ศูนย์ข่าวศรีราชา- ชาวบ้านชุมชนตะพงสุดทน IRPC จอมหมกเม็ด แฉผุดโครงการโรงไฟฟ้าติดรั้วชาวบ้าน แต่ไม่ยอมแจ้งก่อน แต่กลับเดินสายแจงชาวบ้านรอบนอกที่อยู่ไกลและโอกาสได้รับผลกระทบน้อยแทน แถมยังหลอกแกนนำชาวบ้านร่วมทำประชาพิจารณ์
นายขวัญ ธรรมสุนทร ประธานประชาคมหมู่บ้าน หมู่ 1 ตำบลตะพงใน อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กำลังจะดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า บริเวณตำบลตะพง ตรงข้ามกับโรงงานไออาร์พีซี หรือทีพีไอเดิม เนื้อที่ประมาณ 3,000-4,000 ไร่ แต่ชาวบ้านบริเวณตะพงหมู่ที่ 1 กลับไม่ทราบเรื่องเลย ว่าจะมีโครงการดังกล่าวกำลังจะเกิดขึ้นใกล้หมู่บ้าน โดยเพียงทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์และทีวีบางช่องเท่านั้น
ในความเป็นจริงแล้ว คณะผู้บริหารโครงการ ควรจะมาชี้แจงและทำความเข้าใจต่อชาวบ้านในพื้นที่ที่ใกล้โครงการที่กำลังจะก่อสร้าง เพราะอาจได้รับผลกระทบหลังเปิดเดือนเครื่อง แต่บริษัทกลับไปชี้แจงและทำความเข้าใจต่อผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่ ให้ทราบถึงผลดีและผลประโยชน์ที่จะได้รับ ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการเลย
นายขวัญ กล่าวอีกว่า บริษัทยืนยันว่า โครงการโรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้าง ไม่มีผลกระทบและปัญหาใดๆ เกิดขึ้นหากเปิดดำเนินการ หากเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมไม่กล้าเข้ามาชี้แจงต่อชาวบ้านที่อยู่ใกล้พื้นที่ ซึ่งมองแล้วไม่มีความโปร่งใสเท่าที่ควร โดยตนและชาวบ้าน จะเดินหน้าคัดค้านเพื่อไม่ให้โครงการนี้เกิดขึ้นจนถึงที่สุด
“ในความเป็นจริงแล้ว มีชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้เป็นจำนวนมากกว่า 700 คน แต่ชาวบ้านไม่ทราบเรื่องเลย โดยเฉพาะตนซึ่งมีรั้วบ้านติดกับโรงไฟฟ้า” นายขวัญ กล่าวและว่า
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตน ได้สอบถามถึงโครงการดังกล่าวต่อผู้บริหารบางคน แต่กลับได้รับคำตอบว่า ไม่จำเป็นต้องบอก หรือชี้แจงให้ประชาชนรับทราบ เพราะก่อสร้างในที่ดินของบริษัท เช่น การขุดสระน้ำในช่วงภัยแล้งที่ผ่านมา ได้รับการบอกว่าเป็นการขุดสระน้ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งในที่ดินของบริษัทเอกชน โดยนำกำลังทหารพร้อมเครื่องจักรมาขุดบ่อ โดยงบประมาณของรัฐบาล แต่หลังจากขุดสระเสร็จ ชาวบ้านกลับไม่ได้ใช้ ผลประโยชน์ที่ได้รับกลับไปตกที่บริษัท เพราะเป็นที่ดินของบริษัท หากชาวบ้านจะเข้าไปใช้ประโยชน์จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซึ่งปัจจุบันสระน้ำดังกล่าวเป็นการเตรียมน้ำไว้รองรับโครงการโรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้น
ด้านนายจตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ เลขานุการชุมชนแหลมเมือง กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้เชิญแกนนำชาวบ้านในหลายพื้นที่เข้าไปเยี่ยมชมโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี เพื่อให้ดูระบบบำบัดน้ำเสีย โดยนำรถตู้ของโรงงานไปรับถึงบ้าน แต่เมื่อถึงโครงการกลับให้ผู้นำชุมชนไปรวมกันที่ห้องประชุม พร้อมแจกใบสอบถามความคิดเห็น และมีพระสงฆ์มาเทศนาให้ชาวบ้านได้ฟังโดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องมาศึกษาดูงานตามที่โรงงานแจ้งไว้
