xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มต้านโรงไฟฟ้าราชบุรีลุกขึ้นสู้ - ลั่นผลกระทบอื้อไม่ให้โรงใหม่เกิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการออนไลน์ - กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าราชบุรีแฉเบื้องหลังเอ็กโก้ – ผู้ว่าฯ ปกปิดข้อมูลโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เผยไล่ซื้อที่ชาวบ้านทีละแปลงจนครบ 700 ไร่ ลั่นไม่ยอมให้โครงการใหม่เกิด เหตุราชบุรีมีโรงไฟฟ้ามากจนทำให้คุณภาพชีวิตย่ำแย่แต่ไม่มีใครเหลียวแล

นายกันจร เอี่ยมชื่น ตัวแทนกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าจอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เปิดเผยถึงการรวมตัวเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าราชบุรีในวันนี้ (15 พ.ค.) ว่า ทางขบวนชาวบ้านที่เตรียมเดินทางเข้ามายื่นหนังสือถึงพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในด้านพลังงานถูกบล็อกจากเจ้าหน้าที่ไม่ให้เดินทางเข้ามายังทำเนียบรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนที่สามารถเดินทางเข้ามายื่นหนังสือที่ทำเนียบฯ ได้ท่ามกลางการถ่วงเวลา ขวางกั้นจนกระทั่งคณะรัฐมนตรีเลิกประชุม จึงทำได้เพียงยื่นหนังสือไว้กับเจ้าหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์เท่านั้น

กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าฯ ให้ข้อมูลความเป็นมาของ แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซของ บ.ผลิตไฟฟ้าจำกัด (เอ็กโก) ว่า กระทั่งชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อต้านเพราะไม่ฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ ว่า ความเคลื่อนไหวของโรงไฟฟ้าฯ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2548 โดยเริ่มมีการซื้อที่ดินในหมู่ 4 ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ทีละแปลง จนได้ทั้งหมด เกือบ 700 ไร่ ในช่วงที่มีการซื้อที่ดินชาวบ้านไม่รู้ว่าเป็นการซื้อที่ดินเพื่อจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ มีนายหน้าเข้ามาซื้อเพื่อทำการเกษตร และต่อมาก็เอาไปขายให้บริษัท

ต่อมา ปี 2549 ตลอดปี นี้ บ.ผลิตไฟฟ้าจำกัด จัดพาผู้นำท้องถิ่นเช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. และชาวบ้านบางส่วนไปดูงานเป็นชุด ๆ ตลอดทั้งปี ที่โรงไฟฟ้าของ บ.ผลิตไฟฟ้าที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช และ จ.ระยอง ทำให้ชาวบ้านบางส่วนเริ่มสนใจว่าที่ดินที่ซื้อไว้น่าจะนำไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าจริง

จากนั้น ปี 2550 ช่วงเดือนมี.ค. มีเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของบ.ผลิตไฟฟ้าจำกัดเข้าไปให้ข้อมูลในสภา อบต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และเข้าไปให้ข้อมูลกับมูลนิธิวัดสวนแก้ว ซึ่งที่ตั้งวัดอยู่ติดกับที่ดินของบ.ผลิตไฟฟ้าที่ซื้อไว้

22 มี.ค. 2550 ชาวบ้านในต.ปากช่อง ประมาณ 300 คน ไปรวมตัวกันที่ที่ทำว่าการอำเภอปากช่องเพื่อขอพบนายอำเภอ นายครรลอง ยุทธชัย ยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายอำเภอชี้แจงว่าแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามีจริงหรือไม่อย่างไร แต่นายอำเภอไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ชาวบ้านจึงนัดกันว่าครบ 30 วัน จะมาฟังข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง

23 เม.ย. 2550 ชาวบ้านในอ.จอมบึง ประมาณกว่า 1,000 คน ได้รวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดราชบุรี เพื่อขอพบผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ดร.วงศ์สวัสดิ์ สวัสดิ์พาณิช ขอให้ชี้แจงว่าจะมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าในจ.ราชบุรีอย่างไร แต่ผู้ว่าชี้แจงว่าไม่รู้เรื่องการจะสร้างโรงไฟฟ้า ชาวบ้านมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ไม่ให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในอ.จอมบึง จ.ราชบุรี 2. ไม่ให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มในจ.ราชบุรี 3.ไม่ให้ก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในจ.ราชบุรี

