พิษณุโลก/พิจิตร – ชาวบ้านนำผลตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำรอบเหมืองทองชาตรี เมืองชาละวันโชว์ยืนยันมี “ไซยาไนด์” เจือปน หลังส่งตรวจห้องแล็บที่เชียงใหม่ พร้อมยื่นถึงมือ “หมอพลเดช ปิ่นประทีป” แล้ว ขณะที่“อัคราไมนิ่ง”ยันไม่ตอบโต้ ระบุไม่จำเป็นต้องเผยแพร่รายงานผลตรวจไซยาไนด์ของเหมือง ที่ต้องรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุก 3 เดือน ย้ำส่งรายงานถูกต้อง
ผู้สื่อข่าว รายงานจากจังหวัดพิษณุโลก แจ้งว่า ระหว่างที่นางบุญรัตน์ ศรีสุทธินา แกนนำประชาชนในหมู่บ้านเขาหม้อพิจิตร ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขณะที่มาเปิดงานระดมความคิดเห็นเรื่อง “โลกร้อน ภัยพิบัติขจัดด้วยพลังชุมชน” ที่โรงแรมเทพนคร จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของชาวบ้าน 3 หมู่บ้านเขตรอยต่อพิจิตร - เพชรบูรณ์ 165 หลังคา ประชากร 358 คน บริเวณใกล้เคียงเหมืองทองชาตรี ของบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด โดยชาวบ้านอ้างว่า พวกเขาได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองดังกล่าวนั้น
นางบุญรัตน์ ยังได้แนบเอกสารรายงานผลตรวจทางเคมี จากห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร Laboratory Center for Food and Agricultural Products : LCFA สำนักงานเชียงใหม่ ออกเมื่อวันที่ 25 เมษายน2550 ที่ตัวแทนชาวบ้านได้นำเอาตัวอย่างน้ำในหมู่บ้านส่งตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อน
ตามใบรายงานผลการทดสอบ ระบุว่า 1) น้ำบาดาล บ่อน้ำตื้นลึก 8 เมตร บ้านหนองระมาน หมู่ 3 ลักษณะและสภาพตัวอย่างบรรจุในขวดพลาสติก 1,000 มิลลิลิตร(มล.) จำนวน 1 ขวด เก็บที่อุณหภูมิห้อง สภาพตัวอย่างปกติ วันที่รับตัวอย่าง 11 เมษายน 2550 ผลการทดสอบ สารหนูต่ำกว่า 0.0005 ไมโครกรัม(มก.)ต่อลิตร ไซยาไนด์ 0.102 มก.ต่อลิตร (เกินมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มภาชนะปิดสนิท ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 พ.ศ.2524 และ 135 พ.ศ.2534 ซึ่งกำหนดไว้ ไซPาไนด์ มาตรฐานเกณฑ์อนุโลมสูงสุด คือ 0.1 มก.ต่อลิตร ) ตะกั่ว น้อยกว่า 0.005 มก.ต่อลิตร ปรอท แคดเมียม ซิลิเนียม ไม่พบ (วิธีทดสอบอ้างอิง APHA-AWWA2005)
2)น้ำประปา ผ่านเครื่องกรอง / ขุดลึก ประมาณ 40 เมตร ของบ้านหนองแสง หมู่ 10 เพชรบูรณ์ สภาพตัวอย่างบรรจุในขวดพลาสติก 1,250 มล. จำนวน 1 ขวด เก็บที่อุณหภูมิห้อง สภาพตัวอย่างปกติ วันที่รับตัวอย่าง 11 เมษายน 2550 ผลการทดสอบ สารหนูต่ำกว่า 0.0005 มก.ต่อลิตร ไซยาไนด์ 0.056 มก.ต่อลิตร ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ซิลิเนียม ไม่พบ
3)น้ำประปา ไม่ผ่านเครื่องกรอง บ้านเขาหม้อ หมู่ 9 พิจิตร สภาพตัวอย่างบรรจุในขวดพลาสติก 1,250 มล. จำนวน 1 ขวด เก็บที่อุณหภูมิห้อง สภาพตัวอย่างปกติ วันที่รับตัวอย่าง 11 เมษายน 2550 ผลการทดสอบ สารหนู 0.0094 มก.ต่อลิตร ไซยาไนด์ 0.049 มก.ต่อลิตร ตะกั่ว 0.0095 มก.ต่อลิตร ปรอทน้อยกว่า 0.0005 มก.ต่อลิตร แคดเมียม ซิลิเนียม ไม่พบ
