อุบลราชธานี-ครู กศน.พบชนเผ่าเก่าแก่อายุหลายพันปี อาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม ซึ่งมีภาษาพูด"ภาษาบรู"เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง จึงรวบรวมเป็นพจนานุกรมใช้สื่อสารกับคนภายนอกให้เข้าใจ และอนุรักษ์ภาษาถิ่นโบราณไว้สืบทอดในท้องถิ่นต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอโขงเจียม รวบรวมภาษาชนถิ่นโบราณของชนชาติเผ่าบรู ซึ่งสมัยโบราณอาศัยหากินอยู่ตามลำแม่น้ำโขง ปัจจุบันชนเผ่านี้ ได้มาตั้งบ้านเรือนที่บ้านเวินบึก และบ้านท่าล้ง ในเขตอำเภอโขงเจียม โดยประชากรรวมกันทั้ง 2 หมู่บ้าน มีประมาณ 500 คน
คนเผ่าบรูมีภาษาพูดคล้ายคลึงกับภาษาส่วยที่ยังมีใช้กันอยู่ใน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งภาษาพูดทั้งสองภาษานี้ แม้จะมีภาษาพูดที่ใกล้เคียงกัน แต่มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
จึงสันนิษฐานว่า ชนเผ่าบรูได้รับอิทธิพลทางภาษามาจากขอมโบราณ ซึ่งเมื่อกว่า 3,000 ปีก่อน ได้แผ่อารยธรรมผ่านมาทางลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันยังมีศาสนาสถานรูปแบบขอนปรากฏอยู่ที่ปราสาทวัดภู เมืองจำปาสัก แขวงจำปาสัก สปป.ลาว
สำหรับเอกลักษณ์ของชนเผ่าบรูที่ไม่เหมือนใครคือ เป็นคนรักถิ่นที่อยู่ ไม่รับอารยธรรมจากภายนอก อยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ และมีภาษาพูดเป็นของตนเอง โดยใช้พูดกันเฉพาะคนในหมู่บ้าน ทำให้เด็กหญิงและเด็กชายที่เกิดในชนเผ่านี้ จะแต่งงานกับคนในหมู่บ้านด้วยกันเอง ทั้งหมู่บ้าน จึงมีนามสกุลใช้ไม่กี่นามสกุล
นายอุกฤษฏ์ รินทรามี ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน(กศน.)อำเภอโขงเจียมเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการรวบรวมจัดทำพจนานุกรมฉบับภาษาพูดของชนเผ่าบรู สืบเนื่องมาจากเมื่อ 8 เดือนก่อน ได้ย้ายมารับราชการที่อำเภอแห่งนี้ และได้เข้าไปคลุกคลีกับคนในชนเผ่าบรู สังเกตเห็นว่าคนในหมู่บ้านจะใช้ภาษาอีสานพูดกับคนที่มาจากนอกหมู่บ้าน
แต่เมื่อพูดกันเองในหมู่บ้าน ก็จะใช้ภาษาบรูพูดคุยกันเอง จึงเกิดความสนใจและได้ทำการศึกษาค้นคว้าจนทราบว่า ภาษาบรูมีเพียงภาษาพูด แต่ไม่มีภาษาเขียน วิธีการถ่ายถอดก็ใช้วิธีจดจำจากพ่อแม่ และนำมาถ่ายทอดต่อกันเป็นรุ่นๆ
จึงได้คิดรวบรวมทำเป็นพจนานุกรมฉบับภาษาบรู เพื่ออนุรักษ์ภาษาถิ่นสมัยโบราณไว้เป็นหลักฐาน พร้อมใช้สื่อภาษากับคนนอกหมู่บ้านให้เข้าใจกันได้ด้วย เพราะจากที่ชนเผ่าบรูดำรงอารยธรรมของชนเผ่ามาได้อย่างยาวนาน ทำให้กลายเป็นจุดขายที่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจแวะเวียนเข้ามาสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายปีหนึ่งหมายหมื่นคน
พร้อมกับได้ขออนุมัติศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดทำพจนานุกรมแบ่งหมวดหมู่เป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาบรู ซึ่งมีความหมายเดียวกัน แต่มีการออกเสียงพูดที่ต่างกัน
เช่นคำทักทายในตอนเช้าที่ภาษาอังกฤษออกเสียงว่า กุด-มอร์นิง ส่วนภาษาไทยคือ สวัสดีครับ/ค่ะ ส่วนภาษาบรูจะออกเสียงว่า "ตอนแตติ๊ก" และในคำทักทาย ซึ่งภาษาไทยไม่นิยมแบ่งเป็นช่วงเช้า บ่าย หรือค่ำ แต่ภาษาบรูมีการแบ่งไว้เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ โดยการทักทายช่วงบ่ายที่ภาษาอังกฤษออกเสียงว่า กุด-อาฟทะนูน ภาษาบรูก็จะออกเสียงว่า "ตอนตะไง" เช่นคำทักทายในตอนค่ำภาษาบรูก็ออกเสียงว่า "ตอนสะเดา" และภาษาอังกฤษออกเสียงว่า กุด-อีฟนิง
ขณะเดียวกันในบางคำที่ภาษาบรูไม่มีปรากฏไว้ เช่น หมอ ก็จะออกเสียงเป็นภาษาไทยคือ หมอ หรือคำว่ากำนันก็เช่นกัน ซึ่งแสดงว่าในอดีตเมื่อเกิดภาษาบรูใหม่ๆ ยังไม่มีผู้ประกอบอาชีพเป็นหมอ หรือกำนันในสมัยนั้น
การรวบรวมจัดทำเป็นพจนานุกรมฉบับภาษาบรู อาจารย์อุกฤษฏ์ได้เลือกคัดรวบรวมเฉพาะคำที่มีความจำเป็นใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะมีเวลาใช้รวบรวมเพียงไม่กี่เดือน และต้องการให้ผู้ที่นำภาษาไปใช้ไม่เกิดความสับสนจนเกินไป รวมทั้งการจัดทำมีงบประมาณสนับสนุนไม่มาก
แต่อย่างน้อยการรวบรวมทำเป็นพจนานุกรมฉบับภาษาพูดของชนเผ่าบรู ก็ได้มีหลักฐานใช้ยืนยันความเป็นชนชาติที่มีภาษาพูดเป็นของตนเองของชาวบ้านท่าล้งและบ้านเวนบึก แห่งอำเภอโขงเจียม ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนใครในจังหวัดอุบลราชธานี