xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปมที่ดินเกาะเสม็ด รอวันรัฐบาลปฏิรูปฯ เข้าสะสาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงาน
โดย ไท เอกราช,


เปิดปมปัญหาที่ดินบนเกาะเสม็ด ที่ชาวบ้านตกเป็นเหยื่ออธรรม นับจากการประกาศอุทยานฯ ทับที่ดินทำกินเดิม แต่กลับถูกดำเนินคดีฐานบุกรุก ยืดเยื้อมากว่า 16 ปี ยิ่งมาในยุครัฐบาลคิดเร็วทำเร็ว แรงบีบชาวบ้านให้ละทิ้งเกาะเสม็ดยิ่งหนักหน่วงรุนแรง เมื่อมีการจัดตั้ง “อพท.” ขึ้นมาจัดการพื้นที่เกาะเพื่อการท่องเที่ยว ขณะที่นายทุนพากันเข้ามาจับจองพื้นที่แทน โชคดีรัฐบาลนายทุนแพ้ภัยตัวเองก่อน ชาวบ้านจึงฝากความหวังรัฐบาลปฏิรูปฯเข้ามาสะสางปัญหา

ภาพภายนอกของเกาะเสม็ด คือแหล่งท่องเที่ยว ชื่อเสียงติดอันดับนำของโลก แต่ภายในกลับหมักหมมด้วยปัญหาที่สะสมมานานหลายสิบปี

“เกาะเสม็ด” ตั้งอยู่ในเขต หมู่ที่ 4 ต.บ้านเพ อ.เมือง จ.ระยอง มีเนื้อที่ทั้งหมด 4,200 ไร่ ถูกประกาศเป็นพื้นที่เขตอุทยานฯ เมื่อปี 2524 จำนวน 3,500 ไร่ ที่เหลือกันเอาไว้ให้ราษฎรราว 700 ไร่

หลังจากเกาะเสม็ดถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแล้ว แต่วันนี้ ป่ายังคงถูกทำลาย มีการก่อสร้างอาคารบนเนินเขา โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารของเจ้าหน้าที่อุทยานฯเสียเอง จนทำให้ที่อยู่อาศัยของนกเงือกที่หายากและมีอยู่ชุกชุมบนเกาะเสม็ดได้กลายมาเป็นอาคารที่พักทำเป็นศูนย์เยาวชน เป็นต้น

ต้นไม้ใหญ่ยืนต้นถูกตัดถูกทำลายลง เกาะบริวารก็เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างเต็มไปหมด บางที่บนเกาะบริวารกลายเป็นสมบัติส่วนตัวของคนป่าไม้ไปก็มี..

ขณะที่ราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินบนเกาะเสม็ด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2467 และลูกหลาน ต้องตกเป็นผู้ต้องหา ในข้อหาต่างๆ กัน เช่น ข้อหาบุกรุกที่ดินอุทยานแห่งชาติ ข้อหาก่อสร้างต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต

**ประกาศเขตอุทยานฯ จุดเริ่มของปัญหา

หลังการประกาศให้เกาะเสม็ดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติฯ ในปี2524 ปัญหาของคนบนเกาะเสม็ดก็เริ่มขึ้น เพราะพื้นที่อุทยานฯทับซ้อนกับพื้นที่ครอบครองของราษฎรที่อาศัยทำกินอยู่บนเกาะมาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ

เดือนพฤษภาคม ปี 2525 ราษฎรเกาะเสม็ดได้ร้องขอให้อุทยานฯดำเนินการกันพื้นที่ ที่จะอนุญาตให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์ได้ ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ พร้อมติดป้ายหมายแนวให้ชัดเจน ทางอุทยานแห่งชาติจึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักป่าไม้จังหวัดระยอง เจ้าหน้าที่ตำรวจและตัวแทนชาวบ้าน ออกทำการสำรวจพื้นที่ราษฎร

ผลของการดำเนินการปรากฏว่า ทางอุทยานฯและจังหวัดระยองได้ร่วมกันพิจารณา กันพื้นที่ส่วนหนึ่งทางด้านทิศเหนือของเกาะเสม็ด ซึ่งมีราษฎรอาศัยอยู่ทำกินมาแต่เดิม ประมาณ 105 ครอบครัว และเป็นบริเวณที่ทางราชการได้ใช้จัดตั้งสำนักงานของส่วนราชการต่างๆ และสำนักสงฆ์ ออกจากพื้นที่ของอุทยาน โดยได้ทำการติดป้ายหมายแนวและจัดทำแผนที่แสดงไว้อย่างชัดเจน

ทั้งยังได้ทำการสำรวจจำนวนราษฎรที่ได้ประกอบกิจการทางด้านให้บริการนักท่องเที่ยวด้วยการจัดตั้งร้านค้าและบริการที่พักแรม ซึ่งได้ดำเนินการมาก่อนหน้าที่จะได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามชายหาดและอ่าวต่างๆ ของเกาะเสม็ด

พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 34 ราย จึงได้ร่วมกันจัดทำแผนผังแสดงอาณาเขตและตำแหน่งของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ราษฎรทั้ง 34 รายได้ก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ของแต่ละบุคคลไว้เป็นหลักฐาน เพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่ทำกินออกไปในอนาคต และผ่อนผันให้ราษฎรเหล่านั้นประกอบกิจกรรมของตนต่อไปได้ เท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น โดยอยู่ในความควบคุมดูแลของอุทยานฯ

รายชื่อผู้ครอบครองที่ดินรวมสิ่งปลูกสร้าง ก่อนประกาศให้เกาะเสม็ดเป็นอุทยาน 34 ราย มีดังนี้

1.นายปุ่น บุญธาราม ครอบครองที่ดินหาดทรายแก้ว 20 ไร่
2.นางวาสนา สุขกระจ่าง ครอบครองที่ดินหาดทรายแก้ว 20 ไร่
3.นางอุดมรัตน์ สระอ้าน ครอบครองที่ดินหาดทรายแก้ว20 ไร่
4.นายประกอบ มากปรี ครอบครองที่ดินหาดทรายแก้ว 20 ไร่
5.นายแจ๋ว (ร้านรุ่งนภา) ครอบครองที่ดินหาดทรายแก้ว 20 ไร่
6.นายประจักษ์ ไม่ทราบนามสกุล ครอบครองที่ดินหาดทรายแก้ว 20 ไร่
7.นายวิศิษฐ์ มณีนุช ครอบครองที่ดินหาดทรายแก้ว 0.59 ไร่
8.นางหอยพิมพ์ แพทย์พิบูลย์ ครอบครองที่ดินหาดทรายแก้ว 4.7ไร่
9.นายบังเอิญ แพทย์พิบูลย์ ครอบครองที่ดินหาดทรายแก้ว 1.32 ไร่
10. นายประเสริฐ สุขกระจ่าง ครอบครองที่ดินหาดทรายแก้ว 1.28 ไร่

11.นางเติบ สังขสุวรรณ ครอบครองที่ดินหาดทรายแก้ว 7.26 ไร่
12.นายเพลิน ทองมณี ครอบครองที่ดินหาดทรายแก้ว 1.79 ไร่
13.นายทศพล พุฒซ้อน ครอบครองที่ดินหาดทรายแก้ว 3.19 ไร่
14.นายหงิม แวววับ ครอบครองที่ดินอ่าวไผ่ 1.18 ไร่
15.นางชวลี สัตยพันธ์ มีที่ดินบริเวณอ่าวไผ่ยังไม่ทราบจำนวน
16. นายเสรีชัย สุภาพพานิชย์ ครอบครองที่ดินอ่าวคลองไผ่ 7.80 ไร่
17.นายสัมฤทธิ์ เกื้อวงศ์ ครอบครองที่ดินอ่าวคลองไผ่ 3.21 ไร่
18.นายสำรวย พรมรงค์ ครอบครองที่ดินอ่าวคลองไผ่ 2.34 ไร่
19.นายชาลี ไม่ทราบนามสกุล ครอบครองที่ดินอ่าวคลองไผ่ 4.46 ไร่

20. นายสมศักดิ์ สุขกระจ่าง ครอบครองที่ดินหาดทับทิม 5.18 ไร่
21.นายพิชัย งามละเอียด ครอบครองที่ดินหาดทับทิม 10.27 ไร่
22. นายสมหวัง พึ่งกุศล ครอบครองที่ดินอ่าวช่อ 5.27 ไร่
23.นายธานี ภู่จีน ครอบครองที่ดินอ่าวช่อ 4.47 ไร่
24.นายมนัส พึ่งสุจริตกุล ครอบครองที่ดินอ่าววงเดือน 6.61 ไร่
25. นายสุวิทย์ น้ำใจตรง ครอบครองที่ดินอ่าววงเดือน 3.25 ไร่
26. นายธูป เจริญผล ครอบครองที่ดินอ่าววงเดือน 7.70ไร่
27.นายจำเนียร หนุนภักดี ครอบครองที่ดินอ่าววงเดือน 10.32 ไร่
28. นายพงษ์ธร นาวาพานิช ครอบครองที่ดินอ่าววงเดือน 9.19 ไร่
29. นายเก๋ ตะวันออก ครอบครองที่ดินอ่าวพร้าว 5.34 ไร่
30. นายวิจิตร กาลา ครอบครองที่ดินอ่าวพร้าว 4.69 ไร่
31. นางรัตนา ไม่ทราบนามสกุล ครอบครองที่ดินอ่าวพร้าว 3.41 ไร่
32. นายดำ ชลสวัสดิ์ ไม่ทราบจำนวนที่ดินบริเวณ อ่าวลุงดำ
33.นายคเณ ฟุ้งเฟื่อง ครอบครองที่ดินอ่าวแสงเทียน 12.21 ไร่
34. นายวิชัยกุลหรือนายกุน วิจัยกุน มีที่ดินอ่าวหวาย 18.31 ไร่

ซึ่งต่อมา ตามข้อตกลงของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาวิธีการดำเนินการออกหนังสือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินหนังสือสิทธิครอบครองให้แก่ราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนและทำมาหากินในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือเขตสาธารณประโยชน์ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีรองอธิบดีกรมป่าไม้ นายไพโรจน์ สุวรรณกร ร่วมพิจารณาด้วย เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2529 ได้มีผู้ยื่นขอเป็นผู้ตกสำรวจ จำนวน 12 ราย ดังนี้