28 เม.ย. 2550 ชาวบ้าน 500 คน ไปรวมกันที่วัดสูงเนิน ม. 4 ต.ปากช่อง เพื่อติดตามฟังการประชุมสภาอบต.ปากช่องซึ่งสภาอบต.ได้ลงมติไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใน ต.ปากช่อง

3 พ.ค. 2550 ที่ประชุมกำนัน,ผู้ใหญ่บ้านในต.ปากช่อง มีมติไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใน ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี

กลุ่มชาวบ้านในอำเภอจอมบึง ต้องการให้หยุดการประมูลโรงไฟฟ้าเสียแต่วันนี้เพราะการดำเนินการต่าง ๆ ในพื้นที่ดำเนินการไปโดยชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมรับรู้หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อแผนการก่อสร้างดังกล่าว จังหวัดราชบุรี มีโรงไฟฟ้ามากพอแล้ว ชาวสวนราชบุรีที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องตลอดวันตลอดคืนมา 4-5 ปี มีความเสียหายจากอากาศที่ร้อนขึ้น มลพิษทั้งทางอากาศและน้ำทำให้ชาวสวนที่เป็นญาติพี่น้องหรือเพื่อนบอกพวกเราว่าอย่าให้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกเลย คนในอำเภอจอมบึงเป็นเกษตรกรปลูกข้าว เพราะเห็ด ทำสวน เลี้ยงวัว ไม่ต้องการเจอมลพิษมากกว่านี้

นายกันจร กล่าวว่า โรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมเมื่อสร้างมลพิษ ก่อให้เกิดความเสียหายผู้เกี่ยวข้องก็ไม่เคยยอมรับ ดังนั้น ชาวจอมบึงไม่ต้องการเหมือนชาวพิกุลทอง, ดำเนินสะดวก หรือหลาย ๆ บ้านที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าราชบุรีทั้งของบ.ราชบุรีโฮลดิ้ง ทั้งของบ.ไตรเอนเนอยี่ ที่เจ้าของโรงไฟฟ้าไม่มีใครยอมรับความเสียหายที่ตนก่อขึ้น เมื่อมีการร้องเรียนก็ไปจ้างนักวิชาการทำรายงานสรุปว่าไม่มีมลพิษเกินมาตรฐาน เพื่อให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกชาวสวนต้องแก้ปัญหาของตัวเองเพราะผลผลิตลดน้อยลงหลังจากมีโรงไฟฟ้ารวมกันถึง 5,581 เมกกะวัตต์

“รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน ปล่อยให้บริษัทเอกชนดำเนินการในพื้นที่ด้วยตนเองอ้างว่าเป็นธุรกิจเสรี แต่ชาวบ้านเหมารถบัสเข้ามายื่นหนังสือคัดค้านในกรุงเทพ ฯ กลับถูกผู้ว่าขู่ว่าจะสั่งยกเลิกใบอนุญาตขนส่งของรถบัสที่มารับจ้างชาวบ้านเข้ากรุงเทพ ฯ จำกัดสิทธิชาวบ้านทุกอย่าง ระบบราชการเอื้อต่อบริษัทเอกชนที่มาประมูลสร้างโรงไฟฟ้าอย่างมาก ส่วนชาวบ้านถามนายอำเภอจอมบึงและผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ตอบว่าไม่รู้เรื่องอย่างเดียว ชาวจอมบึงเราไม่ยอมอีกต่อไปแล้ว”

