xs
xsm
sm
md
lg

โรงผลิตเอทานอลจากโมลาสเกิดยาก ทั้งขาดวัตถุดิบ-ราคาแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น- โรงงานผลิตเอทานอล ยังลำบาก โดยเฉพาะโรงงานที่มุ่งใช้โมลาสเป็นวัตถุดิบผลิต ประสบปัญหาขาดแคลน ทั้งราคาสูงไม่คุ้มผลิต เผย หลายโรงงานเริ่มปรับรูปแบบผลิต เปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบหลายชนิด เล็งใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ผู้ประกอบการเห็นด้วยต้องนำระบบคอนแทรกฟาร์มมิ่ง มาปรับใช้ในอุตฯผลิตเอทานอล เชื่อมั่นแผนเลิกจำหน่ายเบนซิน 95 เลื่อนจากกำหนดเดิม 1 ม.ค.2550 แน่ วอนรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ส่งเสริมพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง

รศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยถึงอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล ว่า สถานการณ์ของโรงงานผลิตเอทานอล ปัจจุบันยังมีปัญหาในการจัดหาวัตถุดิบมาใช้แปรรูปไม่เพียงพอต่อการผลิต โดยเฉพาะโรงงานที่มุ่งใช้กากน้ำตาล หรือโมลาส เป็นวัตถุดิบ เนื่องจากกากน้ำตาลไม่เพียงพอต่อการผลิตในหลายอุตสาหกรรม และมีราคาค่อนข้างสูง

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล แต่ละปีจะมีกากน้ำตาลอยู่ในระบบประมาณ 2.5 - 2.7 ล้านตัน กากน้ำตาล 1 ล้านตัน ส่งออกต่างประเทศ ส่วนที่เหลือใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ ภายในประเทศ อุตสาหกรรมผลิตสุราใช้ไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านตัน ที่สำคัญ ปีการผลิต 2548/2549 ที่ผ่านมา ผลผลิตอ้อยเสียหายจากภัยแล้ง เหลืออ้อยเพียง 48 ล้านตัน มีกากน้ำตาลในระบบเพียง 2.11 ล้านตัน ทั้งมีอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลเข้ามาใช้วัตถุดิบกากน้ำตาลเพิ่ม

อุตสาหกรรมผลิตสุรา และซีอิ๊ว สามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ราคาที่สูงกว่าเอทานอล โดยเฉพาะการผลิตสุรา ไม่จำเป็นต้องกลั่นเป็นแอลกอฮอล์ให้มีความบริสุทธิ์ถึง 99.5% กลั่นให้บริสุทธ์เพียง 35-40% ก็สามารถแปรรูปเป็นสุราได้แล้ว ซึ่งมีต้นทุนผลิตที่ต่ำกว่าการผลิตเอทานอล และสามารถกำหนดราคาขายได้สูงกว่า

ขณะเดียวกัน ราคากากน้ำตาล ณ ปัจจุบัน แม้ว่าจะลดราคาลงมากจากเดิม ที่เคยพุ่งไปสูงถึง 4,500-5,000 บาท/ตัน เหลืออยู่ประมาณ 3,000 บาท/ตัน แต่ระดับราคาโมลาส ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง เมื่อเทียบกับราคารับซื้อเอทานอล ที่รัฐควบคุมไว้

รศ.ดร.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า จากปัญหากากน้ำตาลขาดแคลนดังกล่าว ทำให้โรงงานผลิตเอทานอลที่เดินเครื่องผลิตแล้ว ต้องปรับปรุงเครื่องจักร ให้สามารถใช้วัตถุดิบผลิตเอทานอลได้หลากหลายชนิด เช่น โรงงานเอทานอลของ บ.ขอนแก่นแอลกอฮอล์ โรงงานของ บ.ไทยอะโกรเอนเนอยี่ และโรงงานใหม่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ก็มีแผนปรับมาใช้วัตถุดิบหลายชนิดเช่นกัน เพื่อลดความเสี่ยงการผลิต และลดต้นทุนการผลิตลงด้วย

เล็งใช้มันสำปะหลังผลิตเอทานอล

วัตถุดิบที่ผู้ผลิตเอทานอล วางเป้าหมายนำมาปรับใช้ คือ มันสำปะหลัง เนื่องจากมีราคาถูก ประมาณ 1.00-1.80 บาท/กิโลกรัม และเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอีกชนิดของประเทศ มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วภูมิภาคของประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีโรงงานผลิตเอทานอลที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลัก ตั้งอยู่หลายแห่ง อีกทั้งมีอุตสาหกรรมแปรรูปมันเส้น แป้งมัน เป็นอุตสาหกรรมเดิมที่ใช้มันสำปะหลัง ซึ่งหากไม่มีการวางแผนการจัดการวัตถุดิบมันสำปะหลังเข้าโรงงานรองรับ ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย อาจเกิดปัญหาแย่งชิงวัตถุดิบมันสำปะหลังอย่างรุนแรง

กรณีปัญหาดังกล่าว ได้มีการร่วมหารือร่วมกัน ถึงทางออกของการใช้วัตถุดิบมันสำปะหลังระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้วยกัน โดยจะมีการประสานงานขอความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาช่วยเหลือด้านวิชาการ เพิ่มผลผลิตต่อไร่ผลผลิตมันฯของเกษตรกรให้สูงขึ้น