1.นายชวรัตน์ สัตยาพันธ์ ร้องว่าได้ครอบครองพื้นที่บริเวณอ่าวนวล ซึ่งอุทยานฯได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า นายชวรัตน์ ได้ครอบครองพื้นที่อยู่จริงโดยอยู่อาศัยมาตั้งแต่ปี 2518 ในพื้นที่มีสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่น บังกะโล 9 หลังบ้านพัก 1หลัง ร้านอาหาร 1 หลัง ห้องน้ำ 1 หลังและส้วม 1 หลัง และพื้นที่ดังกล่าวมิได้อยู่ในเขตสงวนสภาพธรรมชาติของอุทยานฯ แห่งชาติ

2.นายชาญ อาศรมสาธนา ร่องว่าได้ครอบครองที่ดินบริเวณแหลมอ่าวเทียน มาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติได้ตรวจสอบแล้วพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีกระท่อมเพียง 2 หลัง ไม่พบการเข้าทำประโยชน์ อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่สวยงามตามธรรมชาติ และมีพรรณไม้ขึ้นหนาแน่น ควรบำรุงรักษาไว้ตามเดิม

3. นางพัด สุขา ร้องว่าได้ครอบครองพื้นที่บริเวณอ่าวช่อ โดยได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยและปลูกพืชผล ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2520 เนื้อที่ครอบครอง 1 ไร่ ซึ่งอุทยานแห่งชาติได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า นางพัด ได้ครอบครองพื้นที่อยู่จริง ได้มีร้านอาหารและเครื่องดื่ม มีบ้านพัก 1 หลังและได้ปลูกพืชผลอื่นๆ ในพื้นที่ด้วย ประกอบกับในพื้นที่ไม่มีพรรณไม้ป่าขึ้นอยู่ จึงเห็นควรพิจารณาหมายแนวเขตให้เป็นพื้นที่ประกอบกิจเพื่อบริการนักท่องเที่ยว

4. นางสอาด ไชยพัฒน์ ร้องว่าได้ครอบครองที่ดินบริเวณอ่าวทับทิม โดยได้ครอบครองประมาณ 15 ไร่ ซึ่งอุทยานแห่งชาติได้ตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่านางสะอาด ได้ครอบครองที่ที่ได้ทำประโยชน์มานานแล้ว โดยมีหลักฐานจากพืชผลที่ปลูกมีขนาดใหญ่และอายุมาก มีบ้านพักสำหรับอยู่อาศัยมานานแล้ว โดยมีหลักฐานจากพื้นผลที่ปลูกมีขนาดใหญ่และมีอายุมาก มีบ้านพักสำหรับอยู่อาศัย 1หลัง ปัจจุบันคงใช้อยู่อาศัยเก็บพืชผลอยู่ จึงเห็นควรหมายแนวเขตให้เป็นที่เพื่อเกษตรกรรม

5. นายจวง ฤทธิรักษา ร้องว่าได้ ครอบครองพื้นประมาณ 20 ไร่ที่บริเวณสันเขาพลอยแหวน โดยทำประโยชน์ปลูกไม้ผล ซึ่งอุทยานฯตรวจสอบแล้วปรากฏว่าพื้นที่ดังกล่าวยังมีพรรณไม้ขึ้นหนาแน่นและไม่มีร่องรอยการเก็บเกี่ยวและเข้าทำประโยชน์ จึงควรสงวนพื้นที่แห่งนี้ไว้

6.นายยุทธนา สุบรรณภาส ร้องว่าได้ครอบครองพื้นที่ประมาณ 15ไร่บริเวณอ่าวศอก โดยได้ซื้อจากนายเชย แสงกระจ่าง เมื่อปี 2532

7.นายวรชาติ เวชภูติ ร้องว่าได้ครอบครอบที่ดินบริเวณอ่าววงเดือน เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่

8. นายสมาน วงษ์เพชร ร้องว่าได้ครอบครองที่ดินบริเวณอ่าวขาม เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ซึ่งอุทยานแห่งชาติได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าพื้นที่ดังกล่าว นายสมานได้เคยทำประโยชน์มานานแล้ว โดยการปลูกพืชไร่และพืชสวน ปัจจุบันก็ยังเก็บเกี่ยวพืชผลอยู่ ไม่มีสิ่งก่อสร้างใด จึงเห็นควรหมายแนวเขตพื้นที่ถือครองให้นายสมาน เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร

9. นายโชติ โพธิแสง ร้องว่าได้ครอบครองพื้นทีบริเวณอ่าวหน้าในประมาณ 20ไร่มานานกว่า 20 ปีแล้วซึ่งทางอุทยานตรวจสอบแล้วปรากฏว่าพื้นที่ของนายโชติ มีการปลูกพืชไร่พืชสวนเช่นมะพร้าว มะม่วง ขนุน ฝรั่ง สะตอฯลฯ และยังเก็บพืชผลจนถึงปัจจุบัน เห็นควรหมายแนวเขตพื้นที่ถือครองให้นายโชติเพื่อเป็นพื้นที่เพื่อเกษตรกรรมได้

