xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคลัง “ไม้พายยักษ์” คู่ชุมทางขนส่งแม่น้ำปิงในอดีตกลางเมืองตาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก – เปิดคลัง “ไม้พายยักษ์” เก่าแก่คู่ชุมชนชาวจีนโบราณกลางเมืองตาก เมืองท่าสำคัญในการขนส่งทางน้ำระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เผยบางอันยาวถึง 4 เมตร

ที่ จ.ตาก ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังบ้านเลขที่ 750 ถนนตากสิน ตำบลระแหง อำเภอเมือง จังหวัดตาก หลังรับแจ้งว่าพบไม้พายเรือขนาดยักษ์ อายุกว่า 130 ปี อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และได้พบกับนายคม กาญจนสุต อายุ 45 ปี เจ้าของบ้าน ที่พาเข้าเยี่ยมชมภายในบริเวณบ้านซึ่งเป็นบ้านทรงไทย ทำด้วยไม้สักทองทั้งหลังมีอายุกว่า 150 ปี สภาพเก่า และทรุดโทรม เนื่องจากผ่านกาลเวลามายาวนาน ซึ่งเจ้าของบ้านยังคงอนุรักษ์ไว้ โดยไม่มีการซ่อมแซม หรือดัดแปลงต่อเติมใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมกับนำไม้พายเรือขนาดต่างๆ ออกมาให้ชม

ไม้พายส่วนใหญ่ทำด้วยไม้สักทอง ผ่านการใช้งานมาอย่างโชกโชน บางอันมีขนาดใหญ่ วัดจากด้ามถึงปลายใบพายยาวกว่า 4 เมตร ใช้กับเรือทุกขนาด ตั้งแต่เรือพายขนาดเล็กจนถึงเรือเอี้ยมจุ๊น ถือว่าหาดูได้ยาก

นายคมเปิดเผยถึงที่มาของไม้พายโบราณให้ฟังว่า ในอดีตบริเวณที่อาศัยอยู่เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีนโบราณ และเป็นท่าเรือ ขนส่งสินค้าทางแม่น้ำปิงเป็นเส้นทางเดินเรือ จากกรุงเทพฯ ขึ้นไปจังหวัดเชียงใหม่ แต่ละวันจะมีเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่เรียกว่าเรือเอี่ยมจุ้นใช้คนพาย มาแวะเพื่อขนถ่ายสินค้าลงแถบนี้ และมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ถือเป็นย่านเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองในอดีตและมีชื่อเสียงของชาวเมืองตาก

ในยุคต่อมาการคมนาคมเริ่มเจริญขึ้น มีการใช้รถยนต์ขนส่งสินค้าที่สะดวกและรวดเร็วกว่าทางน้ำ ดังนั้น การขนส่งทางเรือจึงหายไปจากแม่น้ำปิง จึงมีอุปกรณ์เกี่ยวกับเรือเก็บไว้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะไม้พายเก็บรักษามาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวดมาถึงตนเป็นรุ่นหลาน ซึ่งจะมีไม้พายเรือที่เก็บรักษาไว้จำนวนมากเพื่อเก็บอนุรักษ์ไว้ เพราะนับวันจะสูญหายไปตามกาลเวลา

อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งมีประชาชน นักเรียน นักศึกษา มาขอเยี่ยมชมกัน และเคยมีพ่อค้ารับซื้อของเก่ามาขอซื้อให้ราคาสูง แต่ตนไม่ขายให้ เพราะต้องการอนุรักษ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ของบรรพบุรุษที่ได้สร้างหลักฐานให้กับครอบครัวในอดีต ที่สำคัญเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชุมชนแห่งนี้เคยเป็นท่าเรือ และชุมชนชาวจีนโบราณ

ปัจจุบันสภาพของชุมชนแห่งนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา มีถนนตัดผ่าน ลำน้ำปิงถูกถมเพื่อสร้างเมืองใหม่ ทำให้สภาพชุมชน ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตได้เปลี่ยนแปลงจนไม่เห็นสภาพเดิม

“สถานศึกษาใดต้องการชม หรือต้องการศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชุมชนชาวจีนโบราณก็สามารถมาเที่ยวชมได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น