ยืนยันว่าได้มีการเก็บสำเนาไว้และยืนยันถ้ามีการล้มคดีจะร้องต่อสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อไม่ให้ขบวนการฉ้อโกงประชาชนและรัฐบาลลอยนวล

สำหรับโครงการอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ดำเนินการคล้ายกับโครงการ SML ของรัฐบาลชุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนแต่ละหมู่บ้าน สามารถแก้ไขปัญหาที่มีในหมู่บ้าน โดยให้จัดทำโครงการ กิจกรรมที่ผ่านเวทีประชาคมของแต่ละหมู่บ้าน เสนอให้อำเภออนุมัติ หลังจากที่ได้ดำเนินโครงการในพิจิตรได้ระยะหนึ่ง มีกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นร้องเรียนถึงการทุจริตของคณะกรรมการโครงการอยู่ดีมีสุขเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรรมการที่ถูกร้องเรียนจะเป็นผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชนส่วนใหญ่

เนื่องจากการจัดทำโครงการภายใต้กรอบอยู่ดีมีสุข หลายหมู่บ้านไม่ได้เกิดจากความต้องการของประชาชน แต่ผู้นำชุมชนจัดทำโครงการโดยไม่ผ่านเวทีประชาคมและไม่ได้ดำเนินการตามโครงการจริงๆ อีกทั้งอำเภอก็ไม่มีกระบวนติดตามตรวจสอบ ประเมินผลหลังอนุมัติงบประมาณ จึงทำให้เกิดการทุจริตในโครงการอยู่ดีมีสุขเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ก็ไม่ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีความคิดว่า งบประมาณที่ลงมาให้เป็นงบประมาณจ่ายขาด ไม่เอาคืน จึงจะให้มีการนำงบมาซื้อของแจกหรือแจกเป็นเงินสด โดยเอางบประมาณตั้งคูณด้วยจำนวนหลังคาเรือนที่มีอยู่ในหมู่บ้านนั้น พร้อมกันนี้งบอยู่ดีมีสุขยังเป็นเครื่องมือหาเสียงการเมืองของสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล(ส.อบต.)หรือกำนันผู้ใหญ่บ้านที่เป็นกรรมการโครงการ ใช้ในการหาเสียง โดยใช้วิธีแจกจ่ายสิ่งของ สัตว์เลี้ยง ที่ชาวบ้านหรือกลุ่มหัวคะแนนของตนเองต้องการด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น