xs
xsm
sm
md
lg

เหลือเชื่อ "วงจรปิดราคาเป็นล้าน!" บันทึกภาพคนร้ายบึ้มหาดใหญ่ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงาน
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่


นับแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบสะเทือนเมืองธุรกิจภาคใต้อย่าง อ.หาดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2548 เรื่อยมาจนถึง 16 กันยายน 2549 จนกระทั่งเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อ 27 พฤษภาคม 2550 สิ่งที่เป็นความหวังมากที่สุดในการติดตามจับกุมคนร้าย และป้องปรามไม่ให้กลุ่มคนร้ายกลับมาก่อเหตุในลักษณะเดิมๆ ได้อีก คือ "ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด" หรือ "CCTV"

นอกเหนือจากภาคเอกชนที่มีติดตั้งกันเป็นบางเจ้าแล้ว หน่วยงานหลักๆ ที่ต้องมีหน้าที่จัดหาระบบกล้องวงจรปิดเพื่อความมั่นคงของประชาชนในพื้นที่ คือ เทศบาลนครหาดใหญ่ อบจ.สงขลา และตำรวจภูธร ซึ่งดูแลรักษาพื้นที่ ต่างก็ออกมาของบประมาณจากรัฐบาลผ่านทางผู้สื่อข่าวกันแทบจะทุกครั้งหลังจากเกิดเหตุร้าย

ประเด็นเรื่องงบประมาณดูเหมือนจะเป็นปัญหาหลัก ที่ทำให้จนถึงวันนี้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เพื่อความมั่นคงของเมืองหลวงภาคใต้แห่งนี้ ยังคงไม่คืบหน้าไปถึงไหนเลย ทั้งๆ ที่ประชาชนต่างก็ตั้งความหวังในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือ รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต่างก็มีท่าทีไม่ใส่ใจเรื่องนี้เท่าที่ควร เหมือนกับจะไม่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี ที่อารยประเทศล้วนนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันภัยก่อการร้าย หรือหากจะคิดว่าแค่บุคลากรด้านป้องกัน ปราบปราม ก็เพียงพอแล้วไม่ต้องจัดหาเครื่องมือเพิ่มให้สิ้นเปลืองงบประมาณ เหตุการณ์ที่ผ่านๆ มาก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าบุคลากรก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากมายอะไรนัก

ดูจากเหตุระเบิดเมื่อ 16 กันยายน 2549 ที่ก่อนหน้านั้น 1 - 2 วันมีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงมาตั้งจุดสกัดดูแลความเรียบร้อยบริเวณหน้าห้างโอเดียน ใจกลางเมืองหาดใหญ่ เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าอาจมีการก่อเหตุร้าย ซึ่งการตั้งด่านตรวจดังกล่าว เป็นไปอย่างผักชีโรยหน้าแบบสุดๆ เพราะหลังจากที่ช่างภาพสื่อแขนงต่างๆ ทำข่าวบันทึกภาพกันเสร็จ เจ้าหน้าที่ทุกนายก็เก็บของขึ้นรถกลับโรงพักทันที รวมแล้วมีการตั้งด่านตรวจพอเป็นพิธีแค่ 30 นาทีเท่านั้น

ที่เจ็บปวดกว่านั้น คือวันถัดมาคนร้ายเลือกวางระเบิดตรงจุดนั้นพอดิบพอดี เหมือนกับจงใจจะเยาะเย้ยการทำงานของเจ้าหน้าที่ อย่างนี้แล้วประชาชนจะฝากความหวังไว้กับใคร

นอกจากเรื่องงบประมาณและประสิทธิภาพของบุคลากรแล้ว ยังมีปัญหาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นปัญหาระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 หน่วยงาน ที่ต่างก็มุ่งประชาสัมพันธ์ผลงานโครงการติดตั้งวงจรปิดของตนเอง จนเกิดการขัดแข้งขัดขากันขึ้น ดังที่ปรากฏเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้

"ของเทศบาลฯเป็นกล้องที่ใช้ในงานจราจร ราคาตัวละไม่กี่พันบาท หลังเกิดเหตุระเบิดรอบ 2 ตำรวจไปเอาภาพมาดูเลยดูไม่เห็น เพราะใช้ดูเฉพาะการจราจรในเวลากลางวันเท่านั้น ทำให้ไม่มีเบาะแสที่จะจับตัวคนร้าย" นายนวพล บุญญามณี นายก อบจ.สงขลา ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการรายวัน" ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2550

"ผมไม่อยากตอบโต้กับใครในเรื่องนี้ แต่มั่นใจว่ากล้องที่จัดหามามีคุณภาพแน่นอน โดยเป็นกล้องของยุโรปราคาตกตัวละกว่า 1 หมื่นบาท กล้องตัวนี้กลางคืนก็มองเห็นใครอยากรู้ก็มาดูเอง รอให้โครงการเสร็จก่อนแล้วค่อยมาดู"นายพฤกษ์ พัฒโน รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการรายวัน" ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2550

แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพในการแก้ปัญหาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นายก อบจ.สงขลา ยังเคยยืนยันว่า สำหรับกล้องที่อบจ.ให้งบฯ 10 ล้านบาทกับตำรวจไปจัดซื้อมานั้นเป็นคนละประเภทกับกล้องที่เทศบาลนครหาดใหญ่จัดหามาใช้ เนื่องจากกล้องที่จัดหามานั้นเน้นให้ความสำคัญกับการติดตามเบาะแสด้านความมั่นคงเป็นหลัก เป็นกล้องที่มีระบบอินฟราเรด มองเห็นได้ในกลางคืน สามารถแพนและซูมได้ 360 องศา แต่เป็นกล้องที่มีราคาสูงร่วม 1 แสนบาทต่อตัวจึงทำให้ติดตั้งได้เพียง 8-9 จุดเท่านั้น แต่ก็ยังไม่เคยปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เบาะแสคนร้ายจากกล้องที่ อบจ.ให้งบฯสนับสนุน แต่อย่างใด

เช่นเดียวกัน เทศบาลนครหาดใหญ่ใช้งบประมาณ 9 ล้านบาททำการจัดจ้างบริษัท ซี.ที.เทเลคอม จำกัด ติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดยี่ห้อ AXIS เป็นกล้องที่นำเข้าจากสวีเดน โดยจุดเด่นของระบบนี้ คือเป็นกล้องดิจิตอลแบบเชื่อมต่อด้วยเคเบิลใยแก้วนำแสงหรือไฟเบอร์ออปติก สามารถต่อพ่วงกับระบบเครือข่ายอื่นได้ดี มีความคล่องตัว แม้จะถูกตัดสายไฟเบอร์ออปติก ระบบก็สามารถทวนสัญญาณเก็บภาพบันทึกไว้ในฮาร์ดดิสก์ได้

โดยมีเครื่องคอมพิวเตอร์ 4 เครื่อง เครื่องสำรองไฟฟ้ากรณีไฟดับ 1 เครื่อง ซอฟต์แวร์ควบคุมกล้องวงจรปิดและบันทึกภาพจำนวน 4 ชุด ซึ่งระบบกล้องวงจรปิดในโครงการนี้ประกอบด้วยกล้องวงจรปิด IP Speed Dome สำหรับภายนอกอาคารจำนวน 10 ตัว เป็นกล้องที่สามารถซูมภาพได้ไม่น้อยกว่า 15 เท่าแบบ optical และ 12 เท่าแบบดิจิตอลหมุนได้ 360 องศา

และกล้องวงจรปิด IP Fixed สำหรับภายในและภายนอกอาคารภาพที่บันทึกมีขนาดไม่น้อยกว่า 480x360 pixels อัตราการบันทึกภาพ 6 ภาพต่อวินาที และสามารถบันทึกได้ไม่น้อยกว่า 15 วัน รองรับแสงไฟมืดได้ และมีเครื่องสำรองไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 30 นาทีเมื่อกระแสไฟฟ้าขัดข้องสามารถส่งภาพและข้อความผ่านอีเมลเมื่อเกิดเหตุการณ์ สามารถเลือกขนาดภาพ 640x480,480x360,320x240 และยังมีระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวในตัว สามารถทำการแจ้งเตือนผ่านทางอีเมลเมื่อเกิด video motion detection ได้และบันทึกภาพเก็บไว้ในแผ่นดิสก์ได้ สามารถแพนกล้องได้โดยใช้เมาท์ และสามารถดูภาพผ่านระบบเครือข่ายพร้อมกันได้ 16 กล้อง มีหน่วยเก็บข้อมูลไม่น้อยกว่า 1,000 GB รวมกล้องในโครงการนี้ 100 ตัว

ระบบดังกล่าวถือว่ามีประสิทธิภาพค่อนข้างดีสำหรับการใช้งานด้านความมั่นคง และอาชญากรรมต่างๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้าน CCTV เคยตั้งข้อสังเกตไปแล้วว่าปัญหาที่ทำให้กล้องวงจรปิดระบบนี้ ยังไม่สามารถบันทึกภาพคนร้ายได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งนอกเหนือจากประสิทธิภาพของกล้อง และการให้แสงสว่างในรัศมีของกล้องแล้ว ส่วนสำคัญอยู่ที่การตั้งอัตราการบันทึกภาพ

