xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯ หารือเตรียมเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเขาระกำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา- กรมชลประทานสัมมนาผู้นำท้องถิ่นครั้งที่ 3 เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเขาระกำส่งน้ำไปเกาะช้าง ระบุเกิดประโยชน์กับธุรกิจท่องเที่ยว แต่เกษตรกรเสียประโยชน์ ชลประทานบอกได้ประโยชน์ ด้านนายกน้ำเชี่ยว ระบุประชาชนเดือดร้อนน้ำท่วมพื้นที่ทำกิน ปลัดกิ่งเกาะช้างต้านสร้างอ่าง

วันนี้ (25 ก.ย.) สำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน ได้จัดการสัมมนาผู้นำท้องถิ่น ครั้งที่ 3 เพื่อเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเขาระกำ พร้อมระบบส่งน้ำไปยังเกาะช้าง ที่โรงแรมเหลายาอินแลนด์รีสอร์ท อ.เมือง จ.ตราด มีนายสมโภชน์ ชูศิริ หน.ชลประทาน จ.ตราด และผู้นำท้องถิ่น ทั้งเทศบาลตำบล อบจ.และ อบต.ของ จ.ตราด ร่วมประชุมจำนวน 50 คน

ในการประชุมสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเสนอผลการประชุมประชาคมตำบล และการประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำ ให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ และเพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการตามโครงการฯ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ภายหลังจากเสร็จสิ้น การดำเนินตามโครงการ

นายสุโมกข์ เกียรติชัย ผู้จัดการโครงการศึกษา เพื่อความจุอ่างเก็บน้ำเขาระกำ ได้ข้อสรุปในเบื้องต้น ว่า การเพิ่มปริมาณน้ำของอ่างเก็บน้ำตอนบน เดิมอ่างเก็บน้ำเขาระกำ สามารถกักเก็บน้ำได้ 23.5 ล้านลูกบาศก์เมตร และหากเพิ่มระดับความจุขึ้นมา 1 เมตร จะเพิ่มปริมาณน้ำได้ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร จะได้ประโยชน์ในการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรม จากเดิม 17,000 ไร่ เป็น 30,000 กว่าไร่ พื้นที่เขาไม้ซี้ และพื้นที่รอบๆ อ่างเก็บน้ำจะได้ประโยชน์จากการนำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตร

โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีพื้นที่สูงกว่าอ่าง 40 เมตรขึ้นไป จะได้รับประโยชน์โดยตรง และสามารถนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขาระกำ ไปเติมอ่างวังปลาหมอให้เต็ม ทำให้พื้นที่การเกษตรบริเวณวังปลาหมอได้ประโยชน์มากขึ้นด้วย แต่ผู้ที่อยู่ในเขตพื้นที่เวนคืนของชลประทานและพื้นที่ที่ต่ำกว่า ระดับ 40 เมตร จะได้รับผลกระทบ (เสียประโยชน์) เพราะจะถูกน้ำท่วม ส่วนการศึกษาในประเด็นการผันน้ำไปเกาะช้าง บนเกาะช้างมีอ่างเก็บน้ำ 4 อ่างหลักๆ ที่จะต้องพิจารณา คือ คลองพร้าว คลองสน ด่านใหม่ สลักเพชร

ในขณะที่มีข้อมูลความต้องการใช้น้ำของประชากรอย่างคร่าว ๆ อยู่ที่ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุของอ่างต่างๆ ดังกล่าวเหล่านี้ พบว่า เมื่อรวมกันแล้ว เกาะช้างน่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาตัวอ่างในเกาะช้างเอง แต่การผันน้ำไปยังเกาะช้าง ต้องพิจารณาดูให้ดีว่าต้องลงทุนอย่างไร

ทั้งนี้ เพราะเกาะช้างเป็นแหล่งธุรกิจอาจจะมีทุนเลี้ยงตัวเองได้ แต่เกษตรกรบางครั้งก็มีข้อจำกัดในเรื่องทุน และอยากให้พิจารณาการผันน้ำจากเขาสมิง ไปยังอ่างวังปลาหมอด้วย เพราะใกล้วังปลาหมอ และหากผันน้ำจากเขาสมิงต้องลงทุนเท่าไร

ขณะที่นายสมโภชน์ กล่าวว่า สำนักงานชลประทานตราด และกรมชลประทานได้มีการทำประชาพิจารณ์กับประชาชนมารวม 20 ครั้ง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งโดยสรุปมีความเป็นไปได้ว่าการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำจะเกิดประโยชน์มากกว่า เนื่องจากจะสามารถเก็บน้ำได้มากขึ้น ปัจจุบันเมื่อมีฝนตกแค่ 100 มม.น้ำฝนจะลงมาถึง 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งอ่างบนและอ่างล่าง ทำให้ชลประทานตราดไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จนเกิดน้ำท่วมขึ้น หากไม่เพิ่มความจุในช่วงที่มีฝนทิ้งช่วง ก็จะเกิดปัญหาน้ำไม่พอทางการเกษตร จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรจะเข้าใจในเรื่องนี้

ทางด้านนายศักดิ์ประเสริฐ เจริญประสิทธิ ปลัด หน.กิ่ง เกาะช้าง จ.ตราด กล่าวว่า ส่วนการที่จะมีการผลักดันให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบนเกาะช้าง เพื่อแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งทางกิ่งเกาะช้างไม่เห็นด้วย เนื่องจากจะมีการทำลายธรรมชาติบนเกาะช้าง ทั้งการขุดดิน การทำลายป่าไม้จำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความสมดุลทางธรรมชาติบนเกาะช้าง และจะส่งผลกระทบต่อปัญหาดินโคลนถล่มบนเกาะช้างอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการกดดันทางกิ่งเกาะช้าง ก็จะพยายามต่อสู้ในเรื่องนี้ต่อไป

ส่วน นายศักดิ์ชัย เอี่ยมบุญญฤทธิ์ นายกเทศมนตรีเทศบาล ต.น้ำเชี่ยว กล่าวว่า การเพิ่มความความจุ อ่างเก็บน้ำเขาระกำขึ้นอีก 5 เมตร จะเกิดผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนที่อาศัยอยู่รอบอ่างเนื่องจากน้ำจะท่วม ซึ่งจะทำลายอาชีพของประชาชน ซึ่งเหตุผลหลักของการเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำครั้งนี้ เพื่อมุ่งผันน้ำไปยังเกาะช้างตนเองมองว่า เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่จะทุ่มเทลงไป
กำลังโหลดความคิดเห็น