10. นายสวิต แช่มนิล ร้องว่าได้ครอบครองที่ดินบริเวณอ่าวนวล เนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2520 โดยได้ทำประโยชน์บางส่วน ซึ่งทางอุทยานฯได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า พื้นที่ของนายสวิต มีการปลูกสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่นบังกาโล ร้านอาหาร ถังเก็บน้ำ ห้องน้ำ ห้องส้วมและห้องไฟฟ้า รวม 11 หลัง ลักษณะอาคารเก่าแสดงว่าได้ปลูกสร้างมานานแล้ว

11.นายประสิทธิ งามสุวรรณ ร้องว่าได้ครอบครองที่ดินบริเวณอ่าวไผ่ตอนบนตรงทางแยกอ่าววงเดือน-อ่าวพร้าว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ โดยการปลูกพืชสวน และ

12. นายเล็ก งามสุกใส ร้องว่าได้ครอบครองพื้นที่บริเวณอ่าวช่อเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่มาเป็นเวลาประมาณ 15 ปี โดยได้ทำประโยชน์ ปลูกพืชผลและไม้ต่างๆปัจจุบันยังเก็บเกี่ยวพืชผลในที่ดินอยู่.

จากนั้นก็มีการทำการแปลภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่เกาะเสม็ด ซึ่งถ่ายทำในปี พ.ศ.2510 และ พ.ศ.2524 เพื่อจัดทำเป็นแผนที่แสดงการใช้ประโยชน์พื้นที่

กลุ่มราษฎรที่ครอบครองที่ดินจำนวน 105 ครอบครัว ปัญหาค่อนข้างน้อย เพราะราษฎรกลุ่มนั้นประกอบอาชีพประมง ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินนัก

ส่วนกลุ่มราษฎร 34 ครอบครัว มีทำเลที่ตั้งการทำมาหากินอยู่กับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศตามแนวชายหาดที่สวยงามของเกาะเสม็ดที่มีความยาวถึง 10 กม.ด้วยกัน จึงต้องปฏิบัติตามสัญญาที่มีต่อกันกับกรมป่าไม้อย่างเคร่งครัดนั่นเอง

แต่เพราะได้รับการยอมรับจากการสำรวจสิทธิแล้วว่าอยู่มาก่อนจริง จึงทำให้ต่างก็ทำมาหากินกันไป

**กระทู้สภาจังหวัดเป็นเหตุ

จนกระทั่งเดือนสิงหาคม ปี 2529 ทางอุทยานฯ ได้รับกระทู้ถามจากสภาจังหวัดระยอง ว่าเหตุใดจึงละเลยต่อหน้าที่ไม่ยอมจับกุมผู้ละเมิดก่อสร้างบังกะโลที่พักแรมเพิ่มเติมและปล่อยให้มีผู้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดิน เพิ่มขึ้นเกินกว่า 34 รายตามที่กำหนดไว้

อุทยานฯ จึงเริ่มจัดการผู้บุกรุก ด้วยการจับกุมผู้บุกรุกรายใหม่เป็นทหารนอกราชการ(ยศพันโท) ชื่อ ณัทวัช รัตนะ ที่บริเวณอ่าวกิ่ว โดยวิธีแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ต.บ้านเพ และแจ้งความดำเนินคดีผู้บุกรุกรายอื่นจำนวน 9 ราย

ทำให้มีการจับกุมราษฎรเป็นครั้งแรก และทวีความรุนแรงขึ้น ราษฎรไม่พอใจ และได้รวมตัวกันไปร้องที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อเดือนกันยายน 2529 นำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาวิธีการดำเนินการออกหนังสือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินหนังสือสิทธิครอบครองให้แก่ราษฎร ที่ตั้งบ้านเรือนและทำมาหากินในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือเขตสาธารณประโยชน์ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีรองอธิบดีกรมป่าไม้ นายไพโรจน์ สุวรรณกร ร่วมพิจารณาด้วย เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2529 ได้กำหนดข้อตกลงกับราษฎร ไว้ 8 ข้อด้วยกัน เป็นแนวทาง ซึ่งล้วนเป็นข้อตกลงที่ราษฎรยอมรับได้

**34 ราย โดนข้อหาบุกรุก

ต่อมาเดือนพฤษภาคมปี 2533 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ร่วมกับตำรวจจับกุมผู้ประกอบการย่านแหลมใหญ่ลงมาจนถึงย่านอ่าวกะรัง ตั้งข้อหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติ กับผู้ครอบครองในจำนวน 34 ราย ทำสำนวนส่งอัยการฟ้องร้องต่อศาล

เมื่อราษฎรที่ถูกจับทั้งหมด ถูกข้อหาบุกรุกที่ดินอุทยานแห่งชาติ เท่ากับดับความหวังของราษฎรทั้งหลายที่อยู่อาศัยทำมาหากินมาก่อนประกาศอุทยาน

แม้จะมีความหวังที่ มีคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาวิธีการดำเนินการออกหนังสือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินหนังสือสิทธิครอบครองให้แก่ราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนและทำมาหากินในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือเขตสาธารณประโยชน์ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีรองอธิบดีกรมป่าไม้ นายไพโรจน์ สุวรรณกร ร่วมพิจารณาด้วย เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2529 ที่ได้กำหนดข้อตกลงกับราษฎร ไว้ 8 ข้อด้วยกัน เป็นแนวทาง

ในจำนวน 8 ข้อนั้นมีอยู่ข้อหนึ่งเช่นข้อที่ 8.5 บอกว่า “การผนวกแนวเขตพื้นที่ของราษฎรจำนวน 34 ราย อุทยานแห่งชาติจะเป็นผู้ดำเนินการให้”

แต่ในที่สุดความหวังก็หมดไปเมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้และตำรวจจับกุมดำเนินคดีกับราษฎรเหล่านี้.

