xs
xsm
sm
md
lg

“เมืองศรีราชา” กับนิยาม “little Osaka”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา – อำเภอศรีราชา 1 ในพื้นที่สำคัญของโครงการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่มีทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือขนส่งสินค้า นิคมอุตสาหกรรม มากมายผุดขึ้นท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในยุค “น้าชาติ” ทำให้กลายเป็นศูนย์รวมของผู้คนทุกระดับ ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ ผู้ที่เข้ามาทำงานและครอบครัว รวมทั้งคนญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่เข้ามาทำงานตามการขยายการลงทุนของกลุ่มทุนญี่ปุ่นและนับวันจะมีจำนวนมากขึ้น จนทำให้วันนี้ “ศรีราชา” ถูกขนานนามว่า เป็น “little Osaka” แล้ว

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ภาครัฐลงทุนโครงการสำคัญๆ มากมายในพื้นที่นี้ ทั้งท่าเรือแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง รวมทั้งระบบโครงการพื้นฐานต่างๆ และโครงข่ายการคมนาคม ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ลงทุนตั้งโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมด้วย จากแรงจูงใจมากมายในสิทธิประโยชน์ที่รัฐมอบให้

เมื่อมีการลงทุนเกิดขึ้น ความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาทำงานในเขต อ.ศรีราชา เป็นจำนวนมาก ทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะคน “ญี่ปุ่น” เข้ามามากกว่าคนชาติอื่นๆ ตามกระแสการเคลื่อนย้ายการลงทุนของกลุ่มทุนญี่ปุ่นเข้ามาประเทศไทย จึงน่าสนใจว่า วันนี้ อ.ศรีราชา เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ตามรอย...คนญี่ปุ่นในศรีราชา

การเพิ่มจำนวนประชากรชาวญี่ปุ่น ที่เติบโตจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก ด้วยการขยายฐานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และชลบุรี ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในเมืองพัทยา และพื้นที่โดยรอบ รวมทั้ง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

จากการสำรวจของ “ผู้จัดการรายวัน” พบว่า วันนี้นักลงทุนทั้งน้อยใหญ่ต่างทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย ทั้งในรูปแบบโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ หรือแม้แต่โครงการบ้านจัดสรร เพื่อรองรับกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่มีกำลังซื้อสูงและมักจะรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่ม เพื่อความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยนิสัยของชาวญี่ปุ่นที่นิยมพักผ่อนหลังเลิกงานด้วยการพบปะสังสรรค์ในหมู่เพื่อนฝูง เข้าคาราโอเกะ แหล่งบันเทิง ทำให้พบว่าธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นผุดตัวราวดอกเห็ดรอบเขตอำเภอศรีราชา ปัจจุบันมีไม่น้อยกว่า 60 แห่ง ทั้งที่ขออนุญาตเปิดดำเนินการแบบถูกต้องและไม่ถูกต้อง

รวมทั้งที่มีเจ้าของร้านเป็นชาวไทยและส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่นที่อาศัยหญิงไทยบังหน้า เพื่อเทกโอเวอร์กิจการจากเจ้าของร้านชาวไทย เพื่อเปิดรับชาวญี่ปุ่นด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะประสบความสำเร็จ เพราะชาวญี่ปุ่นจะไว้ใจชาวญี่ปุ่นด้วยกัน ที่สำคัญร้านอาหารเหล่านี้ไม่เปิดต้อนรับคนไทย และหากร้านใดเปิดให้คนไทยเข้าใช้บริการ ในอนาคตร้านนั้นจะถูกแบนจากชาวญี่ปุ่นในทันที

เหตุใดร้านอาหารญี่ปุ่นในเขต อ.ศรีราชา จึงยินยอมที่จะไม่เปิดรับลูกค้าชาวไทยตามความต้องการของลูกค้าใหญ่ต่างชาติ

1.เพื่อต้องการเอาใจลูกค้ากระเป๋าหนักชาวญี่ปุ่น ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวและชอบที่จะใช้บริการเฉพาะกลุ่มชาวญี่ปุ่นด้วยกันเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ใช้บริการจะมีตั้งแต่ระดับหัวหน้าแผนกขึ้นไปจนถึง CE0

