xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรำลึก “บุญชู โรจนเสถียร” กับชีวิตการเมืองที่ชลบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึงแม้เวลาจะผ่านไป 32 ปีแล้ว แต่ในวันนี้ ชาวชลบุรีวัยกลางคนขึ้นไปส่วนใหญ่ยังจดจำภาพเหตุการณ์ ที่อดีตนายแบงก์อันดับหนึ่งของเมืองไทย ลงมาเดินฝ่าเปลวแดดเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง ตามหมู่บ้านร้านตลาดได้เป็นอย่างดี

ประเทศไทยในขณะนั้น เพิ่งผ่านเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ไปหมาดๆ โดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศชั่วคราวรอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จในปี 2517 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทย และการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศก็ถูกจัดขึ้นในช่วงต้นปีถัดมา

การเลือกตั้งครั้งนั้น “บุญชู โรจนเสถียร” ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็น ส.ส.ที่จังหวัดชลบุรีบ้านเกิด และเพียงครั้งแรก อดีตนายแบงก์ใหญ่ ก็ได้รับเลือกทันที และทำให้เขาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี

ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนั้น จังหวัดชลบุรี ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะมีคนระดับเลขาธิการพรรคและรองหัวหน้าพรรคการเมืองมาลงสมัครถึงสองคน

นั่นคือ พล.ต.ศิริ สิริโยธิน รองหัวหน้าพรรคชาติไทย และนายบุญชู โรจนเสถียร เลขาธิการพรรคกิจสังคม นอกจากนี้ยังมีนายอุทัย พิมพ์ใจชน ขวัญใจแม่ค้าแห่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวยืน

นายบุญชู ตัดสินใจลงสมัครที่เขตเลือกตั้งที่ 1 โดยมีญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งเป็นหัวคะแนนให้ และได้นายจุมพล สุขภารังษี หรือ เสี่ยจิว เป็นหัวคะแนนใหญ่อีกคนหนึ่ง ซึ่งคนเหล่านี้เป็นหัวคะแนนเดิมของนายธรรมนูญ เทียนเงิน อดีตนักการเมืองผู้คร่ำหวอดของจังหวัดชลบุรี

ในเขตเลือกตั้งที่ 1 นั้น มีเจ้าสนามก็คือ นายอุทัย พิมพ์ใจชน และพล.ต. ศิริ สิริโยธิน เป็นเจ้าของเก้าอี้อยู่ เมื่อนายบุญชู โรจนเสถียร มาลงสมัคร จึงถือเป็นการท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

ทั้ง 3 คน มีการชิงไหวชิงพริบกันอย่างดุเดือด แม้กระทั่งถึงวันลงสมัคร นายอุทัย พิมพ์ใจชน ก็ยังทำให้ซุ้มใหญ่บ้านใหญ่ของเสี่ยจิว กับคณะพรรค เครียดกันมากว่านายอุทัย จะไปลงสมัครเขตไหน จะเอาอย่างไรกันแน่ ซึ่งถ้าหากลงสมัครเขตเลือกตั้งที่ 2 ก็จะทำให้การหาเสียงของนายบุญชู สบายขึ้นและน่าจะได้รับเลือกตั้งมาพร้อมกับ พล.ต.ศิริ สิริโยธิน

แต่ปรากฏว่า ก่อนปิดรับสมัครเพียง 2 วัน นายอุทัย ก็มาลงสมัครที่เขตเลือกตั้งที่ 1 ขณะที่นายบุญชู และพล.ต.ศิริ ไปสมัครและได้เบอร์มาเรียบร้อยแล้ว ย้ายหนีไปลงสมัครเขตอื่นไม่ทันแล้ว ทำให้บรรยากาศการหาเสียงเขตเลือกตั้งที่ 1 เคร่งเครียดกันไปทั้งเมือง เพราะเขตนี้มี ส.ส.ได้เพียง 2 คน การหาเสียงจึงเป็นไปอย่างสุดมัน

วงการพนัน ต่างวางเดิมพันให้นายอุทัย สอบได้ไปคนหนึ่ง ส่วนอีกคน นายบุญชู กับ พล.ต.ศิริ ราคาออกมาสูสีกัน และเมื่อผลการเลือกตั้ง ออกมาปรากฏว่า นายอุทัย ได้คะแนนอันดับ 1 นายบุญชู ได้อันดับ 2 ส่วนพล.ต.ศิริ สอบตกอย่างเจ็บช้ำ

ชัยชนะของนายบุญชูนี่เอง ที่ทำให้เสี่ยจิว ดังเป็นพลุแตก เพราะเป็นเสมือนการเปิดตำนานของซุ้มหัวคะแนนหาเสียงให้พรรคการเมืองสมัยนั้น และหลังจากนั้นแล้ว ใครจะลงสมัคร ส.ส.ชลบุรี หากต้องการการันตีเก้าอี้ ก็ต้องมาหาเสี่ยจิวเท่านั้น

และเสี่ยจิว ก็ได้ช่วยหาเสียงให้กับนายบุญชู รวมทั้งคนที่พรรคกิจสังคมส่งไปลงสมัครที่ชลบุรีทุกครั้งไป รวมถึงการเลือกตั้งในปี 2519 ด้วย.

