xs
xsm
sm
md
lg

คนอีสานใช้ไฟเยอะแต่ผลิตได้แค่17% แถมมีคนลักเหล็กเสาไฟไปทำรถอีแต๋น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขอนแก่น - คนอีสานใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นทุกปี แต่ผลิตได้แค่ 17 % จากที่ใช้จริง ต้องนำเข้าจากในและต่างประเทศ อนาคต เตรียมซื้อไฟฟ้าจากลาวเพิ่มขึ้น กฟผ.ปวดหัวจากคนลักเหล็กและน็อตจากเสาไฟฟ้า เอาไปใส่รถอีแต๋น วอนขอความร่วมมือหวั่นปัญหาไฟฟ้าดับ

นายปรีชา จูสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการ และบำรุงรักษาระบบส่งไฟฟ้าในภาคอีสานทั้งหมด รวมทั้งการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งผลิต คือ จากโรงไฟฟ้าเพื่อส่งให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จัดส่งจำหน่ายให้ผู้ใช้อย่างเพียงพอ มั่นคง เชื่อถือได้ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบัน ภาคอีสานมีความต้องการใช้ไฟฟ้าประมาณวันละ 2,500 เมกะวัตต์ มีการเติบโตประมาณร้อยละ 5 – 6 ต่อปี แต่การผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคอีสานกลับผลิตได้น้อยมาก คือผลิตได้เพียงร้อยละ 17 ของความต้องการที่ใช้ ส่วนอีกประมาณร้อยละ 82 ต้องนำเข้ามาจากแหล่งผลิตทั้งภาคเหนือและภาคกลางรวมทั้งซื้อจากแหล่งผลิตตามเขื่อนต่างๆ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

“ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคอีสานมีมากกว่าที่ผลิตได้ เราต้องใช้ระบบการเชื่อมโยงสายส่งมาจากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคอีสานให้มากที่สุด โดยแยกเป็นแหล่งผลิตจากส่วนต่างๆ คือ ผลิตในภาคอีสาน ทั้งจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนต่างๆ 7 แห่ง และจากโรงไฟฟ้าก๊าซที่น้ำพอง รวม 385 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 17 , รับพลังงานไฟฟ้ามาจากภาคเหนือ จำนวน 928 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 41 , รับพลังงานไฟฟ้าจากภาคกลาง จำนวน 588 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 26 , รับซื้อจาก สปป.ลาว จำนวน 317 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 14 และรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย จำนวน 45 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 2 ”

นายปรีชา กล่าวต่อว่า สำหรับการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าในภาคอีสานกับ สปป.ลาว มีทั้งหมด 7 จุด ใน 4 จังหวัด คือ นครพนม , มุกดาหาร , หนองคาย , อุบลราชธานี ซึ่งการเชื่อมโยงสายส่งดังกล่าวนี้ มีทั้งจุดที่มีการซื้อมาอย่างเดียวและการขายให้อย่างเดียว หรือจุดที่ทั้งซื้อและขายด้วยกัน เช่น จุดสำคัญที่ซื้ออย่างเดียว คือ ที่ จ.นครพนม โดยซื้อจากโรงไฟฟ้าเขื่อนเทินหินบุน ประมาณ 200 เมกะวัตต์ และที่ จ.อุบลราชธานี โดยซื้อจากโรงไฟฟ้าเขื่อนห้วยเฮาะ จำนวน 140 เมกะวัตต์

ส่วนจุดที่ขายให้ สปป.ลาว อย่างเดียว คือ ที่ จ.นครพนม เชื่อมไปที่ท่าแขก และที่ จ.มุกดาหาร เชื่อมไปสะวันนะเขต สำหรับจุดที่ทั้งซื้อและขายด้วย เช่น จุดที่ จ.หนองคาย เชื่อมโยงไปยังเขื่อนน้ำลึก และเขื่อนน้ำงึม อีกจุดที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี เชื่อมโยงกับโรงไฟฟ้าเขื่อนเซเซด เป็นต้น

“ นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีโครงการเชื่อมโยงสายส่งเพื่อซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพิ่มอีก 2 จุด โดยมีการเซ็นสัญญาเบื้องต้นไว้แล้ว คือ ที่โรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำเทิน มีสัญญารับซื้อวันละ 920 เมกะวัตต์ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2552 ส่วนอีกแห่งคือโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 2 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2554 แต่การเซ็นสัญญาขณะนี้ ยังไม่ได้มีการกำหนดราคาซื้อขาย มีเพียงการเซ็น MOU เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หากโรงไฟฟ้าจาก สปป.ลาว แล้วเสร็จ จะสามารถตอบสนองความต้องการของการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคอีสานได้เพิ่มมากขึ้น ”