คดีบุกรุกเมื่อปี 2533 ตกเป็นปัญหากันมานาน จนกระทั่งมามีรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2544 ราษฎรเกาะเสม็ดกลับถูกกระทำหนักหน่วงกว่าเก่า คนเกาะเสม็ดโดนบีบโดนบังคับจากเจ้าหน้าที่รัฐฯ อย่างกว้างขวางขึ้น

เพียงแค่ 5 ปีหลังนี้ ราษฎรแทบไม่มีสิทธิในการทำกินใดๆ ยกเว้นแต่กลุ่มทุนท้องถิ่นทั้งในและกลุ่มทุนนอก

ถึงแม้ในภายหลังจะมีกระทรวงใหม่ชื่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติฯ เข้าไปสังกัดอยู่ก็ตาม แต่ราษฎรกลับต้องมาเผชิญปัญหาเดิมซ้ำๆ ซากๆ อีก

และคราวนี้ต้องเผชิญปัญหาอย่างหนักหน่วงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลคิดเร็วทำเร็ว เร่งรัด รีบร้อนและร้อนรน ที่จะจัดระเบียบในแต่ละเกาะแก่งของประเทศไทยให้จงได้

พร้อมกับมีนโยบายให้กรมธนารักษ์ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ จัดการกับราษฎรเกาะเสม็ดอย่างเด็ดขาด

แทนที่จะทบทวนเรื่องอุทยานแห่งชาติทับที่ดินของบรรพบุรุษของเขาที่อาศัยบนเกาะเสม็ดนี้มาก่อน กลับบีบบังคับ ที่จะให้ไปทำสัญญากับธนารักษ์จังหวัดระยอง โดยความเห็นชอบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้ได้แต่ฝ่ายเดียว

**ส่งหนังสือขู่

ตัวอย่างหนึ่งในจำนวนหลายวิธีชี้ชัดถึงการบีบบังคับราษฎร คือหนังสือจากนางนงลักษณ์ ขวัญแก้ว ธนารักษ์จังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ส่งไปถึงนายนาวี มีบุญ ให้ไปชำระเงินและจัดทำสัญญาเช่าฉบับใหม่

มีใจความตอนหนึ่งว่า.. “การเป็นคดีความกับทางราชการจะไม่เป็นผลดีกับชีวิตประจำวันของท่าน ..!”

สำหรับนายนาวี มีบุญ ราษฎรเกาะเสม็ดนี้ เช่าที่ดินราชพัสดุเกาะเสม็ด จำนวน 145.8 ตารางวา จะต้องไปจัดทำสัญญาเช่าใหม่ จะต้องจ่ายเงินค่าเช่าอีกปีละ 440 บาท ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 880 บาท ต้องวางหลักประกันอีก 440 บาท รวมเป็นเงิน 1,760 บาท

จากการรวบรวมข้อมูล พบว่าชาวบ้านถูกบีบบังคับให้ออกไปจากที่ดินบนเกาะเสม็ด หากไม่ไปเช่าทำสัญญากับธนารักษ์จังหวัดและเพื่อจัดระเบียบ จัดการเรื่องการท่องเที่ยวในรูปแบบพิเศษ ตามนโยบายของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา นั่นเอง

เมื่อก่อนจะดีจะชั่ว ครั้งตั้งอุทยานแห่งชาติใหม่ๆ สังกัดกรมป่าไม้ ก็ยังอยู่ในรูปของกระบวนการยุติธรรมจับกุมทำเป็นคดีส่งไปให้อัยการฟ้องร้องให้ศาลสถิตยุติธรรมตัดสิน

หลายรายแพ้คดี มี 2-3 รายชนะคดี ซึ่งศาลพิพากษาอุทธรณ์พิพากษาแก้ยกฟ้อง และยังมีอีกที่ยังต่อสู้คดีอยู่อีก 2-3 เช่นกัน ที่คดีความยังไม่สิ้นสุดทั้งหมด.