นอกจากนั้น ใบสอบถามความคิดเห็น ก็ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี ซึ่งในความเป็นจริงกลับนำไปเป็นส่วนประกอบการทำประชาพิจารณ์ เสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบ ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบให้มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไออาร์พีซีในขณะนี้
“บริษัท ไออาร์พีซี พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้น เช่น ให้เงินสนับสนุนการนำกระแสไฟฟ้าเข้าไปยังหมู่บ้าน ทั้งๆ ที่อดีตที่ผ่านมาเคยเสนอให้ช่วยเหลือแล้ว แต่ไม่ดำเนินการ ตอนนี้กลับอนุมัติอย่างรีบเร่ง, ให้เงินกองทุนในการฟื้นฟูแม่น้ำระยอง, ให้ลูกหลานผู้นำชุมชนเป็นพนักงานของบริษัท, โครงการพาผู้นำชุมชนไปท่องเที่ยวต่างประเทศ และให้ชาวบ้านเป็นพนักงานประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้าน โดยไม่ต้องเข้าทำงานในบริษัท เพียงแต่อยู่บ้านเฉย ๆก็เป็นพนักงานของบริษัท และยังมีอีกหลายกลยุทธ์ ที่บริษัททำเพื่อต้องการให้โรงไฟฟ้าเกิดขึ้นให้ได้ โดยไม่มีใครคัดค้าน”
นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินการของโรงไฟฟ้า ไออาร์พีซี ระยอง มีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อนำผลดังกล่าวส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่ออนุมัติให้มีการก่อสร้างต่อไป ดังนั้น ในช่วงนี้จึงต้องเร่งทำความเข้าใจต่อชาวบ้านและมอบผลประโยชน์ต่างๆ ให้แก่ชาวบ้าน เพื่อให้ยอมรับโครงการนี้ และผ่านความเห็นชอบจนสามารถก่อสร้างได้ ซึ่งเรื่องนี้มีผู้นำชุมชนหลายแห่งรับเงื่อนไข และบางส่วนก็ไม่ยอมรับเงื่อนไข เพราะทราบว่าผลกระทบที่จะได้รับในอนาคต มีมากกว่าผลประโยชน์ที่โรงงานมอบให้ในช่วงนี้หลายร้อยเท่า
อนึ่ง โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี จำนวน 2 ยูนิตขนาด 1,600 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินนำเข้าเป็นเชื้อเพลิงในพื้นที่ของไออาร์พีซี ที่ จังหวัดระยอง ใช้เงินลงทุนประมาณ 56,000 ล้านบาท (คำนวณที่ 1 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 35 ล้านบาท) โดยคาดว่าจะยื่นข้อเสนอได้ภายในเดือนตุลาคม นี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำอีไอเอ และเตรียมที่จะวางสายพานลำเลียงถ่านหินไปที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่มีพื้นที่ว่างเปล่าอยู่จำนวน 4,000 ไร่
ทั้งนี้ ไออาร์พีซี มีความมั่นใจว่า จะได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพราะหากก่อสร้างไม่ได้ คงจะไม่มีรายใดสามารถทำได้เนื่องจาก ไออาร์พีซีมีความพร้อมในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างจากชุมชนมีรัศมีกว้างกว่า 3 กิโลเมตร มีท่าเรือน้ำลึกขนถ่ายถ่านหิน อีกทั้งกระทรวงพลังงานต้องการให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น เนื่องจากขณะนี้ประเทศใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า ในสัดส่วนที่สูงกว่า 70% แล้ว ที่สำคัญเชื่อมั่นว่าประชาชนจะให้การสนับสนุน เพราะจะมีเงินจ่ายเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าที่ต้องจ่ายในอัตรา 2 สตางค์ต่อหน่วย หรือกว่า 200 ล้านบาทต่อปี