ทางเทคนิคนั้นอัตราการบันทึกภาพจะนับเป็นเฟรมต่อวินาที ซึ่งการตั้งค่าการบันทึกภาพนี้ จะมีผลต่อความต่อเนื่องของภาพ เหมือนกับกล้องถ่ายภาพยนตร์ ซึ่งมักจะตั้งไว้ที่ 30 เฟรมต่อวินาที ทำให้ภาพที่ออกมามีความต่อเนื่องและเป็นเรียลไทม์

ส่วนกล้องวงจรปิดสามารถตั้งได้ตั้งแต่ 5 -25 เฟรมต่อวินาที หรือจะตั้ง 100 เฟรมต่อวินาทีเลยก็ได้ การตั้งเฟรมภาพนี้จะมีผลต่อเครื่องบันทึกภาพ หากตั้งไว้สูง เครื่องบันทึกก็จะเต็มเร็วขึ้น ยิ่งมีกล้องหลายตัวก็จะยิ่งเต็มเร็ว เมื่อเต็มเร็วระยะในการแบ็กอัปก็จะถี่ขึ้นด้วย และหากตั้งเฟรมต่ำผลที่ได้คือภาพจะไม่สมูท หากเป้าหมายเคลื่อนไหวเร็ว ก็จะจับภาพได้แค่เฟรมเดียว ในระยะ 10 เมตร จะเห็นภาพเพียง 2 ครั้งเท่านั้น

ในส่วนของกระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ที่เทศบาลนครหาดใหญ่นำมาใช้ นายศรีรัฐ ตรีรัญเพ็ชร หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโยธา เทศบาลนครหาดใหญ่ ระบุว่าตั้งอัตราการบันทึกภพไว้ที่ 6 เฟรมต่อวินาที ซึ่งถือว่าต่ำมาก ถามว่าภาพเพียงแค่นี้จะใช้สำหรับสืบหาเบาะแสของคนร้ายที่ต้องการข้อมูลอย่างละเอียดได้หรือ

ความจริงหากทางเทศบาลนครหาดใหญ่ จะตั้งอัตราการบันทึกภาพไว้ที่ 20 - 30 เฟรมต่อวินาทีก็ยังทำได้ เพียงแต่จะทำให้ฮาร์ดดิสก์ที่บันทึกภาพเต็มเร็วขึ้น และอาจจะต้องแบ็กอัปข้อมูลเก็บไว้ทุกวัน จากเดิมที่ 15 วันถึงจะมีการแบ็กอัปข้อมูลสักครั้ง แต่นั่นก็ดีกว่าไม่ใช่หรือหากจะทำให้เทศบาลฯสามารถใช้ประโยชน์จากกล้องวงจรปิดที่ใช้งบประมาณไปนับร้อยล้านบาทให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถสืบหาเบาะแสคนร้าย มอบให้หน่วยความมั่นคงดำเนินการติดตามจับกุม สร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีที่ต้องได้รับความเดือดร้อนจากการก่อเหตุร้ายอยู่ทุกวันนี้

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการวางรากฐานรองรับอนาคต ควรหรือไม่ที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. อบจ.หรือเทศบาล และองค์กรภาครัฐ ควรหันหน้าเข้าหากันแล้วเริ่มศึกษาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีระบบกล้องวงจรปิดมากขึ้น อาจจะมีการสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้มาดูแลโดยตรง แม้จะต้องเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้ก็เชื่อว่ามีเหตุ มีผล เพียงพอที่ประชาชนจะรับฟังได้

หลังเกิดเหตุการณ์ระเบิด 7 จุด ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2550 สิ่งแรกที่ประชาชนตั้งความหวังว่าจะสืบหาเบาะแสของผู้ก่อความวุ่นวายได้นั้น ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เป็นกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ซึ่งผลที่ออกมาน่าผิดหวังเมื่อเจ้าหน้าที่ระบุว่ากล้องไม่สามารถให้เบาะแสได้มากนัก และการให้สัมภาษณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องก็โยนไปที่ปัญหาเดิมๆ คือกล้องที่ติดตั้งไปแล้วยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ เนื่องจากงบประมาณมีน้อย และต้องติดตั้งในจุดที่เป็นชุมชนมีผู้คนพลุกพล่านก่อน

แล้วสำหรับที่เกิดเหตุบริเวณห้างฯบิ๊กซี โลตัส และ ย่านถนนศุภสารรังสรรค์ ไม่ได้เป็นแหล่งชุมชนที่มีผู้คนพลุกพล่านหรอกหรือ ก็ลองไปถามชาวหาดใหญ่ดู

ความจริงคงไม่ใช่เรื่องงบประมาณเพียงอย่างเดียวที่ยังขาดแคลน แต่ความสามัคคีร่วมแก้ปัญหา ความจริงใจต่อการแก้ปัญหา และองค์ความรู้ ต่างหาก ที่ดูเหมือนจะยังขาดแคลน และคงต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น