พิจิตร – จังหวัดพิจิตรพร้อมข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และลูกเสือชาวบ้านเมืองชาละวัน ร่วมจัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะ “วันยุทธหัตถี”
วันนี้ (18 ม.ค.) ที่ศาลาประชาคมจังหวัดพิจิตร ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เป็นประธานวางพุ่มเครื่องราชสักการะ จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยพร้อมด้วยข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนและกลุ่มพลังลูกเสือชาวบ้านกว่า 300 คน เนื่องใน “วันยุทธหัตถี” อันเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำยุทธหัตถีได้รับชัยชนะจากพระมหาอุปราชา ณ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพระวีรกรรมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย
จนถือเป็นภาพลักษณ์ที่พระองค์ทรงแสดงความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เป็นจอมทัพไทยสู้รบกับพม่า เพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติไทยให้ชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงความเสียสละของพระมหากษัตริย์ของไทยแต่ในอดีตจนถึงทุกวันนี้เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้คนไทยรุ่นหลัง
สำหรับสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติไทย พระองค์ได้กู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทยอย่างกว้างใหญ่ไพศาล นับตั้งแต่ประเทศพม่าตอนใต้ทั้งหมดคือ จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออก ทางด้านทิศใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู ทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด และยังรวมไปถึงรัฐไทยใหญ่บางรัฐ พระองค์ได้ทำสงครามเข้าไปในประเทศที่เป็นข้าศึกของไทยในทุกทิศทาง จนประเทศไทยอยู่เป็นปกติสุขปราศจากศึกสงครามเป็นระยะเวลายาวนาน
พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ของพระองค์เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและคนไทยทั้งมวล ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์จะอยู่ในสนามรบและชนบทโดยตลอดมิได้ว่างเว้น แม้แต่เมื่อเสด็จสวรรคต ก็เสด็จสวรรคตในระหว่างเดินทัพไปปราบศัตรูของชาติไทย สมควรที่ชาวไทยรุ่นหลังต่อมาได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และจดจำวีรกรรมของพระองค์ เทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ ไปตราบชั่วกาลนาน
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พุทธศักราช2098 พระองค์เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชา และพระวิสุทธิกษัตรี ราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ดังนั้น พระองค์จึงมีพระชาติทั้งราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัยทางพระราชบิดา และราชวงศ์อยุธยาทางพระราชมารดา ทรงมีพระพี่นางพระนามว่า พระสุวรรณเทวี หรือพระสุพรรณกัลยา และพระน้องยาเธอพระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ
เมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ 9 ปี พระเจ้าหงสาวดีได้ขอไปเป็นพระราชบุตรบุญธรรม พระองค์ได้ประทับอยู่ที่หงสาวดีถึง 6 ปี เมื่อพระชันษาได้ 15 ปี จึงได้เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา เพื่อช่วยราชการพระบิดาโดยได้เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก
ขณะทรงพระเยาว์ และในระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงหงสาวดี ก็ได้ทรงศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ และวิชาพิชัยสงคราม ทรงนิยมในวิชาการรบทัพจับศึก พระองค์ทรงมีโอกาสศึกษาทั้งภายในราชสำนักไทย และราชสำนักพม่า มอญ และได้ทราบยุทธวิธีของชาติต่างๆ ที่มารวมกันอยู่ในกรุงหงสาวดีเป็นอย่างดี ทรงนำหลักวิชามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมได้เป็นเลิศ ดังเห็นได้จากการสงครามทุกครั้งของพระองค์ ยุทธวิธีที่ทรงใช้ เช่น การใช้คนจำนวนน้อยเอาชนะคนจำนวนมาก และยุทธวิธีเดินเส้นในพระองค์ทรงนำมาใช้ก่อนจอมทัพที่เลื่องชื่อในยุโรป
นอกจากนั้น หลักการสงครามที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เช่น การดำรงความมุ่งหมาย หลักการรุก การออมกำลัง และการรวมกำลัง การดำเนินกลยุทธ เอกภาพในการบังคับบัญชา การระวังป้องกัน การจู่โจม หลักความง่าย ฯลฯ พระองค์ก็ทรงนำมาใช้อย่างเชี่ยวชาญ และประสบผลสำเร็จอย่างงดงามมาโดยตลอด