xs
xsm
sm
md
lg

ป้ายสัญลักษณ์ประวัติศาสตร์ “สัมพันธ์ทหารไทย-อเมริกา” แผ่นมหึมาหาย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวอำเภอสัตหีบเรียกร้องกลับคืนแผ่นป้ายทองเหลืองสัญลักษณ์สัมพันธ์ไทย-อเมริกา ประวัติศาสตร์เปิดถนนสายยุทธศาสตร์ (ถนนอิงแลนด์) หรือทางหลวงสาย 331 อู่ตะเภา-โคราช ยุค “จอมพลถนอม กิตติขจร” ทองเหลืองเก่า 4 แผ่นมหึมา หนักนับร้อยกิโลกรัม ติดไว้หลักเขต 2 แห่งถูกโจรกรรมหายไป

นายแสวง ทองลอย อายุ 84 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี อยู่บ้านเลขที่ 123/21 หมู่ที่ 5 ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ ได้ร้องเรียนกับสื่อมวลชนว่า แผ่นป้ายทองเหลืองเก่าชนิดหนา 2 แผ่น แผ่นแรกมีตราพญาครุฑ ยาว 25 นิ้ว และกว้าง 25 นิ้ว ส่วนแผ่นที่ 2 มีความยาว 2 เมตร 40 เซนติเมตร กว้าง 1 เมตร 22 เซนติเมตรปิดไว้กับผนังแผ่นหลักปูนขนาดใหญ่มีฐานกว้างถึง 5 เมตร 60 เซนติเมตร เป็นรูปสัญลักษณ์ 2 มือประสานกัน บ่งบอกถึงความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา และมีข้อความแกะสลักไว้บนแผ่นทองเหลืองชนิดหนาหนักประมาณ 50 กิโลกรัมอย่างต่ำ

โดยมีเนื้อหาการเปิดถนนสายยุทธศาสตร์ หรือถนนสาย 331 ซึ่งทหารอเมริกาเป็นผู้สร้างเพื่อขนอาวุธยุทโธปกรณ์จากท่าเรือจุกเสม็ด หรือการท่าเรือสัตหีบ และสนามบินอู่ตะเภา ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ไปยังฐานทหารอเมริกาที่ จังหวัดนครราชสีมา ได้หายไปนานประมาณ 28 ปี พยายามตามหาก็ยังไม่พบ จึงขอวิงวอนให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยติดตามมาติดไว้เหมือนเดิม

นายแสวง เปิดเผยว่า เมื่อประมาณปี 2517 ขณะเป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้มีจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี และผู้ใหญ่ในบ้านเมืองยุคนั้น ฝ่ายทหารไทย และทหารอเมริกา มาร่วมกันเปิดถนนสายยุทธศาสตร์ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่าถนนสายอิงแลนด์ ซึ่งทหารอเมริกาเป็นผู้สร้างให้ประเทศไทย และมีการเปิดป้ายหลักเขตสัญญลักษณ์ที่ตั้งอยู่ 4 แยกเกษมพล ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ มีข้าราชการ องค์กรส่วนท้องถิ่น ประชาชนมาร่วมกันเป็นสักขีพยานจำนวนมาก

ต่อมาปี 2522 ป้ายทองเหลืองสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้หายไป และจำหมายเลขทะเบียนรถกระบะที่ลักขโมยไปได้ จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบ้านฉาง จังหวัดระยอง ติดตาม ในที่สุดมีคนนำป้ายทองเหลือง 2 ป้ายมาโยนทิ้งไว้ในป่าหญ้าข้างหลักเขตป้าย จึงได้ช่วยกันติดไว้อย่างเดิม

ในที่สุดป้ายถูกแกะหายไปอีกจนบัดนี้ยังตามหาไม่พบ ซึ่งถนนสายนี้เป็นถนนที่ทหารอเมริกากล่าวขานกันอย่างมากว่าประเทศไทยร่ำรวยเพราะขุดหินแร่เหล็กที่เขายายบ๋วยมาทำถนน สัญญาณโทรศัพท์ติดต่อยาก และมีสนิมขึ้นแดงบนถนนทั้งสาย

