xs
xsm
sm
md
lg

หาทุนบูรณะเมืองฟ้าแดดสงยาง นำดินโบราณพันปีสร้างพระพิมพ์ให้เช่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมพิธีพุทธาภิเษก – เทวภิเษก เสาร์ 5 ปรกฟ้าดิน โดยนำเอาดินโบราณอายุกว่า 1,400 ปี ในสมัยทวาราวดี จัดสร้างพระพิมพ์เมืองฟ้าแดดสงยาง เพื่อหารายได้มาบูรณะโบราณสถานเมืองฟ้าแดดและก่อสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณ

วันนี้(7 เม.ย.) ณ บริเวณองค์พระธาตุยาคู บ้านเสมา ต.หนองแปน อ.กมลาไสย นายกวี กิตติสถาพร ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยพ่อค้าคหบดีประชาชนภายในจังหวัดกว่า 2,000 คน ได้ร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงพุทธาภิเษก – เทวภิเษก เสาร์ 5 ปรกฟ้าดิน ด้วยการจัดสร้าพระพิมพ์เมืองฟ้าแดดสงยาง โดยการนำเอาดินจากคูเมือง ซึ่งเป็นดินโบราณที่ค้นพบภายในโบราณสถานแห่งนี้ที่มีอายุกว่า 1,400 ปี ในสมัยทวาราวดี มาทำการจัดสร้างพระพิมพ์ดังกล่าวฯ

นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะประธานอำนวยการจัดสร้างพระพิมพ์เมืองฟ้าแดดสงยาง กล่าวว่า การจัดให้มีการทำพระพิมพ์เมืองฟ้าแดดสงยาง เนื่องจาก นายกวี กิตติสถาพร ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการร่วมอนุรักษ์และสืบสานโบราณวัตถุเมืองฟ้าแดดสงยาง ให้คงอยู่และเป็นที่แพร่หลายเพื่อให้ประชาชนได้เคารพสักการะบูชา

ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณแห่งนี้ เป็นศิลปะในสมัยทวาราวดีที่มีอายุกว่า 1,400 ปี มีการค้นพบตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 แต่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ทั้งที่สามารถจะพัฒนาให้มีความก้าวหน้าและมีความสมบูรณ์ต่อไปในอนาคต ทางจังหวัดจึงได้จัดให้มีการหารายได้ด้วยการจัดสร้างองค์พระเพื่อนำเงินที่ได้ไปก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ต่อไป

“สำหรับความเป็นมาของเมืองฟ้าแดดสงยาว ที่ อ.กมลาไสย ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดลงมาทางทิศใต้ประมาณ 12 กิโลเมตร แผนผังเมืองเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า คล้ายกับใบเสมา ภายในตัวเมืองมีคันดินสูง 2-3 เมตร ล้อมรอบสองสองชั้นระหว่างคันดินเป็นคูน้ำกว้างประมาณ 18 เมตร ตลอดแนว

ภายในใจกลางเมืองมีโบราณสถานที่สำคัญ คือ พระธาตุยาคูสร้างในสมัยทวาราวดี มีลักษณะเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมก่อด้วยก้อนอิฐขนาดใหญ่เช่นเดียวกันกับโบราณสถานวัดเมรุ จังหวัดนครปฐม ที่มีฐานเจดีย์อยู่อีก 3-4 แห่ง”

นายวิโรจน์ กล่าวว่า การขุดพบครั้งยิ่งใหญ่ ในปี พ.ศ.2510 ใกล้ๆ กับบริเวณพระธาตุยาคู ได้มีชาวบ้านจุดพบโบราณวัตถุต่างๆ หลายอย่าง เช่น ใบเสมา ภาชนะเครื่องใช้ดินเอา กำไล แหวน กระดูกสัตว์ ลูกปัดแก้ว และเครื่องประดับชนิดต่างๆ และโบราณวัตถุอีกชิ้นหนึ่งที่ชาวบ้านค้นพบเมื่อขุดลึกประมาณ 70 ซม.ได้พบพระพิมพ์ดินเผาวางเรียงซ้อนทับกันจำนวนหลายร้อยองค์

มีทั้งสมบูรณ์และแตกหักชำรุด พระพิมพ์ดินเผา กรุฟ้าแดดสงยาง อายุประมาณ 1,400 ปี สมัยทวารวดี ซึ่งมีหลายพิมพ์ด้วยกันคือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็กพิมพ์กลีบบัว (หลังกุ้ง) พิมพ์ปกโพธิ์และพิมพ์พระแผง แต่พระพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดของกรุฟ้าแดดสงยางคือพิมพ์ใหญ่นิยม องค์พระมีขนาดกว้าง 5 นิ้ว สูง 7 นิ้ว ขนาด พอเหมาะ สำหรับใส่กรอบองค์พระตั้งกราบไหว้บูชา

นอกจากพิธีพุทธาภิเษก ในวันนี้แล้ว นายวีระ วุฒิจำนงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนาธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ยังได้มอบพระพิมพ์เมืองฟ้าแดดสงยาง รุ่นพิมพ์กลีบบัวหลังกุ้ง ซึ่งเป็นพระกรุ ที่ได้เก็บรักษาเอาไว้กว่า 30 ปี ให้กับ นางชะม้อย วรามิตร นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เก็บรักษาไว้เพื่อบูชา อีกด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น