xs
xsm
sm
md
lg

ชาวไทย-ลาวหลายหมื่นร่วมรับเสด็จเปิดสะพานโขง2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ประชาชนสองฝั่งโขงหลายหมื่นร่วมรับเสด็จพระเทพฯ ทรงเปิดสะพานข้ามน้ำโขงแห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต “สุรยุทธ์” มั่นใจสะพานฯเป็นแลนด์บริดจ์สำคัญเชื่อมโยงขนส่ง-การค้าในภูมิภาคทั้งเปิดเส้นทางคมนาคมสู่นานาประเทศ ขณะที่ฝ่ายลาวเผยสะพานฯช่วยปลดลาวออกจาก Land locked

ตั้งแต่ก่อนเวลา 07.00 วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่บริเวณด่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต ได้มีประชาชนชาวมุกดาหารและจังหวัดใกล้เคียงและชาวสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวทยอยมาเฝ้ารอรับและส่งเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาเป็นองค์ประธานฝ่ายไทย ในพิธีเปิดสะพานฯและฝ่ายลาวมีนายบุญยัง วอละจิด รองประธานประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นตัวแทนในพิธีโดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยประชาชนที่เฝ้ารอรับเสด็จครั้งนี้หลายหมื่นคน

สำหรับพิธีเปิดสะพานอยู่ที่กึ่งกลางสะพาน มีพิธีเปิดเวลาประมาณ 10.45 น.โดยมีนายคัตสุฮิโต ฮาซาโนบัว รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น และนายบัวสอน บุบผาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีประเทศไทย กราบบังคมทูลรายงาน
 
พลเอกสุรยุทธ์ กล่าวว่า การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 นี้เป็นผลจากความสำเร็จในการเปิดสะพานมิตรภาพหนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้การคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาวมีความสะดวกมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้เชื่อมความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย จึงได้มีความคิดที่จะก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ขึ้นอีกแห่งหนึ่งบริเวณจังหวัดมุกดาหารของไทยและแขวงสะหวันนะเขตของลาว

สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบโครงข่ายถนนเชื่อมระหว่าง 4 ประเทศ คือ พม่า ไทย ลาว และเวียดนามเข้าด้วยกัน ตามแผนพัฒนาแนวพื้นที่ตะวันออก สู่ตะวันตก และเป็นการเปิดการพัฒนาเส้นทางคมนาคมสู่ประเทศอื่นๆ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น บังคลาเทศและอินเดีย ต่อไป

หน่วยงานที่รับผิดชอบในการก่อสร้างสะพานฯของไทย คือกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ส่วนฝ่ายลาวคือกระทรวงคมนาคมขนส่งไปรษณีย์และก่อสร้าง รวมระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 36 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.46 สะพานมีความยาว 1,600 กว้าง 12 เมตร เป็นคอนกรีตอัดแรงเช่นเดียวกับสะพานมิตรภาพแห่งแรก โครงสร้างเชิงลาดคอสะพานฝั่งไทยมีความยาว 250 เมตร และที่ฝั่งลาวมีความยาว 200 เมตร รวมเป็นความยาวทั้งสิ้น 2,050 เมตร

เงินทุนการก่อสร้างสะพานฯได้รับความช่วยเหลือเป็นเงินกู้ 8,090 ล้านเยน จากธนาคารเพื่อความร่วมมือประเทศญี่ปุ่น โดยฝ่ายไทยและลาวรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดคนละครึ่ง กรรมสิทธิ์โครงการของแต่ละประเทศอยู่ที่จุดกึ่งกลางสะพาน สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นเส้นทางที่เชื่อมเส้นทางต่างๆตามแผนพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตกแล้ว ยังจะเชื่อมโยงการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาคและเอื้ออำนวยให้แต่ละประเทศสามารถให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทุกๆด้านบนพื้นฐานของความเป็นมิตรที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นอีกด้วย