4)น้ำในอ่างเก็บน้ำ บ้านหนองระมาน หมู่ 3 พิจิตร สภาพตัวอย่างบรรจุในขวดพลาสติก 1,000 มล.จำนวน 1 ขวด เก็บที่อุณหภูมิห้อง สภาพตัวอย่างปกติ วันที่รับตัวอย่าง 11 เมษายน 2550 ผลการทดสอบ สารหนู 0.0024 มก.ต่อลิตร ไซยาไนด์ ไม่พบ ตะกั่ว 0.0050 มก.ต่อลิตร ปรอท แคดเมียม ซิลิเนียม ไม่พบ
5.น้ำในบ่อเก็บน้ำของเหมือง ตัวอย่างบรรจุในขวดพลาสติก 1,000 มล. จำนวน 1 ขวด เก็บที่อุณหภูมิห้อง สภาพตัวอย่างปกติ วันที่รับตัวอย่าง 11 เมษายน 2550 ผลการทดสอบ สารหนู 0.0023 ม.ก.ต่อลิตร ไซยาไนด์ 2.06 มก.ต่อลิตร ตะกั่ว 0.0053 มก.ต่อลิตร ปรอทไม่พบ แคดเมียมน้อยกว่า 0.0005 ซิลิเนียม 0.012 มก.ต่อลิตร
ขณะที่มาตรฐานคุณภาพน้ำประเทศไทย (มีนาคม 2550) ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีสารไซยาไนด์ ได้กำหนดมาตรฐานในแหล่งน้ำประเภทต่าง ๆ ไว้ว่า ในแหล่งน้ำผิวดิน ต้องไม่เกิน 0.005 มก./ลิตร น้ำใต้ดิน ไม่เกิน 200 มก./ลิตร น้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ต้องไม่เกิน 0.2 มก./ลิตร น้ำสำหรับบริโภคจากแหล่งน้ำบาดาล ต้องไม่มีเลย โดยมีเกณฑ์อนุโลมสูงสุด 0.1 มก./ลิตร
กรณีดังกล่าว “ผู้จัดการ” ได้ติดต่อสอบถามไปยัง น.ส.เยาวนุช จันทร์ดุ้ง ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมเหมืองชาตรี บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จำนวน 3 ครั้ง เพื่อขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลผลตรวจคุณภาพน้ำของบริษัทที่ส่งให้แก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการตรวจสอบข้อมูลทั้ง 2 ฝ่ายได้ แต่ไม่ได้รับคำตอบ
ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน “ผู้สื่อข่าว” ก็ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยัง น.ส.เยาวนุช จันทร์ดุ้ง ผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อมเหมืองชาตรี บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัดอีกครั้ง ก็ได้รับการชี้แจงว่า ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เนื่องจากตนเป็นเพียงลูกน้อง และหากสื่อนำข้อมูลจากชาวบ้าน ที่วิเคราะห์ผลทางเคมีลงตีพิมพ์ บริษัทฯอาจดำเนินการฟ้องร้องได้ เพราะผลตรวจวิเคราะห์ต่างๆด้านสิ่งแวดล้อมของเหมือง ส่งไปหน่วยงานที่ควบคุมดูแล ถูกต้องตามมาตรฐานแล้ว
อย่างไรก็ตาม “ผู้จัดการรายวัน” ฉบับวันที่ 13 เมษายน 50 ที่ผ่านมา เคยตีพิมพ์คำให้สัมภาษณ์ของ น.ส.เยาวนุช เกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำของเหมืองครั้งหนึ่งว่า เหมืองมีบ่อเก็บกากโลหกรรมขนาด 400 ไร่บนเขาหม้อ ใช้บ่อดินเหนียวป้องการกันรั่วซึมได้แน่นอน
ส่วนสารไซยาไนด์ได้ผ่านการบำบัดก่อนปล่อย ผ่านกระบวนการทำให้เป็นสารประกอบเชิงซ้อน กล่าวคือ เป็นสารพันธะไม่แตกตัว ลักษณะที่ไม่ละลายในน้ำและอากาศ แต่ชาวบ้านไม่ทราบและไม่เข้าใจ อีกทั้งบริษัทฯได้ตรวจวัดระดับสารไซยาไนด์อยู่ในระดับ 5 ส่วนในล้านส่วน หรือ 5 PPM ขณะที่เกณฑ์มาตรฐาน ห้ามเกิน 20 PPM