**พื้นที่อุทยานฯ ไร้หลักเขต

การประกาศเขตอุทยานฯ เกาะเสม็ดนั้น เป็นที่รู้กันว่าได้กันพื้นที่ 700 ไร่ เพื่อให้ราษฎรอยู่ทำกินกัน แต่กลับไม่มีความหมาย ในสายตาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของราษฎรเกาะเสม็ดชุดต่างๆ ของรัฐบาลต่างๆ ที่ผ่านมา

สำหรับที่ดินที่กันออกมาจากพื้นที่อุทยานฯ จำนวน 700 ไร่ ปัจจุบันได้เป็นที่ตั้งหน่วยราชการเข้าใช้พื้นที่ เช่น กรมปศุสัตว์ 17 ไร่ สำนักงานการศึกษา 20 ไร่ กรมอนามัย 1 ไร่ โรงเรียนเกาะแก้วพิสดาร 10 ไร่ เป็นที่ นสล.รย. 191 รวมเนื้อที่ดินของรัฐใช้ประโยชน์อยู่ 48 ไร่ คงเหลือที่ดิน 652 ไร่

จากที่ทีมข่าวได้สอบถามข้อมูลจากราษฎรบนเกาะเสม็ด พบว่า ไม่มีการจัดวางแนวเขตที่ดินของอุทยานแห่งชาติให้ชัดเจนออกว่า เขตอุทยานฯ จำนวน 3,500 ไร่ กับพื้นที่กันไว้ให้ราษฎรทำกินจำนวน 700 ไร่ นั้นครอบคลุมที่ดินแถบไหน จุดใดบ้าง ถามใครก็ไม่มีใครทราบ

นายลาภสิน (ทศพล) พุดซ้อน ผู้ใหญ่บ้านเกาะเสม็ด หมู่ 4 ได้ทำหนังสือเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดระยองคนปัจจุบัน ขอทำการรังวัดพื้นที่ในความรับผิดชอบ เพื่อออกหนังสือสำคัญที่ดินหลวง(นสล.) ลงวันที่ 11 กันยายน 2549 ไปแล้ว

โดยขอให้ ราชพัสดุจังหวัด อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเสม็ด เตรียมการต่อการมาชี้แนวเขตในความรับผิดชอบของหน่วยงานตน เพื่อทำการรังวัด ออก นสล. เช่นเดียวกันกับการรังวัดออกโฉนด

ทั้งนี้ ให้ดำเนินการทั้งหมด 3 ขั้นตอน รวมระยะเวลา 135 วัน

ความพยายามของผู้ใหญ่บ้านดูเหมือนว่า จะไม่ได้รับการสนองตอบสักเท่าไหร่ และอาจเข้าอีหรอบเดิม เพราะมีการวนเวียนประชุมเรื่องปัญหาเดิมๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

**ยื่นร้องผู้ตรวจการรัฐสภา

แต่สำหรับราษฎรเกาะเสม็ดคนอื่นๆ ที่รวมตัวกันต่อสู้เพื่อสิทธิการครอบครองที่ดิน พวกเขาได้นำหลักฐานพร้อมเอกสารเท่าที่มีจำนวนหนึ่ง สรุปเรื่องที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่งไปยังหน่วยงานที่รับร้องเรียนไว้คือผู้ตรวจการรัฐสภา

หนังสือร้องเรียน ซึ่งตัวแทนกรรมการหมู่บ้าน นายพร้อม ฟุ้งเฟื่อง นางบรรทม เจริญผล น.ส.ดุจหทัย นาวาพานิช กรรมการหมู่บ้านร่วมเซ็นชื่อจริงลงชื่อจริง พร้อมราษฎรคนอื่นๆได้ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมส่อทุจริตของนักการเมืองและข้าราชการ ในพื้นที่เกาะเสม็ดไปในคราวเดียวกัน

นส.ดุจหทัย นาวาพานิช หนึ่งแกนนำตัวแทนราษฎรบนเกาะ เปิดใจถึงการเข้ามาต่อสู้ เพื่อรักษาสิทธิที่ดินทำกินของบรรพบุรุษ และของราษฎรบนเกาะเสม็ดว่า กลุ่มของเธอต้องการเพียงที่ดินของบรรพบุรุษกลับคืนมา ไม่ต้องการมีเรื่องราวกับกลุ่มทุนท้องถิ่นรายใดทั้งสิ้น

ที่ลงทุนในธุรกิจก็ลงทุนกันไป เพราะนั่นมันหมายถึงความเจริญของบ้านเกิดของเธอ แต่ในฐานะที่เป็นคนเกาะเสม็ด รักเกาะเสม็ด ไม่อยากจะเห็นเกาะเสม็ดถูกนำพาไปหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากนักการเมืองและข้าราชการบางคน

**ถอดใจขายสิทธิให้นายทุน

สำหรับความคืบหน้าคดีบุกรุกที่ดินอุทยานแห่งชาติเกาะเสม็ด ตั้งแต่ปี 2533 นายสิทธิชัย เสรีสงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2549 ว่า หลังจากที่อุทยานแห่งชาติฯได้ดำเนินการจับกุมดำเนินคดีผู้ประกอบการรีสอร์ตที่บุกรุกพื้นที่หมู่เกาะเสม็ด 43 รายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2533 และอีก 5 ราย เมื่อปี 2541-2546 ได้ผู้ต้องหา 52 คนเป็นคดียืดเยื้อมานานร่วม 16 ปี

ขณะนี้คดีทั้งหมดได้ถึงที่สุดแล้ว คงมี 8 รายที่ยังไม่ทำเรื่องเช่าพื้นที่กับกรมธนารักษ์จังหวัดระยอง ประกอบด้วย