ถึงแม้จะมีหัวคะแนนที่พร้อมสรรพ มีฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่พร้อม นายบุญชู ก็ไม่ได้ชะล่าใจนั่งงอมืองอเท้ารอให้ประชาชนไปหย่อนบัตรให้ แต่กลับต้องลงไปพบเพื่อรับฟังปัญหาจากราษฎรแทบทุกวันในช่วงของการหาเสียง

กองทัพหาเสียงของนายบุญชู ไปกันเป็นคณะใหญ่ จากส่วนประชาสัมพันธ์ธนาคารกรุงเทพฯ จากกลุ่มนักธุรกิจที่นายบุญชู ดูแลอยู่ รวมไปถึงนักธุรกิจชลบุรีจากหอการค้าจังหวัดที่เข้ามาเกื้อหนุน และมีคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากคนไทยเชื้อสายจีนในชลบุรี ทำให้นายบุญชู ได้รับการเลือกตั้ง

เมื่อได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรีแล้ว มีให้ผลให้ นายบุญชู โรจนเสถียร ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม เป็นนายกรัฐมนตรี

ภาพเหตุการณ์ที่คนยุคนั้นจดจำได้เป็นอย่างดี คือการปราศรัยหาเสียงของนายบุญชูที่อำเภอพานทอง ถ่ายโดยช่างภาพมือดีของธนาคารกรุงเทพฯ ที่นำมาแจกจ่ายให้กับนักข่าวที่ติดตามทำข่าวการหาเสียง ภาพตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ในประเทศไม่มากนักแต่กลับไปปรากฏตามสื่อนอกประเทศเป็นส่วนใหญ่

ภาพดังกล่าวนี้ นายบุญชู กำลังปราศรัยหาเสียง กลางทุ่งนาในเขตอำเภอพานทอง บ้านเกิดของนายอุทัย คู่แข่งคนสำคัญ มีผู้มาฟังการปราศรัยราว 300 คน ท่ามกลางเปลวแดดกลางทุ่งนาที่ร้อนระอุ..สำหรับคนที่ไม่เคยตากแดดมาก่อน เมื่อถูกแดดเผาจะรู้ฤทธิ์ก็ตอนกลับที่พักยามเย็นนั่นแหละ. แต่นายบุญชู และทีมงานหาเสียง ก็ทำงานกันอย่างหนัก ตั้งแต่เช้าจนมืดค่ำทุกๆ วัน

จากที่เคยบริหารธนาคารขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ ใช้ชีวิตอย่างมีระดับ เมื่อผันตัวเองมาเป็นการเมือง ต้องทนปราศรัยท่ามกลางแสงแดดแผดจ้า ต้องพบปะกับราษฎรที่ยากจนข้นแค้น ได้เห็นสภาพความขาดแคลนของคนชนบท น้ำประปาไม่มีใช้ น้ำในคลองชลประทานก็แห้งขอด ท้องนาก็แตกระแหง ต้องเดินเท้าผ่านท้องทุ่งนากว่าจะเข้าไปถึงหมู่บ้าน

จากประสบการณ์ที่พบนี้เองเป็นที่มาของนโยบายอัดฉีดเศรษฐกิจในชนบท ที่เรียกว่าโครงการเงินผัน ที่ดังสนั่นเมืองในยุคที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี

โครงการเงินผัน ทำให้ชีวิตชาวชนบทดีขึ้น เมื่อเงินถูกกระจายลงหมู่บ้านผ่านการก่อสร้างสระน้ำ บ่อน้ำ ฝายน้ำ ถนนหนทาง รวมทั้งสะพานต่างๆ ในชนบท โดยมีชาวบ้านเป็นผู้รับจ้างเอง ทำให้เม็ดเงินกระจายลงอย่างทั่วถึง

แต่เพราะ ส.ส.ในสมัยนั้น อยู่ในตำแหน่งกันได้ไม่นาน เพราะเป็นรัฐบาลผสม ทำให้สภาล่มบ่อยครั้ง จนตั้งมีการยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่ในปีถัดมา

