แพร่ – ชาวบ้านฮือต้านผู้ว่าฯเมืองแพร่ เปิดทางนายทุนทำเหมืองในเขตป่าชุมชน ย้ำคนในชุมชนร่วมกันรักษาป่าแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมซ้ำซากมานานกว่าทศวรรษ กลับมีการอนุมัติให้นายทุนเข้ามาทำเหมืองหน้าตาเฉย โดยไม่ผ่านเวทีประชาคม
รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่แจ้งว่า สาเหตุที่ชาวบ้านจำนวน 300 คนจากหมู่ 3 ต.บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ นำโดยนายบุญเริง วงศ์เวียน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.บ้านปิน อ.ลอง ไปรวมตัวกันที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านปินเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.50 ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้นายอธิคม สุพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ หยุดการอนุญาตออกประธานบัตรทำเหมืองแร่วูลแฟลม พื้นที่ใหม่ที่ดอยโง้ม บริเวณห้วยแม่ยาก ป่าสงวนแห่งชาติแม่ลาน - แม่กาง ต.บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ จำนวน 145 ไร่ โดยเด็ดขาด เนื่องจากประทานบัตรดังกล่าวทับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของชุมชน
หลังจากชาวบ้านมารวมตัวกันที่หน้า อบต.บ้านปิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ นายเจษฎา พันสภา นักวิชาการป่าไม้ 7 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ลำปาง ที่รับผิดชอบพื้นที่ป่าในบริเวณดังกล่าว,นายทรงศักดิ์ พิริยะคุณทร นายอำเภอลอง, นายสมศักดิ์ วงศ์หลวง นายก อบต.บ้านปิน พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าร่วมสังเกตการณ์ ได้เดินทางเข้าพื้นที่พร้อมด้วยตัวแทนบริษัทเอสซีไมนิ่ง จำกัด คือ นายวรวิทย์ ตันสงวนวงษ์ ผู้จัดการในพื้นที่ ผู้ได้รับสัมปทานให้ขุดแร่ในป่าชุมชนของชาวบ้าน เข้าร่วมประชุมกับชาวบ้านทั้งหมดในห้องประชุม อบต.บ้านปิน
ผลการเจรจาชาวบ้านยังยืนยันที่จะรักษาป่าในบริเวณที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ให้ประทานบัตรและให้ระงับประทานบัตรเนื่องจากป่าที่รักษามาถึง 11 ปียังคงความอุดมสมบูรณ์และเป็นต้นไม้มีค่าเป็นพื้นที่ต้นน้ำของชุมชนอีกด้วย
การประชุมไม่สามารถหาข้อยุติได้ ในที่สุดมีการตั้งกรรมการ 4 ฝ่ายเดินป่าเข้าพิสูจน์พื้นที่ว่าเป็นจริงอย่างที่ชาวบ้านกล่าวอ้างหรือไม่ โดยมีตัวแทนป่าไม้-อบต.บ้านปิน ตัวแทนบริษัท และตัวแทนชาวบ้าน เข้าสำรวจป่าพร้อมๆ กัน แล้วค่อยมีการตัดสินใจ ชาวบ้านจึงยอมที่จะทำการพิสูจน์ ซึ่งยังไม่มีการระบุวันในการเข้าเดินป่าดังกล่าวเนื่องจากปัญหาฝนตก
นายบุญเริง วงศ์เวียน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.บ้านปิน เปิดเผยว่า ป่าชุมชนของชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์มานานกว่า 11 ปีแล้ว สาเหตุสำคัญเนื่องจากปัญหาน้ำแล้ง และน้ำท่วม ติดต่อกันทำให้ชาวบ้านให้ความสนใจและร่วมกันอนุรักษ์ป่าบริเวณห้วยแม่ยาก ซึ่งในปัจจุบันความอุดมสมบูรณ์กลับมาแล้ว แต่ทางจังหวัดกลับไปให้สัมปทานเหมืองแร่ในที่สุดก็ต้องตัดป่าทิ้ง ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย
นายสมาน จากสมัย อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 78 หมู่ 3 ต.บ้านปิน เปิดเผยว่า บริเวณที่มีการขุดแร่คือดอยโง้ม เป็นแร่วูลแฟลม มีผู้ขอสัมปทาน 2 รายคือ บริษัทแพร่ศิลาจำกัด กับบริษัท เอสซี ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งบริษัทแพร่ศิลาถ้ามีการดำเนินการใดๆ จะขอความเห็นจากประชาคมหมู่บ้าน แต่บริษัทเอสซี ไม่มีการขอความเห็นชาวบ้าน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการไม่เคารพชุมชน และอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ ในความจริงแล้วชาวบ้านไม่ต้องการให้ทำเหมืองอีกแล้วเพราะมีแต่ผลเสียกับทรัพยากรน้ำในชุมชน
นายวรวิทย์ ตันสงวนวงษ์ ผู้จัดการโครงการเหมืองแร่วูลแฟลม กล่าวว่า เหมืองแร่แห่งนี้ทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ประทานบัตรครั้งแรกหมดไปแล้ว ได้มีการหยุดกิจการไปนาน 6 ปีแล้วกลับมาทำใหม่ และทำได้ 5 ปีเศษแล้ว การที่มีการขออนุญาตใหม่นั้นเป็นการขอเพื่อทำฝายดักตะกอนไม่ให้ไหลลงไปตามลำห้วย
สำหรับการขอพื้นที่ใหม่ดังกล่าวตามหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เล่มที่ 04 ฉบับที่ 04 อาศัยอำนาจตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พระราชกฤษฎีกาโอนกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรฯไปเป็นกรมป่าไม้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการปรับปรุงอำนาจหน้าที่และกิจการของกรมทรัพยากร เมื่อวันที่ 2 เม.ย.50 อนุญาตให้นายสมชาย ยอดธง อายุ 48 ปี สัญชาติไทย บ้านเลขที่ 1013 พหลโยธิน สามเสนใน เขตพญาไท กทม. เข้าทำประโยชน์อยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ลาน และป่าแม่กาง ในท้องที่ตำบบบ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ ให้เป็นสถานที่เก็บน้ำขุ่นข้นและดินมูลทรายนอกเขตเหมืองแร่จำนวน 145 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา เมื่อวันที่ 24 พ.ค.50 โดยนายอธิคม สุพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นผู้อนุญาตดังกล่าว