2.ราคาค่าอาหารที่ตั้งสูงกว่าราคาจริงเกือบ 100%

3.ความแตกต่างทางวัฒนธรรมมีผลต่อการให้บริการ

และ 4.เกรงว่าอาจเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างลูกค้าชาวญี่ปุ่น และลูกค้าชาวไทย

ว่ากันว่า ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นบางราย จะได้รับเงินเอนเตอร์เทนจากบริษัท สำหรับใช้บริการในสถานบันเทิงและร้านอาหารไม่น้อยกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน ขณะที่ผู้บริหารระดับหัวหน้างานจะได้รับการสนับสนุนด้านเอนเตอร์เทนจากบริษัทลดหลั่นกันไป จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดร้านอาหารญี่ปุ่น จึงกล้าตั้งราคาอาหารชนิดสูงลิบลิ่ว แต่ก็ยังยืนอยู่บนเส้นทางธุรกิจได้ เพราะเพียงหนึ่งคืนหากมีลูกค้าเข้าใช้บริการเพียง 4 รายก็จะสามารถดูแลธุรกิจของตนให้อยู่รอดได้

การแบ่งเกรดระหว่างหัวหน้างานระดับผู้บริหาร หรือหัวหน้าแผนกยังเห็นได้จากจุดที่พักอาศัยของชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ อีกด้วย กล่าวคือ ระดับผู้บริหาร เจ้าของบริษัท หรือ CEO จะพักโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในเครือเกษมกิจ อาทิ Cape Racha Hotel & Serviced Apartment โรงแรม 5 ดาวแห่งใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน Kameo House Sriracha, Karavel Hourse Serviced Apartment และ Kantary Bay Hotel & Serviced Apartment ซึ่งเปิดให้บริการบริเวณจุดศูนย์กลางของอำเภอศรีราชา และคอนโดมิเนียมหรู อาทิ Chery Hill

ขณะที่ระดับหัวหน้าแผนกและผู้จัดการโรงงานจะพักอาศัยอยู่บริหารเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และโรงแรมที่เปิดให้บริการทั้งกลุ่มวอล์กอิน และพักอาศัยยาวโดยรอบเขตศรีราชา

เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ผุดเป็นดอกเห็ด

จากจำนวนชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอาศัยอยู่ใน อ.ศรีราชา มีไม่น้อยกว่า 5,000 คน และเพื่อให้การพักอาศัยของผู้ที่เดินทางเข้ามาทำงานและครอบครัว ได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด รวมทั้งมีความปลอดภัยในการพักอาศัย บริษัทส่วนใหญ่ จึงนิยมจัดที่พักให้บุคคลเหล่านี้พักอยู่ในที่แห่งเดียวกัน อย่างโรงแรม อพาร์ตเมนต์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์

จุดนี้ทำให้เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์เกิดขึ้นรองรับมากมาย และบางแห่งที่เคยเปิดให้บริการคนไทย ก็ปรับรูปแบบเพื่อรองรับคนญี่ปุ่นมากขึ้น โดยโรงแรมเดอะซิตี้ ศรีราชา ซึ่งจุดประสงค์ของการก่อตั้งในเริ่มแรก นอกจากจะรองรับกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานในเขตภาคตะวันออก เพื่อให้เป็นที่พักอาศัยในระยะยาวแล้ว ในวันนี้โรงแรมแห่งนี้ยังเป็นจุดนัดหมายของนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น เพื่อใช้พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันอีกด้วย เป็นเสมือนสมาคมของคนญี่ปุ่นที่ทำงานใน อ.ศรีราชา

แปซิฟิค พาร์ค กรุ๊ป เป็นอีกกลุ่มทุนหนึ่งที่ทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อเปิดตัวธุรกิจอพาร์ตเมนต์บริเวณด้านข้างของศูนย์การค้าแปซิฟิคพาร์ค ศรีราชา รองรับการเข้าพักแบบรายเดือนของกลุ่มผู้เข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ของภาคตะวันออกในชื่อ Pacific Apartment หลังจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเล็งเห็นถึงการเติบโตของธุรกิจจึงเริ่มก่อสร้างอาคารที่ 2 โดยใช้ชื่อว่า Pacific Park Resident ที่เน้นการบริการในรูปแบบเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ แต่มีรูปแบบบริการลักษณะเดียวกับโรงแรม ภายใต้งบลงทุนประมาณ 180 ล้านบาท

