กาฬสินธุ์ - ชาว อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ขุดค้นพบวัตถุโบราณหลายชิ้น ภายในวัดทุ่งสว่างดอนกลาง หลังเสร็จงานทอดกฐิน คาดการณ์เบื้องต้นอายุร่วม 1,000 ปี ด้านรองพ่อเมืองกาฬสินธุ์ ยังไม่มั่นใจเป็นโบราณวัตถุจริงหรือไม่ รอกรมศิลปากรตรวจสอบโดยละเอียด
ผู้สื่อข่าวรายงานมีชาวบ้านตำบลนาคำ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ได้ขุดค้นพบวัตถุโบราณหลายรายการ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวัตถุโบราณร่วมสมัยในปลายสมัยทวาราวดี บริเวณที่ขุดพบ อยู่ภายในวัดทุ่งสว่างดอนกลาง หมู่ที่ 8 ต.หัวนาคำ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เชื่อมต่อกับโรงเรียนบ้านดอนกลาง โดยมีชาวบ้านกำลังตั้งเต็นท์ และบางส่วนเข้าไปกราบไหว้ วัตถุ-พระโบราณบนศาลาการเปรียญ
นายสมพงษ์ อนันต์ศรี อายุ 50 ปี สมาชิกอบต.หัวนาคำ อ.ยางตลาด กล่าวว่า เต้นท์ที่มีกลางไว้ เป็นเต้นท์ที่ใช้ในงานทอดกฐินเพิ่งแล้วเสร็จ ส่วนที่มีการขุดพบ พระ-วัตถุโบราณ นี้ ได้มีพระจากจังหวัดกรุงเทพมหานครและนักปฏิบัติธรรม ได้เข้ามาร่วมกันค้นพบ ตามความเชื่อของชาวบ้าน และคำบอกเล่าของพระและนักปฏิบัติธรรม เนื่องจากก่อนที่จะทำการต้อนรับกฐินได้เห็นแสงพวยพุ่งขึ้นมาในบริเวณดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีคนฝันว่ามีคนโบราณร่างใหญ่ถึง 2 คนได้ออกมาร่ายรำ และเมื่อให้นักปฏิบัตินั่งสมาธิก็พบว่า ในบริเวณนี้มีวัตถุโบราณ จึงได้ช่วยกันขุดจนเจอ
นายสมพงษ์ ระบุว่า ในตอนแรก ไม่เชื่อเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่เนื่องจากแรงศรัทธาของชาวบ้านจึงได้เข้าร่วมพิธีกรรมในคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งพระที่เดินทางเข้ามาร่วมรับกฐินได้ประกอบพิธีตามความเชื่อจากนั้นได้ลงมือขุด ซึ่งหลุมก็ลึกลงไปประมาณ 1 เมตร ก็พบวัตถุโบราณดังกล่าวฯ
ด้านพระมหาภักดี มหัพพโล พระที่เดินทางเข้ามาร่วมทอดกฐิน กล่าวว่า วัตถุโบราณที่ขุดพบมีจำนวน 10 รายการ ประกอบด้วย พระบรมสาลีริกธาตุ จำนวน 17 องค์ พระปรางห้ามสมุทรทรงเครื่อง สูง 13 นิ้ว อายุ 800 ปี เนื้อสัมฤทธิ์ผสมทองแดง ศิลปะสมัยทวาราวดีตอนปลาย ต้นสมัยลพบุรี 1 องค์ พระนาคปรกทรงเครื่อง อายุประมาณ 800 ปี เนื้อตะกั่ว ศิลปะสมัยทวาราวดีตอนปลายต้นสมัยลพบุรี จำนวน 3 องค์
เงินรางเนื้อโลหะ จำนวน 12 ชิ้น กำไลสัมฤทธิ์ จำนวน 7 อัน ผอบเนื้อโลหะ จำนวน 1 อัน ฝาปิดไหโบราณ เนื้อสัมฤทธิ์ล้วน จำนวน 1 อัน หม้อเครื่องปั้นดินเผา และกระดูกมนุษย์ โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมศิลป์ได้เดินทางเข้ามาร่วมตรวจสอบ และจดบันทึกเบื้องต้นไว้
ด้าน นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ รองผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ได้เดินทางเข้าไปพิสูจน์ร่วมกับ นายจารึก วิโรแก้ว ผอ.สนง.ศิลปากรแห่งชาติจังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่วันที่ 2 พย.ที่ผ่านมา และยังไม่กล้ารับประกันว่าเป็นวัตถุโบราณจริงหรือไม่ ต้องรอให้มีการตรวจสอบโดยละเอียด คาดว่าจะรู้ผลได้ภายในวัน 6 พ.ย.นี้
จุดที่น่าสังเกต กรมศิลป์ระบุว่า วัตถุโบราณที่ขุดพบ เป็นศิลปะที่มีการค้นพบกันที่ จ.บุรีรัมย์ แต่มาพบในบริเวณนี้ และแถบนี้ไม่มีประวัติว่าน่าจะเป็นแหล่งค้นพบโบราณวัตถุได้ น่าจะอยู่ที่เมืองฟ้าแดดสงยาง อ.กมลาไสย ที่เดียว ซึ่งหากเป็นแก๊งมิจฉาชีพ นำมาฝังไว้ เพื่อหลอกชาวบ้าน เป็นเรื่องที่น่าห่วง ประชาชนที่ไปทำบุญ อาจเสียเงินทองโดยไร้ประโยชน์ โดยได้กำชับให้ นายณรงค์ชัย ทิพกนก นายอำเภอยางตลาดเข้าคุมเข้มแล้ว