xs
xsm
sm
md
lg

“ธีรภัทร์” ดัน “โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก” ผลิตพลังทดแทนในชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “ธีรภัทร์” เป็นประธานสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัย “โรงไฟฟ้าต้นแบบชีวมวลขนาดเล็ก” ที่โคราช เผยผลักดันให้สามารถนำไปใช้ผลิตพลังงานทดแทน หรือพลังงานทางเลือกได้จริงในชุมชน เพื่อประหยัดลดการพึ่งพานำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และใช้วัตถุดิบไม้โตเร็วในท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม พร้อมส่งเสริมการปลูกป่าไม้โตเร็วเป็นอาชีพการผลิตทางการเกษตรแนวใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงาน

วันนี้ (19 ก.ค.) ที่โรงแรมราชพฤกษ์แกรนด์โฮเทล อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัย เรื่อง “โรงไฟฟ้าต้นแบบชีวมวลขนาดเล็กสำหรับชุมชนแบบครบวงจร” ที่จัดขึ้น โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีนักวิจัย ผู้นำองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และนักวิชาการ เข้าร่วมจำนวนกว่า 500 คน

ทั้งนี้ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลผลงานวิจัย เพื่อขยายผลนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป และเพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของงานวิจัยพลังงานทดแทนทางเลือกของประเทศ และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจด้านแผนการผลิต และนโยบายด้านพลังงานชีวมวลของประเทศ รวมถึงเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่องานวิจัยและการพัฒนาต่อไป โดยการจัดสัมมนามีขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 ก.ค.นี้

นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการปลูกไม้โตเร็วประเภทยูคาลิปตัส กระถินเทพา กระถินณรงค์ ซึ่งไม้เหล่านี้ นอกจากจะเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมกระดาษ และเยื่อกระดาษสูงแล้ว ยังสามารถนำมาป้อนเข้าสู่กระบวนการเพื่อผลิตเป็นพลังงานชีวมวลได้อีกด้วย

ประกอบกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศไทย ปี 2546-2554 กำหนดให้มีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มจาก 0.5% ของพลังงานทั้งหมดในปัจจุบันเป็น 8% รวมทั้งตั้งเป้าว่าในปี 2554 ไทยจะต้องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 1,700 เมกะวัตต์

การศึกษาวิจัยและสร้างต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กสำหรับชุมชนแบบครบวงจร ขนาด 100 KW ที่ มทส.ได้ทำการศึกษาวิจัยประสบความสำเร็จนั้น ถือเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก ซึ่งอนาคตพลังงานทางเลือกมีความจำเป็นอย่างมาก หากทำการวิจัยให้ต้นทุนการผลิตลดลงก็จะเป็นประโยชน์ ในด้านการประหยัดลดการพึ่งพานำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และสามารถนำวัตถุดิบภายในประเทศ หรือท้องถิ่น คือ ต้นไม้โตเร็ว มาใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะในชุมชนที่ยังมีปัญหาในเรื่องของปริมาณไฟฟ้าไม่เพียงพอ ซึ่งจะเป็นการช่วยทางด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศได้ด้วย

ขณะนี้นักวิจัยได้ทำการปลูกต้นไม้โตเร็วในแปลงต้นแบบ ของ มทส.จำนวนกว่า 200 ไร่ หากประสบความสำเร็จก็จะมีการส่งเสริมขยายไปปลูกพื้นที่อื่นๆ ในชนบทเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานทดแทนต่อไป

ส่วนการสนับสนุนด้านเงินทุนให้ชุมชน นำไปใช้ในการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในชุมชนนั้น รายละเอียดเรื่องนี้จะต้องประสานกับสำนักงานวิจัยแห่งชาติก่อน ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนงานวิจัยเพื่อเอามาใช้ในทางปฏิบัติต่อไป

ทางด้าน ดร.วีรชัย อาจหาญ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า สถานการณ์ด้านพลังงงานของโลกในปัจจุบันทุกฝ่าย ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน เพื่อลดการพึ่งพาและนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงต่างประเทศ ซึ่งพลังงานชีวมวลถือเป็นพลังงานทางเลือกหนึ่ง

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการศึกษาด้านพลังงานชีวมวล และต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กสำหรับชุมชนแบบครบวงจร โดยให้นักวิจัยจากมทส.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ทำวิจัย มุ่งเน้นการนำทรัพยากรภายในประเทศมาใช้เป็นพลังงานทดแทนผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล เนื่องจากประเทศไทยมีแหล่งเชื้อเพลิงชีวมวลมาก และมีศักยภาพในการปลูกไม้โตเร็ว เช่น ยูคาลิปตัส กระถินเทพา กระถินณรงค์ ซึ่งถือเป็นการผลิตทางการเกษตรแนวใหม่ที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงาน ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างครบวงจรเพื่อขยายผลให้ใช้ได้จริงในชุมชน

“มทส.มีผลงานและทำการวิจัยด้านพลังชีวมวลอย่างต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาวิจัยและสร้างต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลสำหรับชุมชนขนาด 100 KW และมีแปลงทดลองปลูกไม้โตเร็วเพื่อใช้เป็นพลังงานชีวมวลกว่า 200 ไร่ ผลการวิจัยด้านพลังงานชีวมวล เช่น การผลิตไฟฟ้าระดับชุมชนโดยใช้พลังงานจากไม้โตเร็ว การปลูกไม้โตเร็ว การใช้ประโยชน์ไม้โตเร็วเพื่อเป็นพลังงานชีวมวล เป็นต้น” ดร.วีรชัย กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น