xs
xsm
sm
md
lg

พรานปลาน้ำโขงเริ่มล่าปลาบึกจับได้แล้ว 1 ตัว - ก่อนถูกไถ่ชีวิตปล่อยทันที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - พรานปลาบึกหาดไคร้เชียงราย จับปลาบึกเพศผู้หนัก 200 กก.ได้ 1 ตัว แต่มีนักถ่ายทำสารคดีชาวสหรัฐฯ ไถ่ชีวิตด้วยเงิน 5 หมื่นบาท แล้วติดไมโครชิปปล่อยลงน้ำโขงไปทันที “ครูแดง” สนช. ชร.เผย เพื่อเป็นทางออกให้พรานปลา ประมงน้ำจืดเชียงราย จึงออกอาชญาบัตรให้ล่าปลาได้ 8 วัน เพื่อการศึกษาเท่านั้น ยันจ่ายเงินค่าอวนหมดแล้ว รอโครงการไถ่ชีวิตโคกระบือ นำโคมามอบให้ 30 ตัว หนุนเลิกล่าปลาระยะยาว

เมื่อเวลา 15.30 น.วันนี้ (6 พ.ค.) พรานปลาบึกหาดไคร้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งได้กลับมาเริ่มล่าปลาบึก ภายใต้แนวคิดเพื่อการศึกษาอีกครั้ง ได้จับปลาบึกเพศผู้ได้ 1 ตัว หนักราว 200 ก.ก. ในแม่น้ำโขง บริเวณบ้านหาดไคร้ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยผู้จับได้ อยู่บนเรือ 1 ลำ มี 3 คน คือ นายสมดี ราชเสนา อายุ 62 ปี, นายนายพิทักษ์ หรือ หนุ่ย แสงเพชร และนายนุก ราชเสนา

การจับปลาบึกครั้งนี้มีทีมถ่ายทำสารคดีโทรทัศน์จากสหรัฐอเมริกา เดินทางมาถ่ายทำด้วย รวมทั้ง นายเขมชาติ จิวประสาท ประมง จ.เชียงราย เมื่อจับปลาบึกได้ ทีมถ่ายสารคดีชาวสหรัฐฯ ได้ขอไถ่ชีวิตปลาบึกด้วยเงินสด ราว 50,000 บาท แล้วทำการติดไมโครชิปที่ตัวปลาบึก เหมือนที่เคยติดเมื่อปีที่ผ่านมา ก่อนปล่อยปลาบึกเพศผู้ลงน้ำโขงทันที เพื่อป้องกันปลาบอบช้ำ และคาดว่า ปลาจะมีชีวิตต่อไปได้ ซึ่งเริ่มมีนักท่องเที่ยวที่ทราบข่าวมาติดตามชมกันเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ พรานปลาบึกหาดไคร้ อ.เชียงของ ได้เปลี่ยนตัวประธานชมรมปลาบึก และกรรมการทั้งหมด โดยมี นายพิสิทธิ์ วรรณธรรม เป็นประธานชมรมปลาบึกหาดไคร้ คนใหม่ แทนนายพุ่ม บุญหนัก ที่ลาออกยกชุดพร้อมกรรมการ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาให้พรานปลาบึกเรื่องอาชีพ โดยเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2550 ที่ผ่านมา นางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ได้ใช้เงินส่วนตัว ราว 95,000 บาท จ่ายให้กับชมรมปลาบึกหาดไคร้ ในค่าอวนที่คงค้างจ่ายอยู่ 5 ปาก ให้ค่ายค่าซื้ออวน หรือมอง ของพรานปลาไปหมดแล้ว 68 ปาก

นางเตือนใจ ดีเทศน์ สนช.จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ขณะนี้ได้ติดต่อกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมี ม.ร.ว.กำลูนเทพ เทวกุล เป็นแกนนำ เพื่อขอให้หาโค ซึ่งอยู่ในโครงการไถ่ชีวิตโค-กระบือ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 30 ตัว มาให้กับพรานปลาบึกเพื่อเริ่มต้นอาชีพใหม่ในราวเดือนมิถุนายนนี้ นอกจากนี้ ยังมี นายธีระภาพ โลหิตกุล นักถ่ายทำสารคดี จะเข้ามาส่งเสริมอาชีพแก่พรานปลา ด้วยการจัดทำพิพิธภัณฑ์ปลาบึก ที่บ้านหาดไคร้ เพื่อให้ปรานปลาบึกมาทำด้งานานการศึกษา และท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้พรานปลาบึกหาดไคร้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเลิกล่าปลาบึกเพื่อการบริโภค

แต่ครั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหลังจากพรานปลาบึกยืนกรานจะออกล่าปลาบึก ทางประมงจังหวัด จึงได้ออกอาชญาบุตรให้แก่พรานปลา เป็นเวลาแค่ 8 วัน ตั้งแต่วันที่ 4-11 พ.ค.นี้เท่านั้น ซึ่งเป็นการให้ล่าเพื่อการศึกษาไม่มีการจับปลาบึกขึ้นมาทำอาหารเป็นอันขาด และมีผู้ใจบุญจากต่างประเทศ ที่ทำสารคดี ไถ่ชีวิตปลาบึกที่จับได้ให้ ทำให้ชาวประมงมีรายได้บ้างในการจับครั้งนี้

สำหรับการล่าปลาบึก ที่บ้านหาดไคร้ หรือ หาดหลวง เป็นที่เดียวในโลก ที่มีการจับปลาบึกได้ และจับกันมานานแล้ว เมื่อหลายสิบปีก่อน มีการจับได้ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ซึ่งน้ำโขงแห้งและปลาบึก ซึ่งเป็นปลาหนังน้ำจืดขนาดใหญ่ (Giant Cat Fish) จะว่ายทวนน้ำขึ้นเหนือ ผ่านหาดไคร้ ไปวางไข่และผสมพันธุ์กันทางตอนเหนือ ที่มีแก่งหินและร่องน้ำตื้นจนติดอวนหรือ “มอง” ของชาวประมงที่เชี่ยวชาญ บางปีชาวประมงหาดไคร้จับปลาบึก ขนาดหนัก ราว 100-250 กก.ได้กว่า 60-70 ตัว ราคาจำหน่ายในระยะหลัง กก.ละ 300-500 บาท เพื่อนำมาปรุงอาหาร

ส่วนไข่ปลาบึกทางประมงอำเภอและประมงจังหวัดจะนำมาผสมเทียม ต่อมาการจับปลาบึกจับได้น้อยลงทุกปี บางปีแค่ 1-5 ตัว สาเหตุอาจเพราะธรรมชาติถูกทำลายมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำทำให้ปลาบึกในแม่น้ำโขงมีลดลง ส่วนชาวลาวฝั่งตรงข้าม อ.เชียงของ มีการจับปลาบึกบ้างแต่น้อยกว่าฝั่งไทย เพราะอุปกรณ์ทันสมัยสู้ของไทยไม่ได้



กำลังโหลดความคิดเห็น