ส่วนผู้ประกอบการที่รับซื้อมันสำปะหลัง หลายโรงงานมีความพร้อมที่จะนำระบบคอนแทรกฟาร์มมิ่ง มาปรับใช้ ส่งเสริมเกษตรกรในรัศมีรอบโรงงานปลูกและรับซื้อในราคาประกัน เพื่อลดความเสี่ยงวัตถุดิบที่อาจขาดแคลน และจะมีการก่อสร้างโรงเก็บวัตถุดิบมันสำปะหลัง สต๊อกไว้อย่างน้อย 1-2 เดือนล่วงหน้าไว้ด้วย

เชื่อแผนเลิกจำหน่ายเบนซิน 95 ช้ากว่ากำหนด

รศ.ดร.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ของโรงงานผลิตเอทานอล ณ ปัจจุบัน หลายโรงงานได้ก่อสร้างโรงงานคืบหน้าไปมากแล้ว เช่น โรงงานเอทานอล ของ บ.มิตรผล ที่อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ มีกำลังผลิตเอทานอล 2 แสนลิตร/วัน โรงงานของ บ.อินเตอร์เนชั่นแนล แก๊สโซฮอล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จ.ระยอง กำลังผลิตเฟสแรก 1.5 แสนลิตร/วัน และอีกหลายโรงงานกระจายครอบคลุมไปทั่วประเทศ

ทั้งนี้ การก่อสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรผลิตเอทานอล อาจล่าช้ากว่ากำหนดที่แจ้งไว้ต่อคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติเล็กน้อย คาดว่า จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2549 นี้ แต่ในด้านการทดลองเครื่องและเดินเครื่องผลิตจริง อาจล่าช้าออกไปประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งคาดว่า จะมีผลผลิตเอทานอลของโรงงานแห่งใหม่ออกสู่ตลาดประมาณ มีนาคม 2550 เป็นต้นไป

จุดที่น่าสนใจ กรณีที่รัฐบาลชุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 95 และให้จำหน่ายเฉพาะแก๊สโซฮอล์ 95 ภายในวันที่ 1 มกราคม 2550 นั้น สถานการณ์ ณ ขณะนี้ ไม่น่าจะสามารถยกเลิกจำหน่ายเบนซิน 95 ได้ตามแผนที่ตั้งไว้ เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าว ยังไม่มีความพร้อม

ในแง่ของการผลิตเอทานอล ณ ปัจจุบัน ปริมาณการผลิตเอทานอล ยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการนำมาผสมเป็นเชื้อเพลิง แก๊สโซฮอล์ 95 จากข้อจำกัดของวัตถุดิบ ที่นำมาผลิตเอทานอล และแผนการเดินเครื่องผลิตของโรงงานเอทานอลใหม่ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงาน ไม่เสร็จทันตามกำหนดที่แจ้งไว้ ทำให้ปริมาณเอทานอลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดจากบริษัทผู้ผลิตน้ำมัน ในประเด็นการนำผลผลิตเอทานอลมาผสมกับน้ำมันเบนซิน ที่ต้องหารือในรายละเอียดของการขนส่งเอทานอลจากโรงงานผลิต มาผสม ณ คลังน้ำมันที่ตั้งอยู่ในแต่ละภูมิภาค หารือในรายละเอียดของการกำหนดค่าขนส่ง ราคาจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ฯลฯ ซึ่งการยกเลิกจำหน่ายเบนซิน 95 น่าจะล่าช้าออกไปจากกำหนดเดิมแน่นอน

วอนรัฐบาลใหม่เน้นทำพลังงานทดแทนจริงจัง

รศ.ดร.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เอทานอลถือเป็นพลังงานที่สำคัญของประเทศ และเป็นอนาคตของประเทศชาติ อยากให้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และรัฐบาลชุดต่อไป ให้ความสำคัญกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนทั้งเอทานอล ไบโอดีเซล ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ ให้มีการผลิตออกมาใช้อย่างจริงจัง และมีปริมาณการใช้ให้เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้

พลังงานทดแทนมีความสำคัญต่อประเทศไทยสูงมาก การส่งเสริมใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจังและแพร่หลาย จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ จากการลดการพึ่งพาและนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมจากต่างประเทศลงได้ ซึ่งน้ำมันมีความผันผวนทางด้านราคาสูง และมีแนวโน้มที่ราคาอาจปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับปริมาณน้ำมันที่ลดลงและความขัดแย้งการเมืองโลก

ทำให้ จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานทดแทนที่ผลิตได้ภายในประเทศ ซึ่งพลังงานทดแทนหลายชนิดผลิตมาจากวัตถุดิบการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง แก้ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ สร้างความมั่นคงทางด้านราคาต่อพืชเกษตรหลายชนิด ส่งผลดีต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรส่วนใหญ่ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ผลดีที่สำคัญอีกประการ คือ คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี เนื่องจากพลังงานจากพืชเผาไหม้หมดจด ไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ในแง่ของการพัฒนาเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ ไม่ควรจำกัดไว้เพียงแค่ E10 จากการใช้เอทานอล 10 ส่วนผสมกับเบนซิน 90 ส่วน แต่ควรจะเพิ่มปริมาณสัดส่วนผสมให้เพิ่มขึ้นเหมือนกับหลายประเทศ เช่น บราซิล ที่ใช้ถึง E100 เพราะเมื่อผสมมากขึ้น ก็จะทำให้ประเทศไทยพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศลงมากเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น