กว่าจะมาเป็น พอช. ต้องใช้เวลาเพาะบ่มนานกว่า 6 ปี 4 รัฐบาล นับตั้งแต่ความพยายามที่มีการตั้งสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.) เป็นกองทุนพัฒนาชุมชนเมืองภายใต้การเคหะแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2535 มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างองค์กรชุมชน หน่วยงานพัฒนาทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้ พชม. เป็นองค์กรรัฐแนวใหม่ เพื่อการพัฒนาทั้งชุมชนเมืองและชนบท เรียกได้ว่า พอช. เพื่อการทำงานอย่างมีส่วนร่วม เป็นองค์กรของภาคประชาชนและภาคประชาสังคม
พอช. เป็นองค์การมหาชนที่มีบทบาทหน้าที่สนับสนุนการพัฒนา โดยมีแนวทางสำคัญให้องค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก และเป็นเจ้าของการพัฒนาจากชุมชนฐานราก ร่วมกับหน่วยงานภาคีต่างๆ และมีกองทุนเพื่อสนับสนุนเงินยืมเพื่อการพัฒนาของชุมชนรวมประมาณ 2,800 ล้านบาท
บทบาทหน้าที่ของพอช. มีหน้าที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชน ตลอดจนประสานสนับสนุนการช่วยเหลือทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างความร่วมมือขององค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับประเทศ
วิวัฒนาการทำงานร่วมกับขบวนชุมชนใน 7 ปี ซึ่ง 7 ปีที่ผ่านมา ถือว่า พอช. มีการปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหว ตื่นตัว เรียนรู้ พัฒนาปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เท่าทันต่อการทำงาน เชื่อมโยงการพัฒนาของขบวนองค์กรชุมชนทั้งในพื้นที่และในเชิงประเด็น เนื่องจากกระบวนการพัฒนาต่างๆ ของชุมชนมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
และ พอช. เองก็ต้องเป็นองค์กรที่ช่วยสร้างโอกาส ให้องค์กรชุมชนสามารถเคลื่อนตัวสู่การพัฒนาของชุมชนได้ ที่สำคัญสามารถทำให้การพัฒนาของชุมชนยกระดับอย่างเป็นระบบ สามารถเปลี่ยนโครงสร้างให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
พัฒนาการ 3 ช่วง ของพอช.
ช่วงที่ 1 เชื่อมร้อยเครือข่ายชุมชนในพื้นที่และเครือข่ายเชิงประเด็น (2543-2545) เป็นช่วงต้นของการสร้างโครงข่ายการทำงานร่วมกับขบวนชุมชนทั้งในพื้นที่จังหวัดและเชิงประเด็น และให้โครงข่ายของชุมชนมีบทบาทสำคัญในการร่วมเสนอ ร่วมคิด ร่วมจัดการการพัฒนา
โดยให้เครือข่ายชุมชนเป็นผู้เสนอแผนและกิจกรรมการพัฒนาของตนเองและให้เกิดการเรียนรู้ ร่วมตัดสินใจ ร่วมตรวจสอบและร่วมรับผลที่เกิดขึ้น จนทำให้เกิดขบวนการขององค์กรชุมชนจังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัด และเกิดเครือข่ายชุมชนในประเด็นต่างๆ ทั่วประเทศ
ช่วงที่ 2 การพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาของชุมชน (2546-2547) ในช่วงต้นปี 2546 ได้มีการจัดมหกรรม “วิถีพลังไทย สู่ชุมชนพึ่งตนเอง” ซึ่งเป็นการจัดมหกรรมที่องค์กรชุมชนเป็นเครือข่ายทั่วทั้งประเทศ มาร่วมสัมมนาเกี่ยวกับทิศทาง การขับเคลื่อนขบวนชุมชน ซึ่งมี 12 ประเด็นงานพัฒนา โดยเน้นระดับพื้นที่ ถึงระดับชาติ อันนำมาสู่การสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาของชุมชนที่มีความสำคัญยิ่งคือ “การฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น” โดยชุมชนท้องถิ่น ต้องรู้จักตนเอง รู้จักกัน
โดยมีประเด็นยุทธศาสตร์งานที่สำคัญคือ แผนชุมชน ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม บ้านมั่นคง สวัสดิการ องค์กรการเงิน ในช่วงปลายปี 2546-2547 พอช. ก็ได้เริ่มโครงการการแก้ปัญหาชุมชมเมืองทั่วประเทศที่สำคัญยิ่งคือ “โครงการบ้านมั่นคง” ซึ่งถือเป็นโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐที่มุ่งแก้ปัญหาชุมชนแออัดใน 200 เมืองทั่วประเทศ
ช่วงที่ 3 เน้นขบวนงานพื้นที่ การพัฒนานโยบายและกลไกท้องถิ่น (2548-2550) เป็นช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างบูรณาการทั้งในเมืองและชนบท ภาคประชาชนได้มีการเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาของภาคประชาชนทั้ง 6 ประเด็นดังกล่าว และเกิดการพัฒนากลไกการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค
พร้อมกันนั้น ได้มีการตั้ง ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภาคประชาชน (ศจพ.ปชช.) หรือ ศจพ. ภาคประชาชน เป็นกลไกเชื่อมโยงการทำงานของชุมชนในระดับจังหวัด งานเชิงประเด็นหลายโครงการได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล โดยมุ่งการทำงานระดับตำบลและจังหวัดเป็นปัจจัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ได้เกิดภัยพิบัติขึ้นทั่วประเทศ องค์กรชุมชนยังได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการแก้ไข และกำหนดมาตรการป้องกันภัยพิบัติโดยชาวชุมชนเอง โดยมีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทั่วประเทศ 39 จังหวัด 875 ตำบล 16 เขต 4,913 หมู่บ้าน 174,424 ครัวเรือน ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย 99 หมู่บ้าน เกิดแผนงานและกลไก 8 องค์กร ร่วมป้องกันและแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ การแก้ปัญหาน้ำท่วม พัฒนาอาชีพทั้งรายบุคคลและกลุ่ม 875 ตำบล
ผลการดำเนินการพัฒนาภาคประชาชน
การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน ที่เริ่มจากการสร้างความร่วมมือ เรียนรู้สู่การเชื่อมโยง โดยให้องค์กรชุมชนมีบทบาทสำคัญในการคิด ตัดสินใจ การดำเนินการในเรื่องของตนเอง จนกระทั่งได้พัฒนาไปสู่ยุทธศาสตร์ “การฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น” โดยอาศัยประเด็นงานพัฒนาที่สำคัญ 6 ประเด็น เป็นตัวขับเคลื่อนงาน ดังนี้
โครงการบ้านมั่นคง เป็นนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัยของคนจนในเมือง ที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ 30 ปี ต้องอาศัยอยู่บนที่ดินเช่าและบุกรุก ทั้งของรัฐ เอกชน และอื่นๆ โดยทำให้ชุมชนมีความมั่นคงในที่ดิน ทั้งการซื้อหรือเช่าที่ดินในระยะยาว เพื่อพัฒนาไปสู่การสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย
ผลที่ได้รับทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมั่นใจว่า โครงการบ้านมั่นคงเป็นหนทางใหม่ที่จะแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดให้หมดไป จึงได้อนุมัติโครงการต่อเนื่องถึงปี 2554 รวม 200,218 หน่วย ครอบคลุมการดำเนินงานทั่วประเทศ พร้อมอนุมัติงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาความมั่นคงของชุมชนทั้งด้านที่อยู่อาศัยและสังคม
โครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของคนจนในชนบท เป็นการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยนำหลักการของบ้านมั่นคงเมืองไปประยุกต์ใช้ โดยมีพื้นที่นำร่องโครงการบ้านมั่นคงชนบทจำนวน 13 พื้นที่ 1,432 ครัวเรือน แก้ปัญหาที่ดิน 415 ตำบล 244 อำเภอ 68 จังหวัด
การพัฒนาสวัสดิการชุมชน จากความคาดหวังขององค์กรชุมชนทั่วประเทศ ที่ต้องการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลได้อย่างครบวงจรตั้งแต่เกิดจนตาย โดยหัวใจสำคัญของการจัดสวัสดิการชุมชน คือ พึ่งตนเอง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดั่งคำที่ว่า “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี”
โดยเริ่มดำเนินการ 14 พื้นที่ตำบลครู เรียนรู้สวัสดิการชุมชน สามารถขยายผลสู่ตำบลนำร่อง 191 ตำบล 1,484 หมู่บ้าน 133,100 คน มุ่งให้เกิด “กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล” ขึ้น โดยมีการสมทบทุนจาก 3 ฝ่าย คือ ชุมชน รัฐส่วนกลาง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ปัจจุบันมีพื้นที่ดำเนินการและขยายสู่นโยบายสวัสดิการสังคมชาติ 1,522 ตำบล 59 จังหวัด มีคณะกรรมการสวัสดิการชุมชนระดับจังหวัด 42 จังหวัด พัฒนาผู้นำขบวนการสวัสดิการชุมชน 2,535 คน
แผนแม่บทชุมชน จากการสำรวจข้อมูลโดยชุมชนเป็นศูนย์กลางในช่วงที่ผ่านมา ได้จัดทำแผนชุมชนไปแล้ว 1,431 ตำบล บูรณาการแผนชุมชนสู่แผนพัฒนาท้องถิ่น 827 ตำบล แกนนำแผนชุมชนระดับตำบล 21,372 คน ศูนย์การเรียนรู้ 50 ตำบล มีคณะอนุกรรมการแผนชุมชนระดับจังหวัด 71 จังหวัด ยกระดับการพัฒนาเชื่อมโยงนโยบายรัฐเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ สังคมอยู่ดีมีสุข