นายสมบูรณ์ วรปัญญาสกุล กรรมการผู้จัดการ แปซิฟิค พาร์ค กรุ๊ป กล่าวว่าโครงการ Pacific Park Hotel& Resident เป็นโครงการที่บริษัทฯลงทุนตามความต้องการของตลาด หลังพบการเข้าพักของกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาไม่ใช่เฉพาะชาวญี่ปุ่นเท่านั้นแต่ยังมีกลุ่มนักธุรกิจและผู้บริหารโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นชาวสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งแตกต่างจากการเข้าพักของพัทยา ที่กลุ่มผู้เข้าพักรายเดือนจะเป็นชาวยุโรปและอเมริกาเป็นหลัก ซึ่งในอนาคตหากยังพบว่าความต้องการด้านที่พักในลักษณะนี้ยังมีสูง ทางกลุ่มก็พร้อมที่จะนำพื้นที่ที่มีอยู่ในแลนด์แบงก์ออกมาพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

แม่บ้านญี่ปุ่น กลุ่มนักชอปขาใหญ่

นอกจากคนญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานในพื้นที่จะทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในเขต อ.ศรีราชาแล้ว ในส่วนของแม่บ้านชาวญี่ปุ่นที่ตามสามีเข้ามาพักอาศัยในประเทศไทย ที่ส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาว่างด้วยการชอปปิ้ง รวมกลุ่มเรียนภาษาและนัดพบปะกันตามบ้านเพื่อนชาวญี่ปุ่นด้วยกัน เพื่อคลายความเหงา สิ่งที่ตามมาคือธุรกิจโรงเรียนสอนภาษา โรงเรียนสอนโยคะ และโรงเรียนสอนนาฏศิลป์ไทยในพื้นที่อำเภอศรีราชา ก็พลอยได้รับเม็ดเงินจากการเข้ามาของแม่บ้านชาวญี่ปุ่นกลุ่มนี้ไปด้วย จนปัจจุบันได้มีการขนานนามอำเภอศรีราชาว่า คือ “little Osaka” โอซากาแห่งที่ 2 ของญี่ปุ่นไปแล้ว

คุณคาโอรุ (Mrs.Kaoru Tsuboi) เป็นหนึ่งในกลุ่มแม่บ้านชาวญี่ปุ่นที่ติดตามสามี ซึ่งได้รับมอบหมายจากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งขยายสาขาเข้ามาในประเทศไทย ให้เดินทางเข้ามาทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยร่วมกับสามี โดยคุณคาโอรุ บอกว่าเธอใช้ชีวิตในเมืองไทยมานานถึง 7 ปี จึงไม่น่าแปลกใจที่ในวันนี้เธอจะพูดและฟังภาษาไทยได้ในระดับที่ดีทีเดียว

เธอเล่าว่า โดยช่วง 5 ปีแรกเธอใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ก่อนจะย้ายตามสามี ซึ่งได้รับคำสั่งจากบริษัทแม่ให้เดินทางมาบริหารบริษัทประกันภัย มิตซุย ซูมิโตโม อินชัวรันส์ ซึ่งรับประกันภัยให้แก่กลุ่มชาวญี่ปุ่นที่ทำงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในภาคตะวันออก ซึ่งขณะนี้ขยายสาขาออกจากกรุงเทพฯ มาตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา


เธอบอกว่า การเข้ามาใช้ชีวิตในประเทศไทย แม้จะไม่แตกต่างทางวัฒนธรรมจนก่อให้เกิดการปรับตัวที่ยากเกินไปนัก แต่การไม่รู้ภาษาทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้น การใช้เวลาว่างของแม่บ้านชาวญี่ปุ่นที่ติดตามสามีเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ส่วนหนึ่งจึงหมดไปกับการเรียนภาษาตามสถาบันสอนภาษาต่างๆ

นอกเหนือจากการชอปปิ้ง เรียนโยคะ หรือแม้แต่การฝึกเรียนรำไทย ที่ในวันนี้หากเดินเข้าไปในโรงเรียนสอนนาฏศิลป์ในอำเภอศรีราชาแล้ว ภาพที่ชินตาก็คือ การรวมกลุ่มของแม่บ้านชาวญี่ปุ่น เพื่อฝึกเรียนศิลปะการร่ายรำที่สวยงามของไทย ที่สำคัญในการพบปะหรืองานสังสรรค์ใหญ่ กลุ่มแม่บ้านเหล่านี้จะนำเอาศิลปะการรำไทยที่ได้ร่ำเรียนมาจัดเป็นการแสดงให้กลุ่มชาวญี่ปุ่นด้วยกันได้ชมอีกด้วย

สำหรับสวัสดิการของการเดินทางติดตามสามี ซึ่งเป็นถึงระดับผู้บริหารของบริษัทประกันภัยที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นนั้น เธอบอกว่า นอกจากเธอจะมีรถประจำตัว 1 คัน ซึ่งบริษัทจัดสรรให้แล้ว ยังมีเงินสนับสนุนในการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย นอกจากนั้นหากมีบุตร ก็ยังได้รับเงินสนับสนุนค่าเล่าเรียนจากบริษัทที่ส่งสามีของเธอเข้ามาทำงานในประเทศไทย

“การใช้ชีวิตในประเทศไทยค่อนข้างสบาย เพราะค่าครองชีพที่ญี่ปุ่นสูงมาก ดังนั้นในช่วงที่อยู่ญี่ปุ่นทั้งสามีและภรรยาจะต้องช่วยกันทำงาน แต่เมื่อสามีได้ย้ายมาประจำสาขาในประเทศไทย ก็มีสวัสดิการที่จะส่งเสริมสถานภาพครอบครัว ด้วยการที่ภรรยา จะได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ด้วย ส่วนการรวมกลุ่มของแม่บ้านนั้น ที่เห็นอยู่ในตอนนี้มีหลายกลุ่มแล้วแต่ว่าใครจะมีนิสัยใจคอเข้ากันได้”

คุณคาโอรุ บอกว่าความแตกต่างอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นกับไทยคือ ภรรยา จะไม่เข้าไปก้าวก่ายงานของสามี จึงไม่น่าแปลกใจที่ระหว่างการพูดคุยเธอจะบอกกับเราตลอดว่า เธอรู้ว่าสามีทำงานที่บริษัทอะไร แต่ไม่รู้ว่างานที่ทำเป็นอย่างไรบ้างซึ่งหลายครอบครัวก็เป็นเช่นนั้น

สังคมชาวญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับงานมากกว่าเรื่องของครอบครัว ผิดกับสังคมไทยที่สามีในหลายครอบครัวจะให้ความสำคัญกับงานน้อยกว่า การดูแลความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว แต่สิ่งหนึ่งที่เธอและสามีรวมทั้งครอบครัวชาวญี่ปุ่นอื่นๆ มักจะทำเป็นประจำในทุกวันอาทิตย์ก็คือ การร่วมกันตีกอลฟ์ ระหว่างสามีและภรรยา

“ตั้งแต่มาใช้ชีวิตในประเทศไทย ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ร้ายแรง เพียงแต่อาจเจอเรื่องการได้รับบริการที่แพงกว่าคนไทยเท่านั้น ส่วนในเรื่องของความปลอดภัยยังมีอยู่สูงโดยเฉพาะในอำเภอศรีราชา ซึ่งคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เพราะจะมั่นใจว่ามีความปลอดภัย”

เริ่มต้นยุคเฟื่องฟูชาวญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม หากจะย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น ที่ชาวญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาในเมืองศรีราชาและพื้นที่ภาคตะวันออก คือ เริ่ม ตั้งแต่สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามนโยบายผลักดันโครงการอีสเทร์นซีบอร์ด ที่ก่อให้เกิดการลงทุนด้านโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ชาวต่างชาติทยอยเดินทางเข้าในพื้นที่จากการขยายโรงงานและกำลังผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งชาวญี่ปุ่น เกาหลีและฮ่องกง คือชาวต่างชาติกลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่เพื่อดูแลการติดตั้งเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนั้นยังต้องสอนพนักงานคนไทยในการดูแลเครื่องจักรที่จะเปิดดำเนินการ

การเดินทางเข้ามาในแต่ละครั้ง จะใช้ระยะเวลา 3 เดือน, 6 เดือน หรือ 1 ปี หรือต่อเนื่องตลอดไป โดยกลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้ความสามารถระดับสูง จึงได้รับการดูแลและได้รับสิทธิพิเศษจากบริษัทแม่ในประเทศของตน

ต่อมาเมื่อชาวญี่ปุ่นเข้ามาในพื้นที่ อ.ศรีราชามากขึ้น ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่นานก็เริ่มมองหาลู่ทางทำกินนอกเหนือจากการทำงานให้แก่บริษัท บางคนมีหญิงไทยเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมด้วย จึงเกิดแนวคิดที่จะเทกโอเวอร์กิจการร้านอาหารญี่ปุ่นในพื้นที่ที่มีอยู่เดิม เพื่อปรับรูปแบบงานบริการให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มคนญี่ปุ่นด้วยกัน จึงอาศัยหญิงไทยเหล่านี้เป็นผู้ติดต่อและประสานงาน เพื่อให้การดำเนินงานของร้านถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งร้านอาหาร, บาร์เบียร์ และคาราโอเกะ

โดยมีผู้กล่าวไว้ว่า การเปิดร้านอาหาณญี่ปุ่นของคนไทยในพื้นที่ในช่วงเริ่มแรก เป็นไปในลักษณะเปิดให้บริการเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ในระยะสั้น จึงดำเนินการในหลายลักษณะเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวญี่ปุ่น ซ้ำบางรายยังเป็นนายหน้าคอยเคลียร์ปัญหาให้แก่ชาวญี่ปุ่นเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นอีกด้วย

แต่การกระทำดังกล่าวกลับกลายเป็นผลเสียต่อการลงทุนของตนในอนาคต เพราะชาวญี่ปุ่นที่เห็นลู่ทางในการดำเนินงานและขั้นตอนการติดต่อกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ ทั้งเส้นทางลัดและเส้นทางตรง เริ่มมีประสบการณ์มากขึ้นจึงรวมกลุ่มกันเพื่อเข้าหุ้นเทกโอเวอร์กิจการ และดำเนินงานเอง โดยว่าจ้างคนไทยให้บริหารเท่านั้น ทำให้กิจการส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น มีคนญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ

จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการของเทศบาลเมืองศรีราชา พบว่า ประชากรญี่ปุ่นในเขต อ.ศรีราชา มีมากถึง 5,000 คน โดยมีทั้งแบบประชากรลอย หรือประชากรแฝง ที่ไม่ลงทะเบียนพักอาศัยแต่เข้ามาท่องเที่ยวพักผ่อน กลุ่มส่วนใหญ่จะเป็นชาวญี่ปุ่นที่ทำงานด้านธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งจะเดินทางมาจากนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง หรือพื้นที่อื่นๆ ในเขตเมืองชลบุรีและภาคตะวันออก รวมทั้งเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นกลุ่มลักษณะ Incentive Tour และกลุ่มผู้เข้ามาทำธุรกิจร้านอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออื่นๆ โดยมีคนไทยคอยสนับสนุน

และวันนี้ จากความเปลี่ยนแปลงมากมายที่พบเห็นในเขต อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่เต็มไปด้วยธุรกิจต่างๆ ที่ผุดขึ้นรองรับประชากรคนญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงาน ภาพของ “little Osaka” คือ เป็นเมืองโอซากา 2 ที่มีผู้ขนานนามให้คงไม่เกินจริง
บรรยากาศร้านอาหารญี่ปุ่น ที่เปิดกิจการในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้น จนทำให้วันนี้เมืองศรีราชาถูกขนานนามว่า เป็น “little Osaka” คือ เป็นเมืองโอซากา 2 แล้ว

คุณคาโอรุ (Mrs.Kaoru Tsuboi) หนึ่งในกลุ่มแม่บ้านชาวญี่ปุ่นที่ติดตามสามี ซึ่งได้รับมอบหมายจากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งขยายสาขาเข้ามาในประเทศไทย
บรรยากาศร้านอาหารญี่ปุ่น ที่เปิดกิจการในย่ามค่ำคืนพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้น จนทำให้วันนี้เมืองศรีราชาถูกขนานนามว่า เป็น “little Osaka” คือ เป็นเมืองโอซากา 2 แล้ว






กำลังโหลดความคิดเห็น