ในการเลือกตั้ง ปี 2519 นายบุญชูลงสมัครใน จ.ชลบุรีเช่นเดิม และใช้คำขวัญหาเสียงของพรรคกิจสังคมที่ว่า “เราทำได้..เราได้ทำมาแล้ว” ซึ่งได้รับเสียงเชียร์อย่างกึกก้อง จาประชาชนที่มาฟ้องรอบๆ เวทีปราศรัย

แต่สำหรับผู้จัดการ หรือหัวคะแนนใหญ่ ต้องเหนื่อยหนัก ต้องจัดการทำงานเป็นระบบ ในการดูแลผู้คนที่มาฟังการปราศรัยแต่ละเวที ในแต่ละวันแต่และคืน เป็นเรื่องหนัก แล้วทุกอย่างก็มารอวันลงคะแนนเพียงวันเดียวและรอฟังผลที่จะออกมาเมื่อการนับคะแนนสิ้นสุดลง.

การเลือกตั้ง ปี พ.ศ.2519 จังหวัดชลบุรีทั้ง 2 เขต มี ส.ส.ได้ 4 คน ผลปรากฏว่าพรรคกิจสังคมได้ไป 3 ที่นั่ง เหลืออีก 1 ที่นั่งเป็นของนายอุทัย พิมพ์ใจชน

นั่นเป็นเพราะ บารมีของหัวคะแนนของพรรคกิจสังคม คือ เสี่ยจิว และยังได้เจ้าพ่อไร่อ้อย นายดรงค์ สิงโตทอง หรือเฮียซุ้ย นายกสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรจังหวัดชลบุรี มาเป็นหัวคะแนนในเขต 2 และกลุ่มนักธุรกิจพ่อค้าในจังหวัดชลบุรีอีกหลายคนมาช่วยสนับสนุน

นายบุญชู ได้เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี 2 สมัย ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หลังจากนั้นกลับเข้าไปบริหารธนาคารกรุงเทพฯอีกครั้ง ไปย้ายไปสมัครในจังหวัดอื่น และเข้าร่วมรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2523 แต่ผลงานของนายบุญชูก็ส่งอานิสงส์ถึงจังหวัดชลบุรี ไม่ว่าจะเป็น โครงการวางท่อก๊าซธรรมชาติไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกง โครงการประกันราคาพืชผล โครงการสร้างงานในชนบท

นี่คือเสี้ยวชีวิตช่วงหนึ่งของอดีตนายธนาคาร ที่ผันตัวเองมาเป็นนักการเมือง และแจ้งเกิดเป็นผู้แทนราษฎรสมัยแรกที่จังหวัดชลบุรี

*เส้นทางการเมืองของ “บุญชู โรจนเสถียร” เจ้าของฉายา ซาร์เศรษฐกิจ

ปี 2518-2519 ลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรที่จังหวัดชลบุรี 2 สมัย

ปี 2523 พรรคกิจสังคมเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายบุญชูได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลเรื่องเศรษฐกิจ

ปี 2524 ออกจากรัฐบาล พล.อ.เปรมฯ ด้วยปัญหา “เทเล็กซ์น้ำมัน”

ปี 2529 ก่อตั้งพรรคกิจประชาคม

ปี 2531 นำพรรคกิจประชาคมลงเลือกตั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ได้ ส.ส.เพียงเล็กน้อย จนต้องยุบพรรคไปรวมกับพรรคก้าวหน้า พรรคประชาชน และพรรครวมไทย แปรสภาพเป็นพรรคเอกภาพ

ปี 2534 หลัง รสช.ยึดอำนาจ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคเอกภาพ หนีไปตั้งพรรคสามัคคีธรรม นายบุญชูเป็นหัวหน้าพรรคเอกภาพช่วงสั้นๆ

ปี 2535 ออกมาสังกัดพรรคพลังธรรม โดยเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค เข้าร่วมกับรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ในตำแหน่งรองนายกฯ ฝ่ายสังคม

ปี 2537 เป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมช่วงสั้นๆ หลัง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ลาออกไปสมัครผู้ว่าฯ กทม.รอบ 2

ปี 2540 ย้ายไปสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็น ส.ส.นครสวรรค์ และเป็นที่ปรึกษานายกฯ ชวน หลีกภัย ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นตำแหน่งทางการเมืองตำแหน่งสุดท้าย ก่อนที่จะวางมือ และหันไปใช้ชีวิตบั้นปลาย ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และทำธุรกิจสปาในนาม “ชีวาศรม” จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก

06.00 น. วันที่ 19 มีนาคม 2550 - เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งในเส้นเลือด ขณะอายุได้ 86 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น