ด้านนายบัวสอน กล่าวว่า การก่อสร้างสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ถือเป็นการสนองตอบความต้องการของทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายลาวที่ต้องการพัฒนาการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ให้ก้าวหน้า โดยเฉพาะการติดต่อค้าขาย การขนส่งสินค้า ระหว่างมุกดาหาร-สะหวันนะเขต ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังจะช่วยพัฒนาและส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องการขนส่งผ่านแดน การท่องเที่ยวในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เจริญเติบโตเพิ่มมากขึ้น

“สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 นี้มีบทบาทสำคัญต่อลาวมากที่จะเปิดเส้นการขนส่งหรือการติดต่อการค้ากับมิตรประเทศทางทะเลได้สะดวก เพราะลาวเป็นประเทศที่ไม่มีชายแดนติดกับทะเล”นายสอนกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในโอกาสนี้ทางการสปป.ลาว ต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้างสะพานเมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย จึงขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตมา ณ ที่นี้ด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเสร็จสิ้นพิธเปิดสะพานฯแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังแขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทรงทอดพระเนตรการสาธิตการเรียนการสอนที่โรงเรียนสาธารณสุขแขวงสะหวันนะเขต และเสวยพระกระยาหารกลางวันที่แขวงสะหวันนะเขต

สำหรับเส้นทางตะวันออกและตะวันตก(East-West Economic Corridor:EWC) มี ความยาวประมาณ 1,600 กิโลเมตร เริ่มต้นที่เมืองริมหาด หรือ เมาะละแหม่ง ซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 2,000 ปี ในสหภาพพม่า ต่อไปยังเมียวดี เมืองซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดน แล้วข้ามเขตมายังประเทศไทยในจังหวัดตาก เมืองหน้าด่านที่สำคัญทางตะวันตกในอดีต ก่อนจะมุ่งสู่พิษณุโลกจังหวัดซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ต่อไปยังขอนแก่น ที่ซึ่งปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาว่าเป็นดินแดนเจริญรุ่งเรืองมาก เมื่อครั้งอดีตเรื่อยไป จนถึงมุกดาหาร ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนที่มีภูหินรูปร่างแปลกตามากมาย

จากนั้นสะพานมิตรภาพ 2 จะเบิกเส้นทางสายนี้ ต่อกับทางหลวงหมายเลข 9 ไปยังสะหวันนะเขต เมืองขนาดใหญ่และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นลำดับที่ 2 ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เส้นทางเส้นทางตะวันออกและตะวันตก(East-West Economic Corridor:EWEC) นี้ ยังมุ่งต่อเข้าสู่ประเทศเวียดนาม ผ่านเมืองเว้ จรดดานัง เมืองท่าชายฝั่งทะเล ที่สำคัญของเวียดนามซึ่งถือเป็นจุดหมายปลายทาง

เมืองทั้งสองแห่งนี้ยังสามารถนำผู้มาเยือนไปสู่ทางหลวงหมายเลข 1 ที่ตรงเข้าสู่ดองฮาและลาวบาว เมืองชายแดนที่ถือว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญแห่งหนึ่งอีกด้วย

แม้ว่าปัจจุบันถนนที่เชื่อมสู่เส้นทางคมนาคมสายหลักนี้จะยังไม่สะดวก หากก็มีการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการก่อสร้างสะพานสำคัญอย่างสะพานมิตรภาพ 2 ได้ส่งสัญญาณอันดี และมองเห็นภาพของความสะดวกในการคมนาคมเพื่อพัฒนาศักยภาพของภูมิภาคนี้ให้ดียิ่งขึ้น

โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียได้เล็งเห็นและคาดการณ์ไว้ว่าการขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณไปจนถึงปี 2553 และจะเพิ่มขึ้นต่อไปอีกราว 10 ปี หลังจากนั้น และยังคาดการณ์ว่าเมื่อเส้นทางสายนี้เสร็จสมบูรณ์ ประชาชนผู้อาศัยอยู่สองข้างทางตลอดทางหลวงหมายเลข 9 จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ โอกาสในการทำงานการศึกษา และสาธารณสุข เป็นต้น








กำลังโหลดความคิดเห็น