xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯขยายพื้นที่รับน้ำอ่างสียัดหนุนภาคอุตฯ-เกษตร-ท่องเที่ยวของ ตอ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมชลประทานเสริมแนวเขื่อนยางอ่างเก็บน้ำสียัด อ่างยักษ์ใหญ่ภาคตะวันออก เพิ่มพื้นที่ความจุการกักเก็บได้อีก 95 ล้านลูกบาศก์เมตร รองรับความต้องการใช้น้ำทั้งภาคเกษตร และอุตสาหกรรม ในฤดูแล้งปีหน้า

วันนี้ (24 ก.ค.) เวลา 09.00 น.นายระพีพัฒน์ นิโครธานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง 8 โครงการสียัด อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ในฤดูฝนปีนี้ทางโครงการอ่างเก็บน้ำสียัด ได้ทำการก่อสร้างฝายยางบนสันสปิลเวย์ (Spillway) หรือฝ่ายน้ำล้นของอาคารระบายน้ำ เพื่อขยายการกักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำสียัด จากเดิมที่ตัวอ่างเก็บน้ำมีความจุ 325 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบม.) เป็น 420 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อสนับสนุนพื้นที่การเกษตรจากเดิม 138,000 ไร่เป็น 182,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่รวม 9 อำเภอ ทั้งในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา และชลบุรี

รวมถึงสนับสนุนการส่งน้ำให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของภาคตะวันออกในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และระยอง ที่จะมีโครงการวางท่อส่งน้ำไปให้การสนับสนุนในอนาคต และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งขณะนี้ได้ทำการก่อสร้างเสริมแนวสันสปิลเวย์ ให้สูงขึ้นจากเดิมอีก 2 เมตรแล้วเสร็จด้วยงบประมาณจำนวน 120 ล้านบาท และสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกในปีนี้ได้เพิ่มขึ้นอีก 95 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยสันเขื่อนยางที่สร้างขึ้นจะมีอายุการใช้งาน 15 ปี

สำหรับโครงสร้างความแข็งแรงของแนวสันเขื่อนดินอ่างเก็บน้ำสียัดนั้นได้มีการทดสอบและสำรวจมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่ามีความแข็งแรงพอที่จะรองรับน้ำที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจากความจุเดิมได้อย่างไม่มีปัญหา และยืนยันว่า จะไม่มีการแตกร้าวหรือพังทลายของตัวเขื่อนอย่างแน่นอนในขณะที่มีการกักเก็บน้ำเต็มความจุ

นายระพีพัฒน์ กล่าวต่อว่า อ่างเก็บน้ำสียัด ถือเป็นอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกที่มีความจุเดิมมากถึง 325 ล้าน ลบ.ม.และเพิ่มเป็น 420 ลบ.ม.ในปีนี้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2543 ด้วยงบประมาณ 6,343 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 4,016 ล้านบาท ค่าจัดซื้อที่ดิน 2,327 ล้านบาท บนเนื้อที่ 55 ตารางกิโลเมตร จึงเชื่อว่าหลังการดำเนินการก่อสร้างคลองส่งน้ำพื้นที่เปิดใหม่อีก 3 โซน เสร็จสมบูรณ์ในปี 2552 จะช่วยลดปัญหาการแย่งชิงใช้น้ำ ทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมในฤดูแล้งได้
กำลังโหลดความคิดเห็น