xs
xsm
sm
md
lg

“แหอวนไทย” เผชิญปัญหารอบด้าน จีนดัมป์ราคาแย่งตลาดในประเทศ-ส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภิญโญ  เดชานุเบกษา กรรมการบริหาร โรงงานทออวน เดชาพาณิชย์ผู้ประกอบการผลิตเครื่องมือจับสัตว์น้ำรายใหญ่ของประเทศ
ศูนย์ข่าวขอนแก่น- อุตสาหกรรมแหอวนไทย เผชิญปัญหารอบด้าน “เดชาพาณิชย์” เผยเจอปัญหาแข่งขันรุนแรง ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ชี้ แหอวนไทยเสียเปรียบการแข่งขัน ถูกจีนดัมป์ราคารุกแชร์ตลาดในประเทศแล้วกว่า 20% ส่วนตลาดส่งออก คาดจีนก้าวเป็นผู้นำตลาด ขณะที่แผนรับมือมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าย่อย เร่งผลิตให้ทันความต้องการ โอ่ยังครองตลาดบนไว้เหนียวแน่น ด้านอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น เผยเงินบาทแข็งค่า กระทบแผนขยายตลาด แต่การผลิตแหอวนทั้งจ.ขอนแก่นยังปกติ แรงงานกว่า 9,000 คนยังไม่ตกงาน เชื่อประคองกิจการผ่านพ้นได้

อุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือจับสัตว์น้ำ (แห อวน) นับเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตอยู่ในจังหวัดขอนแก่นหลายแห่ง และดำเนินกิจการมานานมากกว่า 30 ปี แต่ละโรงงานที่ดำเนินการผลิต เป็นอุตสาหกรรมผลิตขนาดใหญ่ ต้องการแรงงานผลิตในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นจำนวนมาก

นายภิญโญ เดชานุเบกษา กรรมการบริหาร โรงงานทออวน เดชาพาณิชย์ ผู้ประกอบการผลิตเครื่องมือจับสัตว์น้ำรายใหญ่ของประเทศ เปิดเผยถึงภาพรวมการผลิตเครื่องมือจับสัตว์น้ำว่า สถานการณ์ในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือจับสัตว์หรือการผลิตแหอวน ในปีนี้ มีการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายใหม่ รุกเข้ามาทำตลาดหลายรายทั้งผู้ผลิตในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ดีมานด์ในตลาดไม่ได้ขยายตัวในสัดส่วนที่สมดุลกัน

กลุ่มผู้ผลิตแหอวนจากต่างประเทศ ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ อินเดีย เวียดนาม เป็นคู่แข่งขันรายใหม่ที่รุกตีตลาดแหอวนกับผู้ผลิตไทย โดยเฉพาะผู้ผลิตแหอวนจากจีนแผ่นดินใหญ่ มีศักยภาพการแข่งขันสูงมาก เนื่องจากได้เปรียบในแง่ของต้นทุนการผลิตแหอวนที่ต่ำกว่าผู้ผลิตไทย จากปัจจัยค่าแรงงานในประเทศจีนที่ต่ำกว่า ราคาสินค้าต่อหน่วยต่ำจึงสร้างความสนใจจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

“สถานการณ์ในอุตสาหกรรมผลิตแหอวน ณ ปัจจุบัน ผู้ผลิตแหอวนไทยต้องเผชิญปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงรอบด้าน ทั้งตลาดภายในประเทศ และตลาดส่งออก โดยตลาดในประเทศ ถูกสินค้าจากจีนรุกแชร์ตลาดในสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยกลยุทธ์ราคา แม้จะผ่านตัวแทนจำหน่ายหลายทอด แต่ก็ยังสามารถทำราคาจำหน่ายในไทยได้ต่ำกว่า ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดไม่น้อยกว่า 20%” นายภิญโญ กล่าวและว่า

ส่วนตลาดส่งออกมีการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงเช่นกัน สินค้าจีนมีต้นทุนต่ำกว่า ทำให้ราคาสินค้าได้รับความสนใจ และรุกจับตลาดกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ ผู้ผลิตแหอวนไทยค่อนข้างเสียเปรียบ ในการเจรจาสั่งซื้อสินค้าล็อตใหญ่ และต้องสูญเสียตลาดนี้ไป ภาพรวมในตลาดส่งออก ณ ปัจจุบัน ผู้ผลิตแหอวนจากจีน จึงน่าจะสามารถครองส่วนแบ่งในสัดส่วนที่สูงกว่า