คดีที่ 1.นางเติบ สังข์สุวรรณ นายจเร สังข์สุวรรณ กิจการไวท์แซนด์บังกะโล หาดทรายแก้ว คดีถึงที่สุด ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำคุกคนละ 1 ปี รอการลงอาญา 2 ปี ปรับคนละ 23,500 บาทให้จำเลยออกจากที่ดิน เมื่อไม่จ่ายค่าปรับ จึงรอยึดทรัพย์ขายทอดตลาด

คดีที่ 2. น.ส.จิตติกานต์ ตระกูลกาญจน์ กิจการ ซันแซนด์ หาดทรายแก้ว คดีถึงที่สุด จำเลยรับสารภาพ จำคุก 1 ปี 4 เดือน รอการลงอาญา 2 ปีปรับ 20,000บาท

คดีที่ 3.นายสมศักดิ์ สุขกระจ่าง กิจการพุทราบีช อ่าวพุทรา คดีถึงที่สุด ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 2 ปี รอการลงอาญา 2 ปี ปรับ 25,000 บาท ให้จำเลย-บริวารออกจากที่ดิน จำเลยไม่ชำระค่าปรับ อยู่ระหว่างหมายบังคับคดี

คดีที่ 4.นางเบียน ดิษฐ์เหม กิจการ วันเดอร์แลนด์ อ่าวช่อคดีถึงที่สุด พิพากษาให้จำคุก 1 ปี รอกำหนดโทษ 2 ปี ปรับ 8,800 บาท

คดีที่ 5.นายดำ ชลสวัสดิ์ และนายนพดล ชลสวัสดิ์ กิจการ ลุงดำฮัท อ่าวลุงดำ คดีถึงที่สุด พิพากษาให้จำคุกคนละ 2 ปี รอการลงอาญา 2 ปี ปรับ 23,500 บาท

คดีที่ 6. นายพงศธร นาวาพานิช กิจการ วงเดือนวิลล่า อ่าววงเดือน คดีถึงที่สุด ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง

คดีที่ 7.นายธูป เจริญผล กิจการซีฮอร์สบังกะโล อ่าววงเดือน คดีถึงที่สุด พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากจำเลยไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการตามวัน/เวลาดังกล่าว /ปีที่โจทก์ฟ้อง

คดีที่ 8 นายทศพล พุฒซ้อน กิจการ นากะ อ่าวไผ่ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 1 ปี รอการลงอาญา 2 ปี ปรับ 20,500 บาท อยู่ระหว่างอุทธรณ์

ทั้งนี้ รายของนายทศพล ถือว่าคดียังไม่สิ้นสุด เพราะนายทศพลสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ และ มีอีก 1 รายซึ่งเป็นที่ดินที่ศาลพิพากษาเป็นทรัพย์มรดก

(อ่านรายละเอียด ตัวอย่างคำพิพากษาศาลยกฟ้อง"วัลลภ สุขกระจ่าง"
ยกฟ้องเจ้าของ"วงเดือนวิลลา" 3 ข้อหารวด)

ยิ่งการต่อสู้เพื่อสิทธินั้นนานมากไปเท่าใด ยิ่งมีการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนรัฐมนตรี เปลี่ยนอธิบดี เปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัด เปลี่ยนเจ้าหน้าที่ธนารักษ์ ปัญหาเกาะเสม็ดก็ยิ่งยืดเยื้อขึ้นทุกที

ฝ่ายราษฎรซึ่งเป็นคนยากคนจน เมื่อไม่มีเงินเพียงพอใช้จ่ายเพื่อสู้คดี ก็จำเป็นต้องขายสิทธิที่ดินที่อยู่อาศัยให้นายทุนไปบางส่วน แล้วนายทุนก็ไปทำสัญญาเช่าที่ดินกับเจ้าหน้าที่ธนารักษ์จังหวัดระยอง

ดังเช่นปรากฏเป็นตัวอย่างในเอกสารราชพัสดุทะเบียนเลขที่ รย.448 นายนิคม พร้อมกูล (ผู้โอน) โดยมี บริษัท ทรีเสม็ดรีสอร์ท จำกัด(ผู้รับโอน) ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน นสล. เลขที่ 16/2467 มีรายชื่อผู้ทำการรังวัดเอาไว้ด้วย

และรายอื่นๆ ซึ่งเมื่อนายทุน คนมีเงินเข้ามาทำกิจการด้านการท่องเที่ยว สิ่งก่อสร้าง จึงปรากฏอาคารสวยงามที่พักของนักท่องเที่ยว อยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ของเกาะ

** เตรียมประกาศ อพท.บีบชาวบ้านพ้นเกาะ

เมื่อรัฐบาลยุคคิดเร็วทำเร็ว ประกาศจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ในปี 2546 และมีการประกาศพื้นที่ อพท.เกาะช้างในปีเดียวกัน พร้อมกับวางเป้าหมายจะประกาศบนพื้นที่เกาะเสม็ด ในปี 2547 เพื่อจัดการพื้นที่เป็นเขตท่องเที่ยวพิเศษต่อไป ทำให้ชาวบ้านบนเกาะเสม็ดถูกบีบคั้นหนักหน่วงยิ่งขึ้น

แม้ว่าขณะนี้ อพท.ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ระยอง เพราะ ราษฎรเกาะเสม็ดออกมาต่อต้าน แต่ก็มีการกว้านซื้อที่ดินจากนายทุนนักการเมืองด้วยการส่งตัวแทนมาซื้อจากประชาชนเอาไว้เช่นเดียวกับพื้นที่เกาะช้าง

