xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านสามหมอกรับสารพิษ “โบทูลินัม” หวิดดับยกครัว/แพทย์เตือนกินอาหารถูกสุขลักษณะหวั่นเชื้อปนเปื้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – พ่อแม่ลูกเมืองสามหมอกหวิดดับ หลังกินเนื้อหมูป่าหมักที่มีสารพิษ “โบทูลินัม” จากเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้ชาวบ้านที่จังหวัดน่านล้มป่วยนับร้อยหลังกินหน่อไม้ปี๊บเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่แพทย์เตือนประชาชน เพิ่มความระมัดระวังต้องรับประทานอาหารที่ปรุงสุกแล้วทุกครั้ง

วันนี้ (19 มิ.ย.) คณะแพทย์โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ แถลงข่าวกรณีเด็กชายอายุ 7 ปี และพ่อแม่ จากอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2550 ด้วยอาการป่วยโรคอัมพาตจากสารพิษโบทูลินัมในอาหาร

ล่าสุด แพทย์ได้ทำการรักษาจนอาการปลอดภัยแล้ว แต่ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด จนกว่าจะหายเป็นปกติ คาดว่า จะใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน เป็นอย่างน้อย โดยสารพิษที่ทำให้เกิดการป่วยในครั้งนี้เป็นชนิดเดียวกันกับกรณีการบริโภคหน่อไม้ปี๊บของชาวบ้าน ที่จังหวัดน่าน เมื่อปี 2549 แล้วทำให้มีผู้ป่วยจำนวน 167 คน

นายแพทย์ชัชวาล ศิรินิรันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ เปิดเผยว่า โรคดังกล่าวเกิดจากสารพิษโบทูลินัม ที่สร้างขึ้นจากแบคทีเรียชนิดไม่อาศัยออกซิเจนที่เรียกว่า “คลอสติเดียม โบทูลิซึม” ที่อยู่ตามพื้นดินและโคลนตม หากปนเปื้อนอาหารไปอยู่ในภาวะที่ไร้ออกซิเจน จำนวนเชื้อจะเพิ่มขึ้นและสร้างสารพิษออกมาจำนวนมากภายในเวลาอันรวดเร็ว

ทั้งนี้ หากสารพิษเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดอาการภายใน 12-36 ชั่วโมง ด้วยการทำลายระบบประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อ ในการเคลื่อนไหวทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต ซึ่งอาการจะเริ่มจากอ่อนเพลีย วิงเวียน ตาพล่ามัว หนังตาตก ปากแห้ง กลืนและพูดลำบาก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตามด้วยอาการกล้ามเนื้อเป็นอัมพาตอ่อนแรง รวมทั้งทำให้หายใจติดขัดและเสียชีวิตได้

กรณีผู้ป่วยทั้ง 3 คน ที่เข้ารับการรักษาในครั้งนี้ พบว่า ทั้งครอบครัวได้นำเนื้อหมูป่าที่ล่าได้มาหมักใส่ไว้ในภาชนะมิดชิดเป็นเวลา 3 วัน ก่อนที่จะนำออกมาทำอาหารรับประทานกันโดยไม่ได้ปรุงสุก จนกระทั่งล้มป่วยในที่สุด สาเหตุจึงคาดว่าน่าจะมาจากหมูป่าที่ล่ามาได้มีเชื้อแบคทีเรีย “คลอสติเดียม โบทูลิซึม” ปนเปื้อนอยู่ เมื่อนำไปหมักในภาชนะมิดชิด จึงเหมาะสมต่อการทำให้เชื้อเพิ่มจำนวนและสร้างสารพิษขึ้นมาจำนวนมาก ซึ่งเมื่อรับประทานหมูป่าดังกล่าวเข้าไปจึงล้มป่วย แต่ยังโชคดีที่เข้ารับการรักษาตัวทันท่วงที ทำให้แพทย์สามารถทำการรักษาให้ความช่วยเหลือไว้ได้

ขณะที่ นายแพทย์เจษฎา จิตตภิรมย์ หัวหน้าฝ่ายเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าวว่า โรคดังกล่าวนี้ เป็นโรคที่ไม่ค่อยพบบ่อยครั้งนัก อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีผู้ป่วยหากไม่ได้รับเข้ารับการรักษาจากแพทย์โดยเร็ว ก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิตสูง

ทั้งนี้ การป้องกันตัวเองไม่ให้ป่วยด้วยโรคดังกล่าว แนะนำประชาชนว่าควรจะต้องรับประทานอาหารที่ปรุงสุกทุกครั้ง เพราะเชื้อดังกล่าวจะตายหากได้รับความร้อนที่มากเพียงพอ นอกจากนี้ การรับประทานอาหารกระป๋อง ก็ควรเพิ่มความระมัดระวังด้วยเช่นกัน ด้วยการอ่านสลากข้างกระป๋องและสังเกตกระป๋องที่อยู่ในสภาพดี รวมทั้งปรุงด้วยการผ่านความร้อนอีกครั้ง เพื่อความปลอดภัย

ด้าน แพทย์หญิงสุภารัชต์ กาญจนะวณิชย์ กุมารแพทย์โรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าวว่า เชื้อดังกล่าวมีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว การจะไปทำการฆ่าเชื้อที่มีอยู่ในธรรมชาติทั้งหมดเป็นไปได้ยากมาก ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคนี้ก็คือ ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีการกินให้ถูกสุขลักษณะ หากจะทำการถนอมอาหารต้องใช้ความร้อนที่เพียงพอและสะอาด

อนึ่ง สำหรับโรคดังกล่าวในประเทศไทยมีรายงานการระบาดครั้งแรกที่จังหวัดน่านเมื่อ พ.ศ.2541 และการระบาดครั้งล่าสุดเกิดขึ้นที่จังหวัดน่านอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2549 มีสาเหตุมาจากการรับประทานหน่อไม้ดิบอัดปี๊บที่ไม่ได้รับการต้ม มีผู้ป่วย 167 คน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น