นายปรีชา กล่าวต่อไปว่า จากระบบสายส่งที่เชื่อมโยงจากแหล่งผลิตต่างๆไปทั่วประเทศ ซึ่งภาคอีสาน 19 จังหวัด มีสถานีไฟฟ้าแรงสูงทั้งหมด 47 แห่ง สายส่งไฟฟ้าแรงสูงในความรับผิดชอบ มีความยาวรวม 7,328 กิโลเมตร กระจายตามจังหวัดและอำเภอต่างๆ เป็นตาข่ายเหมือนใยแมงมุมทั่วภาคอีสาน รวมทั้ง สปป.ลาว โดยใช้ระบบควบคุมทางไกลจากศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ขอนแก่น และด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทุกสถานี เพื่อรับทราบข้อผิดปกติในระบบ หากมีเหตุขัดข้องก็จะนำกลับเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา มีเหตุขัดข้องจนเกิดไฟฟ้าดับน้อยมาก มีอัตราลดลงเฉลี่ยแต่ละปีในร้อยละ 5 – 10 โดยเฉพาะในปี 2549 ที่ผ่านมา มีเหตุขัดข้องให้เกิดไฟฟ้าดับในบางจุดรวมทั้งหมดเพียง 12 ครั้ง หรือเฉลี่ยเพียงเดือนละครั้ง หากเปรียบเทียบในอดีตจะมีจำนวนค่อนข้างสูงถึงปีละ 30 – 40 ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคอีสาน

“ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ไฟฟ้าไม่เกิดความมั่นคงก็มีจากหลายสาเหตุ แม้แต่เหตุมาจากระบบการผลิตและระบบส่ง แต่ขณะนี้มีน้อยมาก ส่วนที่เหลือก็เกิดจากภัยธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า ฝนตก น้ำท่วม พายุ ลมแรง หรือที่เกิดจากสัตว์ที่ขึ้นไปอยู่หรือขึ้นไปทำรังบนสายส่ง ไม่ว่าจะเป็นงู มด แมว นก ตุ๊กแก และจิ้งจก เป็นต้น สุดท้ายที่สำคัญ ก็คือ จากคน ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น การเผาหญ้าเผาไร่อ้อยอยู่ใกล้สายส่ง การเล่นว่าว การจุดบั้งไฟ การตัดต้นไม้ ที่อยู่ใกล้สายส่ง และขณะนี้ ยังมีการขโมยถอดเหล็กชิ้นส่วนของเสาไฟฟ้าแรงสูงไปขาย แม้แต่น็อตที่ใช้กับเสาไฟฟ้าแรงสูง มีการขโมยถอดออกไป เพราะมีขนาดพอดีกับการใช้ในรถอีแต๋นหรือรถไถ เป็นเรื่องที่ป้องกันยาก เพราะสายส่งกระจายอยู่ทั่วไป จึงอยากขอความร่วมมือ หากสายขาดหรือเสาล้ม กว่ากู้คืนมาได้ต้องใช้เวลานาน มีความสูญเสียมหาศาล ”

นายปรีชา กล่าวต่ออีกว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น ได้แก้ไขโดยการเชื่อมเสาและน็อตให้ติดกัน เพื่อไม่ให้ถอดออกได้ โดยทำการเชื่อมติดกันทั้งหมด ตั้งแต่ความสูงจากพื้นดินถึงระดับ 3 – 4 เมตร นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือและประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน มีมาตรการให้ชุมชนมีส่วนร่วม ทั้งการจ้างแรงงานท้องถิ่นช่วยดูแลตามแนวสายส่ง การร่วมประชุมกับอำเภอ อบต.และแกนนำชุมชน การตั้งกลุ่มเยาวชนรักษ์สายส่ง การส่งเสริมให้เกษตรกรใกล้แนวสายส่ง ร่วมโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ ด้วยการทำการเกษตรแบบธรรมชาติ เลี้ยงปลา ทำปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยหมัก ซึ่งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และลดปัญหากิจกรรมเสี่ยงใกล้แนวสายส่ง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น