ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- โรงงานน้ำตาลสุรินทร์ มูลค่ากว่า 3,000 ล้าน เปิดทดสอบเดินเครื่องจักรอย่างเป็นทางการแล้ว เผยเป็นรง.น้ำตาลขนาดใหญ่และทันสมัยแห่งที่ 2 ของกลุ่มอุตสาหกรรมโคราช ประเดิมส่งเสริมปลูกอ้อยป้อนโรงงาน 80,000 ไร่ พร้อมผุดโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากชานอ้อยและโรงงานผลิตเอทานอลจากโมลาส ชี้สร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยใน สุรินทร์-บุรีรัมย์-ศรีสะเกษ มีเงินหมุนเวียนสะพัดปีละพันล้าน เปิดรับซื้ออ้อยเดินเครื่องผลิตเต็มสูบ 16 ธ.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ โรงงานน้ำตาลสุรินทร์ บ.ปรือ ต.บ้านปรือ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด ได้ทำพิธีเปิดทดสอบเดินเครื่องจักรโรงงานผลิตน้ำตาลทรายอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ทันสมัย ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ และใช้เงินลงทุนก่อสร้างโรงงานถึง 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ มี นายพูลศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธาน พร้อมด้วยนายประเสริฐ เสถียรถิระกุล ประธานกรรมการบริษัท และคณะผู้บริหาร บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด ได้ร่วมกันทำบุญตักบาตรแด่พระสงฆ์ จำนวน 8 รูป พร้อมทำพิธีเปิดป้าย บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ,บุรีรัมย์ และจังหวัดศรีสะเกษ เข้าร่วมงานกว่า 200 คน
นายวุฒิ เสถียรถิระกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด เปิดเผย ว่า โรงงานน้ำตาลสุรินทร์ เป็นโรงงานน้ำตาลแห่งที่ 2 ของ บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด โดยโรงงานแห่งแรกตั้งอยู่ที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ได้เปิดผลิตน้ำตาลทรายมาตั้งแต่ปี 2535
สำหรับโรงงานน้ำตาลที่ จ.สุรินทร์ แห่งนี้ เป็นโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ และทันสมัยมาก ใช้เครื่องจักรกลผลิตน้ำตาลนำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศฝรั่งเศส ซึ่งบริษัทฯ ใช้งบประมาณลงทุนทั้งหมดกว่า 3,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตขั้นต่ำที่ 16,000 ตันอ้อยต่อวัน สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ 2,700 ตันต่อวัน
ผลผลิตของโรงงานน้ำตาลสุรินทร์ ทั้งน้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายดิบ โมลาส จะส่งจำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศและส่งออกยังตลาดต่างประเทศ นอกจากนั้นภายในโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ยังได้มีการสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากชานอ้อย เพื่อเป็นพลังงานใช้ภายในโรงงาน และจะดำเนินการสร้างโรงงานผลิตเอทานอล จากกากน้ำตาลหรือโมลาส ออกจำหน่ายตลาดภายในประเทศด้วย
ขณะนี้ บริษัทน้ำตาลสุรินทร์ ได้ส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และ ศรีสะเกษ พื้นที่รอยต่อกับจังหวัดสุรินทร์ แล้วจำนวน 80,000 ไร่ และ มีเป้าหมายส่งเสริมการปลูกอ้อยให้ได้ 2 แสนไร่ในปีถัดไป โดยเกษตรกรจะได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตทั้งพันธุ์อ้อย,ปุ๋ย จากบริษัทฯ และโรงงานฯ จะรับซื้ออ้อยในราคาประกันของรัฐบาล พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการปลูกอ้อยอีกจำนวน 22 ศูนย์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งโรงงานน้ำตาลสุรินทร์จะทำการเปิดรับซื้ออ้อยจากเกษตรกร และเดินเครื่องผลิตอย่างเต็มรูปแบบของฤดูกาลผลิตแรกปี 2549/50 ในวันที่ 16 ธันวาคมนี้
"การเข้ามาตั้งโรงงานผลิตน้ำตาล ในจังหวัดสุรินทร์ ส่งผลให้ประชาชนชาวสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียงในภาคอีสานตอนล่าง มีการจ้างแรงงานในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และเป็นการสร้างอาชีพให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งในแต่ละปีโดยเฉพาะฤดูกาลเปิดหีบอ้อย จะมีเงินหมุนเวียนในพื้นที่นับพันล้านบาท " นายวุฒิ กล่าว