ตัวแทนกลุ่มต่อต้านฯ ชี้ว่า บ.ผลิตไฟฟ้าจำกัด มีต่างชาติถือหุ้นเกินครึ่ง กำไรเขาก็ได้ไปแบ่งกันสบายมลพิษทิ้งให้เราชาวบ้าน เราขอบอกคำเดียวว่าไม่เอา เราขอเตือนกฟผ.ว่าอย่าเซ็นสัญญาซื้ อไฟฟ้ากับ บ.เอ็กโก เพราะท่านจะมาอ้างทีหลังว่ายกเลิกไม่ได้เหมือนตอนที่ชาวบ่อนอก-บ้านกรูด จ.ประจวบค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินพวก กฟผ.นี่แหละเป็นคนเซ็นสัญญาแล้วบอกว่ายกเลิกไม่ได้จึงต้องย้ายโรงไฟฟ้าที่บ้านกรูดมาราชบุรีส่วนโรงไฟฟ้าบ่อนอกย้ายไปแก่งคอยสระบุรี พอกันเสียทีสัญญาเสียเปรียบที่ประชาชนไม่เคยรู้เห็นด้วย

“หยุดโรงไฟฟ้าจอมบึง หยุดโรงไฟฟ้าใหม่ในจ.ราชบุรี หยุดโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หยุดสัญญาเสียเปรียบมัดมือชกชาวบ้าน” เป็นเป้าหมายในการเคลื่อนไหวของกลุ่มฯ

นายกันจร กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบที่โรงไฟฟ้าเดิม คือ น้ำดื่ม คือ เดิมรองน้ำฝนดื่ม แต่ตอนนี้ต้องซื้อน้ำขวดกิน และทำการเกษตรไม่ได้ เช่น มะม่วงไม่ติดลูก แถบจอมบึง ทำเห็ดเป็นอาชีพ รายได้หลายแสนบาทต่อวัน เห็ดอ่อนไหวต่อสภาพอากาศ ถ้ามีความร้อนไม่ค่อยออกดอก

“โรงไฟฟ้าที่จอมบึงที่จะมาสร้างใหม่ ทางท้องถิ่นไม่เอา อบต.กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไม่เอา แต่ไม่มีผลอะไร แต่ก็ยังดำเนินการเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำไมถึงไม่สนใจเสียงของพี่น้องท้องถิ่น พอถามข้อมูลไปยังจังหวัด ก็บอกว่า ยังไม่ได้สร้างรู้ได้อย่างไรว่ามีผลกระทบ ความจริงเราก็เห็นอยู่แล้วว่า ในพื้นที่ที่มีปัญหา” นายกันจร กล่าว

ปัจจุบัน จ.ราชบุรี มีโรงไฟฟ้ารวมกันทั้งหมด 5,581 เมกกะวัตต์ (เกิน 2 เท่า ของ แม่เมาะ ) ประกอบด้วย

1. พลังความร้อนร่วมราชบุรี ชุดที่ 1-3 เป็นของ บ.ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเดิมเป็นของ กฟผ. และถูกแปรรูปเป็น บริษัทเอกชน

2. บ.ราชบุรี เพาเวอร์ กำลังดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ 1,400 เมกกะวัตต์ ปัจจุบันก่อสร้างไปได้ประมาณ 50% โรงไฟฟ้านี้เดิมเป็นของ บ.ยูเนี่ยนเพาเวอร์จะก่อสร้างที่บ้านกรูด ต.ธงชัย อ.บางสะพาน จ.ประจวบ ฯ แต่ถูกต่อต้านจากชาวประจวบ ฯ อย่างหนักจึงถูกย้ายมาที่จ.ราชบุรี โดยอ้างว่าเซ็นต์สัญญาไปแล้ว

บ.ผลิตไฟฟ้าจำกัดได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่าได้ จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าจอมบึง ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ส่งไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ (สผ.) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และทาง สผ.กำลังพิจารณาอยู่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ ในขณะนี้ บ.ผลิตไฟฟ้าต้องเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เพื่อยื่นเรื่องประมูลโรงไฟฟ้า ซึ่ง กระทรวงพลังงาน จะเปิดประมูลประมาณ เดือน พ.ค. หรือ มิ.ย. นี้

เมื่อ บ.ผลิตไฟฟ้าจำกัด ผ่านการประมูลได้รับคัดเลือกก็จะต้องเซ็นสัญญาขายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำหรับการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ เป็นส่วนสำคัญที่จะใช้นำไปขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น