นางกิมซ่วน ประดิษฐ์ อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 36/9 หมู่ที่ 5 ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ และนายซุ้ย ประดิษฐ์อุ 69 ปี สามีซึ่งเปิดร้านขายของชำเป็นแห่งแรกในพื้นที่นี้ห่างจากซุ้มหลักเขตสัญลักษณ์เพียง 30 เมตร กล่าวว่า หลังจากช่วยกันติดตามกลับมาแล้วครั้งหนึ่งไม่ทราบว่าครั้งสุดท้ายป้ายทองเหลืองหายไปตั้งแต่เมื่อใด เพราะหลังจากแผ่นป้ายหายไปก็มีบรรดาพ่อค้าแม่ค้า และประชาชนที่ผ่านไปมาบนถนนสายยุทธศาสตร์ มักจะแวะ 4 แยกเกษมพล นำอาหารหวานคาว ผลไม้ มาจุดธูปถวายซุ้มหลักเขต คงเกิดความสงสัยหรือคิดว่าอาจจะเป็นสถูปเก็บกระดูกคนสมัยเก่าอย่างแน่นอน โดยไม่ทราบว่าเป็นหลักเขตสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บางคนก็มาจุดธูปขอหวยขอเลขเด็ดกันเป็นประจำ

นายทวีป กลัดเจริญ ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน กล่าวว่า หลังจากได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านต่อจาก นายแสวง ทองลอย ก็ทราบว่าป้ายทองเหลืองขนาดใหญ่ที่ซุ้มหลักเขตหายไปแล้วได้พยายามติดตาม สอบถามแหล่งรับซื้อของเก่าทั้งพื้นที่อำเภอสัตหีบ และพื้นที่จังหวัดระยอง ก็ไม่มีวี่แวว ถ้ามีคนลักขโมยแกะไปขายก็คงได้หลายเงิน เพราะแผ่นขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก แต่ก็ไม่น่าจะทำเพราะเป็นป้ายประวัติศาสตร์ในเรื่องของความร่วมมือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถ้าประเทศสหรัฐอเมริกา ทราบเรื่องนี้จะทำให้อับอาย และก่อให้เกิดความเสียหายได้ เพราะเพียงป้ายทองเหลืองยังไม่สามารถดูแลรักษาได้

ด้าน นายอนุพงษ์ สุวรรณเลิศ นายช่างโยธา 6 หัวหน้าแขวงการทางสัตหีบ กล่าวว่า ได้มารับหน้าที่ตั้งแต่ปี 2538 ทราบแต่เพียงว่าป้ายทองเหลืองที่ติดอยู่บนหลักเขตสัญญลักษณ์ความร่วมมือและความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ได้หายไปนานแล้ว ซึ่งป้ายทองเหลืองจะมีอยู่ 2 แห่ง ก็คือที่แยกปลาตะเพียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เริ่มหลักกิโลเมตรที่ 0 และหลักกิโลเมตรที่ 130 บวก 500 แยกเกษมพล

ส่วนการหายไปของป้ายได้เคยสอบถามกับนายทวีป แต่งแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพลูตาหลวง ก็ได้รับคำตอบว่าไม่รู้ว่าหายไปตั้งแต่เมื่อใด แม้แต่ชาวบ้านใกล้เคียงก็ไม่มีใครทราบ และได้มีประชาชนที่ผ่านมาจากทางกบินทร์บุรีบอกว่าป้ายทองเหลืองที่หลักกิโลเมตรที่ 0 อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ก็หายไปแล้วด้วยเช่นกัน รวมแผ่นทองเหลืองที่หายไป 2 แห่ง จำนวน 4 แผ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น