ทีมพลังราษฎรคนเกาะเสม็ด รักเกาะเสม็ด รักบ้านเกิด ได้รวบรวมพฤติกรรมต่างๆ จากรายงานการประชุมของจังหวัดร่วมประชุมกับหน่วยงานราชการอื่นๆ หลายครั้ง เกี่ยวกับเรื่องปัญหาเกาะเสม็ด ทุกครั้งไม่มีการพูดถึงเรื่อง สิทธิที่ดินอยู่อาศัยทำกินของราษฎรเกาะเสม็ดเพื่อหาทางช่วยเหลือ

การประชุมทุกครั้งจะพูดถึงแต่เรื่อง การจัดการกับปัญหา ยุติปัญหาด้วยการบีบหรือหาทางทำให้ราษฎรเหล่านั้น มาทำสัญญาเช่าที่ดินกับธนารักษ์ หรือกรมอุทยานแห่งชาติให้ได้

ดังเช่นการประชุมเมื่อ 3 เมษายน 2544 ก็มีคำพูดของประธานที่ประชุมที่น่าสนใจว่า

1.ให้ชี้แจงให้ราษฎรทราบว่า ที่ดินบนเกาะเสม็ดทั้งหมดเป็นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์จะต้องดูแลรักษาเพียงแต่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติกรมป่าไม้เข้ามาดูแลรับผิดชอบอีกหน่วยงานหนึ่ง

2. พื้นที่ที่ราษฎรทุกรายครอบครองอยู่ จะต้องถูกสำรวจรังวัดว่ามีเนื้อที่เท่าใด มีสิ่งก่อสร้างเท่าใดและใช้ประโยชน์อย่างไร

3.หลังจากการสำรวจรังวัด ต้องเซ็นสัญญาและห้ามมิให้ต่อเติมสิ่งก่อสร้าง มิฉะนั้นจะผิดกฎหมายและทางราชการจะไม่เซ็นสัญญาให้เช่า

การเซ็นสัญญาเช่าพื้นที่ทั้งหมดให้ใช้สัญญาเช่าของกรมธนารักษ์ แต่ถ้าอยู่ในเขตอุทยานก็ผนวกเงื่อนไขท้ายสัญญาของกรมป่าไม้ด้วย

ส่วนผู้ประกอบการจำนวน 49 ราย ในเขตอุทยานแห่งชาติ หากมีสิ่งก่อสร้างในพื้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ถูกจับกุมดำเนินคดี ก็ต้องรื้อออกให้หมด เพราะจะไม่ให้เช่า

ในปี 2547 นายธันยา หาญพล รอง ผู้อำนวยการ อพท. เดินทางไปให้นโยบายกับจังหวัดระยอง ธนารักษ์จังหวัด และอุทยานฯให้ไปจัดการให้ชาวบ้านเช่าทำสัญญาเช่าให้หมด เป็นที่มาของประโยคที่ว่า... “เกาะช้างมีปัญหามาก โชคดีชาวบ้านเกาะเสม็ดไม่มีเอกสารสิทธิ คงจัดการได้ง่ายหน่อย” หลุดออกมาจากปากคำของคนสำคัญคนหนึ่ง

จากข้อมูลต่างๆ พฤติกรรมของส่วนราชการบางหน่วยงานที่เชื่อมโยงกันนั้น ทำให้รู้แน่ๆว่า เกาะเสม็ดตกเป็นเป้าหมาย ของหน่วยงานแห่งหนึ่งที่จะเข้ามาจัดการด้านการท่องเที่ยวให้ได้ และเป้าหมายสำคัญคือจัดการกับราษฎร ที่อยู่อาศัยกันมานั้นเสียก่อน

เมื่อรัฐบาลชุดที่ผ่านมาแพ้ภัยรัฐประหาร น่าจะทำให้ราษฎรเกาะเสม็ดพ้นจากภัยจากกลุ่มทุนของนักการเมืองเห็นแก่ได้ ไปอีกระยะหนึ่ง และรอวันที่จะมีผู้เข้ามาแก้ปัญหา

ซึ่งถ้าจะแก้กันจริงก็แก้ได้ไม่ยาก เพียงแต่ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 ห้ามออกเอกสารสิทธิสำหรับที่เกาะ ซึ่งออกมาในปี 2537 เพียงข้อเดียวก่อน และจัดตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางมารังวัดที่ดินปรับแนวเขตใหม่ โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจหลายครั้งมีผู้เซ็นชื่อรับรองทุกครั้ง ราษฎรเกาะเสม็ดก็จะได้อยู่ทำกินกันต่อไป

และถ้าจะให้ดี ควรออกกฎหมายยกเลิก “อพท.” ที่จัดตั้งตามมติ ครม. รัฐบาลคิดเร็วทำเร็ว ร้อนรนและรวบรัด ซึ่งหมดอำนาจไปแล้วนั้น ให้ราษฎรเกาะเสม็ดเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาของพวกเขาด้วย

เกาะเสม็ดจะหมดปัญหาหมักหมมมานานหลายสิบปี




กำลังโหลดความคิดเห็น