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นการสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีชีวิต ปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรที่เกื้อกูลหลักในการดูแลจัดการ จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะสร้างความพอเพียง
โดยมีพื้นที่ดำเนินการไปแล้ว 350 พื้นที่ 44 จังหวัด 158 อำเภอ 233 ตำบล 611 หมู่บ้าน เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรสู่เกษตรกรรมยั่งยืน ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมี 2,000 ครอบครัว 7,915 ไร่ เกิดแผนการจัดการทรัพยากรของชุมชนและข้อตกลงในการสร้างพื้นที่รูปธรรมกับกระทรวงทรัพยากรฯ 99 พื้นที่
องค์กรการเงินชุมชน เป็นฐานทุนที่มีความสำคัญต่อองค์กรชุมชนอย่างมาก ชุมชนจึงควรมีองค์กรการเงินเป็นของตนเอง เพื่อเป็นทุนให้สมาชิกได้หยิบยืมไปใช้จ่ายในคราวจำเป็น และสร้างความมั่นคงด้านเงินทุนของชุมชน เชื่อมโยงกองทุนต่างๆ ภายในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการพึ่งพิงแหล่งเงินทุนภายนอก สามารถพัฒนาไปสู่การแก้หนี้ได้อย่างเป็นระบบ
การพัฒนาสู่ยุทธศาสตร์ “ฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น” จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การพัฒนาประเด็นงานพัฒนาที่มีอยู่อย่างหลากหลายจนขยายไปสู่ยุทธศาสตร์ “การฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น” ตั้งแต่ปี 2547 เป็นการพัฒนาที่ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญ สร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนและพัฒนาทุนเดิมในท้องถิ่นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พึ่งตนเองบนพื้นฐานทุนเดิมในท้องถิ่น ในปี 2547 จัดทำแผนฟื้นฟูท้องถิ่น 342 ตำบล 57 จังหวัด ปี 2549 ขยายผลอีก 527 ตำบล
นโยบายรัฐกับภารกิจเร่งด่วนพอช.
นอกจากจะมีการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาที่องค์กรชุมชนกำหนดร่วมกันดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีภารกิจที่ต้องดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และภารกิจที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา คือ
การรับรองสถานภาพองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน เป็นการรับรองการมีอยู่ขององค์กรชุมชน ให้เป็นที่ยอมรับทั้งจากองค์กรชุมชนด้วยกันเองภาคีพัฒนาอื่นๆ ซึ่งดำเนินการรับรองไปแล้ว 36,789 องค์กร รับรองระดับท้องถิ่น 1,386 ตำบล
การพัฒนาสินเชื่อและเศรษฐกิจชุมชน การพัฒนาระบบสินเชื่อของสถาบันฯ ซึ่งเดิมมีอยู่ 10 ประเภท ให้เป็นสินเชื่อเพื่อการพัฒนา 4 ประเภท คือ สินเชื่อเพื่อการพัฒนาแบบองค์รวม สินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินสินเชื่อเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สินเชื่อหมุนเวียน โดยเน้นความเป็นเจ้าของร่วม รับผิดชอบร่วม และมีความเอื้ออาทรต่อผู้ขาดโอกาสในชุมชน
ปัจจุบันสนับสนุนสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 3,552.18 ล้านบาท ผู้รับประโยชน์ 4,047 ชุมชน 376,945 ครอบครัว
การสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เช่น การแก้ปัญหาและฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยพิบัติการสนับสนุนนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน ตั้งแต่ปี 2547 ต่อเนื่องมาเป็น “นโยบายอยู่ดีมีสุข” ปัจจุบันโดยในการสนับสนุนการแก้ปัญหาดังกล่าว จะใช้ยุทธศาสตร์และประเด็นการพัฒนาของภาคประชาชนทั้ง 6 ประเด็น เป็นเครื่องมือสำคัญ
7 ปี พอช. กับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จึงเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการพัฒนาที่ชุมชนเป็นแกนหลักที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาอย่างครบวงจร โดยที่ พอช. และหน่วยงานต่างๆ เป็นเพียงผู้สนับสนุน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชนได้อย่างบูรณาการครอบคลุมทั่วประเทศ