xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสั่งเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวสอบโอเน็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขอนแก่น - ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณีเด็กนักเรียน 25 คน ยื่นคำร้องให้ยกเลิกมติ ทปอ.ที่ให้นำคะแนนโอเน็ตครั้งแรกครั้งเดียว ใช้ในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ระบบแอดมิชั่น

รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้( 11 พ.ค.)ศาลปกครองขอนแก่นได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขดำที่ 242/2550 หมายเลขแดงที่ 265/2550 ระหว่าง นางสาวพิชญ์สินิฆารพูล ที่ 1 กับพวกรวม 25 คน ผู้ฟ้องคดี สถาบันทดสอบทางการศึกษา(องค์การมหาชน) (สทศ.) ที่ 1 คณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) ที่ 2 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ 3

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ 4 ผู้ถูกฟ้องคดี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้มีส่วนได้เสียในคดีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองขอนแก่นคดีโอเน็ต

นางสาวพิชญ์ศนี พร้อมพวกรวม 25 คนได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองขอนแก่น ให้ยกเลิกมติทปอ.ที่ให้นำคะแนนโอเน็ตครั้งแรกครั้งเดียว มาใช้ในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในระบบแอดมิดชั่น เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจเนื่องจากการนำมติดังกล่าวมาบังคับใช้ ก่อให้เกิดผลเสียต่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาของชาติ

ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาข้อเท็จจริง เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 25 คน ฟ้องคดีนี้มีความประสงค์อันแท้จริง ที่จะให้ศาลปกครองพิพากษา หรือมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 25 คน มีสิทธินำผลการสอบโอเน็ตครั้งที่ 2ไปใช้สมัครรับคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ ในระดับอุดมศึกษา ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษา หรือคำสั่งตามความประสงค์ของผู้ฟ้องคดีทั้ง 25คนได้นั้น

ศาลจำต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในการประชุมครั้งที่ 5/2549 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2549ที่ให้ใช้ผลการสอบโอเน็ตตครั้งแรกครั้งเดียวในการพิจารณาคัดเลือกฯ และต้องเพิกถอนหลักเกณฑ์ของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่ได้นำเอามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา คัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้วย

กรณีนี้จึงถือได้ว่าคดีนี้เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และเพิกถอนข้อกำหนดของถสบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่เข้าร่วมรับนักศึกษาในระบบแอดมิชชั่นโดยปริยาย

แม้มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดังกล่าว จะไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหรือคำสั่งทางปกครอง แต่หลักเกณฑ์ของสถาบันอุดมศึกษา ที่ใช้ในการคัดเลือกนักศึกษาในระบบแอดมิชชั่นมีสภาพบังคับเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งเรียกว่า "คำสั่งทางปกครองทั่วไป"

คำสั่งของศาลปกครองขอนแก่น ที่ห้ามมิให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มิให้นำมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่3 มาใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในระบบแอดมิชชั่น จึงมีผลเป็นการชะลอ หรือระงับการบังคับตามหลักเกณฑ์ของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆที่ใช้บังคับในการรับนักศึกษาตามระบบแอดมิชชั่นด้วยคดี จึงมีประเด็นที่ต้องวินัยฉัยต่อไปว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก่อนการพิพากษาของศาลปกครองขอนแก่นดังกล่าว เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองหรือไม่

ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า

1.กฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้น น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2.การให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าว มีผลบังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง

และ 3.การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งนั้น ไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะโดยศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากศาลได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองขอนแก่น เนื่องจากเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐนอกจากนั้น เพื่อให้การประกาศผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ทันภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ โดยหลังจากนี้กระบวนการพิจารณาจะดำเนินการต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี

นางสาวพิชญ์สินี ซึ่งได้เดินทางมาร่วมรับฟังการอ่านคำพิพากษากล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ยอมรับคำชี้ขาดของศาล แต่ยังรู้สึกเสียใจที่ถูกตัดโอกาส ในการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่ฝันไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น