สำหรับปัญหาที่น่าเป็นห่วง ผู้ผลิตแหอวนจากประเทศเวียดนาม กำลังจะพัฒนาเป็นคู่แข่งขันในตลาดส่งออก ที่น่ากลัวอีกประเทศ โดยการผลิตแหอวนของเวียดนาม เดิมผลิตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมประมงภายในประเทศเท่านั้น แต่ในระยะหลังตลาดเริ่มอิ่มตัว จึงพัฒนากระบวนการผลิต ขยายสู่ตลาดส่งออกเช่นเดียวกับ ไทย และจีน

นายภิญโญ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การปรับตัวรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ในส่วนของเดชาพาณิชย์ ได้ดำเนินการรุกตลาดที่หลากหลาย เร่งหาตลาดใหม่ๆ เข้ามารองรับ จับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลายกลุ่ม โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยมากยิ่งขึ้น โดยกลุ่มลูกค้าย่อยจะมีปริมาณการสั่งซื้อสินค้าในระดับไม่สูงนัก และเป็นกลุ่มที่ไม่ต่อรองด้านราคาจนเกินไป

ขณะเดียวกัน เดชาพาณิชย์อาศัยจุดแข็งในฐานะเป็นผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ผลิตแหอวนมาก่อน พัฒนากระบวนการผลิตแหอวน ให้มีความรวดเร็วทันต่อความต้องการในฤดูกาลจับสัตว์ในแต่ละพื้นที่ ทั้งพัฒนารูปแบบสินค้าให้ตรงกับความต้องการตลาดกลุ่มต่างๆ ยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานสินค้าเป็นที่ยอมรับ และทำให้ผู้ผลิตแหอวนไทยยังสามารถครองตลาดบนเหนือกว่าคู่แข่งขันต่อไป

ส่วนกรณีที่ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น โดยรวมแล้วมีผลกระทบบ้างแต่ไม่มากนัก เนื่องจากการผลิตแหอวนมีทั้งการนำเข้าวัถตุดิบผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายต่างประเทศ แม้ในแง่ดีจะทำให้ผู้ผลิตแหอวนไทยนำเข้าวัตถุดิบในต้นทุนต่ำกว่าเดิม แต่การส่งออก ก็ถูกคู่ค้าพยายามต่อรองราคาลงเช่นกัน

“ตลาดผลิตภัณฑ์แหอวนโดยภาพรวมปี 2550 น่าจะขยายตัวเพิ่มจากปี 2549 ได้ แต่การแข่งขันที่รุนแรง อาจส่งผลกระทบให้การดำเนินงาน การทำตลาดลำบากขึ้น และในด้านยอดขายโดยรวมของผู้ผลิตแหอวนไทย อาจไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีปัจจัยชี้วัดที่สภาพดิน ฟ้า อากาศ หากภูมิภาคต่างๆมีฝนตกชุก จะส่งผลดีให้อุตสาหกรรมแหอวนเติบโตต่อไปได้” นายภิญโญ กล่าว

เชื่อผู้ผลิตแหอวนประคองตัวรอด

ด้าน นายประยูร ติ่งทอง อุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า จากการหารือกับผู้ประกอบการแหอวนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พบว่ากรณีปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า เกิดกระทบทางการตลาดลดลง ทำให้รายได้จากการส่งออกลดลงเช่นกัน โดยภาพรวมที่ผ่านมา ทำให้ผลกำไรดำเนินงานของอุตสาหกรรมแหอวนลดลงเหลือประมาณ 8-9% ซึ่งโดยปกติผู้ผลิตแหอวนจะมีผลกำไรในระดับที่เกิน 12% ขึ้นไป

สภาพโดยทั่วไป การผลิตของอุตสาหกรรมแหอวนที่จังหวัดขอนแก่นในช่วงปี 2550 จะดำเนินการในลักษณะประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นสถานการณ์เลวร้ายไปได้ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลการผลิตของโรงงานที่ตั้งอยู่ทั้ง 6 แห่ง ยังคงดำเนินการผลิตตามปกติ ไม่ลดกำลังผลิตหรือลดการจ้างงาน แต่ด้วยข้อจำกัดทางตลาด จึงไม่เพิ่มกำลังการผลิตในระยะนี้ ซึ่งเชื่อมั่นว่า อุตสาหกรรมผลิตแหอวนไทยน่าจะประครองตัวผ่านพ้นไปได้

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมผลิตแหอวน เป็นอีกอุตสาหกรรมที่มีการตั้งโรงงานผลิตจำนวนมากในจังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 บริษัท มีโรงงานผลิต 6 แห่ง กระจายครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัดขอนแก่น ซึ่งโรงงานแต่ละแห่งต้องการแรงงานผลิตจำนวนมาก ส่งผลดีต่อการสร้างงานและรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ โดยมีการจ้างงานรวมกันทั้งสิ้นมากกว่า 9,000 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น