ส่วนกรณีที่ชาวบ้านระบุว่า น้ำประปาสีแดง ขุ่นและคัน เชื่อว่า เป็นผลจากตะกอน เพราะสนิมเหล็กพบมากในแถบนี้ ยืนยันไม่ใช่สารไซยาไนด์ เพราะไซยาไนด์ไม่มีสี อีกทั้งบ่อเก็บกากโลหกรรมอยู่ด้านทิศใต้ของ 3 หมู่บ้าน บ้านหนองแสงอยู่ห่างจากเขาหม้อ 2 กิโลเมตร ชุมชุนเขาหม้อ ห่างจากเขาหม้อ 3 กิโลเมตร และชาวบ้านหนองระมาน ห่างจากเหมืองทองคำชาตรี 3 กิโลเมตร
นอกจากนี้บริษัทยังได้ตั้งสถานีตรวจวัดทั้ง 9 สถานี ตรวจสอบทุก 4 ครั้งต่อปี หรือทุกๆ 3 เดือน กรณีฝุ่นจากกระบวนการผลิตเพียง 100-200 ไมโครกรัมก็ถือว่า ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่เป็นอันตราย
รายงานข่าวจากจังหวัดพิจิตร แจ้งเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามหลังจากที่ตัวแทนชาวบ้านรอบเหมืองทองชาตรี ได้เข้าร้องเรียนต่อนายแพทย์พลเดช แล้ว ล่าสุดจังหวัดพิจิตร ได้ประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะให้ส่งตัวแทนเข้าหารือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน ในวันที่ 15 พฤษภาคม นี้อีกครั้งหนึ่ง
อนึ่งก่อนหน้านี้ชาวบ้านรอบเหมืองทองชาตรี ของบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด เคยออกมาเคลื่อนไหวประท้วงต่อต้านเหมืองทองมาแล้ว หลังจากบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด มีแผนที่จะซื้อที่ดินผืนใหม่ จำนวน 2,000 ไร่ ตั้งแต่ ต.เขาเจ็ดลูก- ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งนโยบายของบริษัทดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดกระแสเก็งกำไรที่ดินอย่างหนัก จากเดิมเคยซื้อไร่ละไม่เกิน 5 หมื่นบาทขยับเกือบทะลุไร่ละล้านบาท โดยเฉพาะพื้นที่ “เขาหม้อ”เขตสัมปทานที่คาดว่าจะมีทองคำแหล่งใหม่
โดยมีกลุ่มชาวบ้าน 3 กลุ่มร่วมกันเคลื่อนไหว คือ ชาวบ้านหนองระมานต้องการให้บริษัทซื้อที่ดินของตนเอง ส่วนกลุ่มชาวบ้านหนองแสงและเขาหม้อ ต้องการให้เหมืองฯปรับปรุงเรื่องเสียงและฝุ่น จากนั้นได้มีการเจรจากันเมื่อวันที่ 20 เมษายน 50 โดยบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ยืนยันไม่ซื้อที่ดินนอกเขตประทานบัตร แต่ยินดีรับข้อเสนอปรับปรุงสิ่งแวดล้อมตามข้อเรียกร้อง
สำหรับบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด มีบริษัท Kingsgate Consolidated NL จากประเทศออสเตรเลีย ถือหุ้นอยู่ เริ่มลงทุนในเหมืองชาตรีจำนวน 1,216 ล้านบาท นำแร่ทองคำมาสกัดเป็นโลหะทองคำบริสุทธิ์จำนวน 32.8 ตัน โลหะเงินประมาณ 98 ตัน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 10,600 ล้านบาท และเมื่อเร็วๆนี้ได้รับอาชญาบัตรใหม่หลังสำรวจโดยทางธรณีวิทยาพบว่ามีสายแร่ทองพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มเติม จึงได้กว้านซื้อที่ดินข้างเคียง พร้อมกับรออนุมัติประทานบัตร เนื่องจากคาดว่ามีทองคำบริสุทธิ์อีก 3 ล้านออนซ์