ศูนย์ข่าวศรีราชา- โรงไฟฟ้าบางปะกง โชว์ผลการก่อสร้างเครื่องปั่นไฟพลังงานความร้อนร่วมขนาดยักษ์ ชุดที่ 5 ซึ่งคืบหน้าถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เผยเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ไฟมากขึ้น รองรับภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ลดการสูญเสียในระบบส่ง ขณะชาวบ้านกังขาด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เหตุใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติทำให้อุณหภูมิแม่น้ำบางปะกงเปลี่ยนส่งผลให้ปลาตาย
วันนี้ (3 ส.ค.) เวลา 10.30 น. นายไกรโชค ผลชีวิน ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมบางปะกง ชุดที่ 5 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมบางปะกง ชุดที่ 5 ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วถึงร้อยละ 30 ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างแล้วเสร็จทันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนมีนาคม 52 อย่างแน่นอน
สำหรับโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมบางปะกง ชุดที่ 5 นี้ ได้ก่อสร้างเพิ่มขึ้นในบริเวณพื้นที่ของโรงไฟฟ้าบางปะกงเดิม ซึ่งจะมีขนาดกำลังการผลิตมากเพิ่มขึ้นอีกถึง 725 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย เครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันแก๊สจำนวน 2 เครื่อง เครื่องผลิตไอน้ำแรงดันสูง จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำจำนวน 1 เครื่อง ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทย จากเดิมที่โรงไฟฟ้าบางปะกงมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 3,674.6 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าแห่งใหม่จึงมีความสามารถในการผลิตได้สูงถึง 5 พันล้านหน่วยต่อปี โดยใช้เงินทุนรัฐบาลที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจำนวน 16,740 ล้านบาท
ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุดใหม่แห่งนี้ ได้มีการบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ปี พ.ศ.2547-2558 หรือ POP 2004 เพื่อรองรับความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าของภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ที่มีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
การก่อสร้างได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ซึ่งมีจุดเด่นและความเหมาะสมของสถานที่ตั้ง ที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางการใช้ไฟฟ้า เนื่องจากบริเวณโดยรอบโรงไฟฟ้าแห่งนี้ มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่สูง ดังนั้น การมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่จะสามารถช่วยลดการลงทุน และความสูญเสียในระบบไฟฟ้าได้เป็นอย่างดีและยังช่วยลดปัญหาผลกระทบต่อชุมชนในเรื่องไฟตก-ไฟดับลงได้
ด้าน นายธนเดช จันทร์เกษม อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.บางปะกง กล่าวว่า ชาวบ้าน และชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้ายังมีข้อข้องใจสงสัยต่อโรงไฟฟ้าบางปะกงเป็นอย่างมาก เพราะหวั่นเกรงว่าการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่เพิ่มขึ้นมา จะยิ่งทำให้อุณหภูมิของน้ำในแม่น้ำบางปะกงสูงเพิ่มขึ้นอีก
ทั้งนี้ เพราะการผลิตไฟฟ้าระบบนี้ ต้องใช้น้ำจากแม่น้ำบางปะกงเข้าไปหล่อเย็นเพิ่มขึ้น ถึงเกือบแสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน (78,842 ลบม./วัน) เมื่อรวมกับการผลิตของเดิมที่มีอยู่ ที่ต้องใช้น้ำหล่อเย็นมากถึง 4 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ก็จะยิ่งเกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้น เหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมาเมื่อสิบปีที่แล้ว ที่เคยทำให้ปลาในแม่น้ำบางปะกงตายลอยเกลื่อนเป็นแพ กระชังปลาของเกษตรกรเสียหายเต็มแม่น้ำ
นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าบางปะกงยังไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับคนในพื้นที่เท่าที่ควร ซึ่งที่ผ่านมามีการจ้างแรงงาน เพื่อก่อให้เกิดรายได้ต่อคนพื้นที่น้อยมาก ประกอบกับก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อคนที่อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้า เพราะหากเกิดความผิดพาดแล้วเกิดก๊าซระเบิดขึ้นมาใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนในชุมชน