เชียงราย - ไม้พม่าเริ่มทะลักเข้าแม่สาย เชียงรายต่อเนื่อง ล่าสุด “เสี่ยอ๋า” นำทีมทุนไทยขนจากรัฐฉาน เรียงหมอนไว้ริมชายแดนฝั่งพม่าเพิ่มกว่า 20,000 ลบ.ม.หลังจากรัฐบาลพม่าไฟเขียวส่งออกซุงท่อน ผ่านชายแดนท่าขี้เหล็กตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อน ล็อตแรกเกือบ 300 ลบ.ม.
นายชูชัย อุดมโภชน์ นายด่านศุลกากรแม่สาย จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลพม่าได้อนุญาตให้เอกชนนำไม้ซุงท่อน ซึ่งเป็นไม้สักจากพม่า นำเข้ามาทางสะพานแม่สายแห่งที่ 2 บ้านสันผักฮี้ ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้แล้ว โดยมีนักธุรกิจไทย ในนามบริษัท ศิวา จำกัด ได้ขออนุญาตนำเข้าไม้สักท่อนจากพม่า ล็อตนี้จำนวน 270 ท่อน ปริมาณ 270 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มูลค่าราว 40 ล้านบาท
ล่าสุดเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทได้ขนไม้สักท่อนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 60-100 เซนติเมตร (ซม.) ทั้งหมด เข้ามาในประเทศไทยแล้ว โดยลำเลียงด้วยรถบรรทุกมากองไว้ที่คลังสินค้าอนุมัติชั่วคราว ที่ หจก.ศิวา พานิชย์ บ้านสันผักฮี้ ก่อนนำขึ้นรถไป กทม.เพื่อแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งศุลกากรแม่สาย เก็บภาษี 1% และภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) อีก 7% ทำให้เก็บภาษีได้ ราว 3,200,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีซุงไม้สักในพม่าอีกราว 20,000 ท่อน หรือราว 20,000 ลบ.ม.กองอยู่ในฝั่งพม่า ตรงข้ามสะพานแม่สายแห่งที่ 2 รอการนำเข้าอีก
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2548 หลังมีการประชุมคณะกรรมการชายแดน ไทย-พม่า ส่วนท้องถิ่น (TBC) ครั้งที่ 44 ณ หอประชุมเทศบาลตำบลแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ใกล้ชายแดน ไทย-พม่า กลุ่มนักธุรกิจ อ.แม่สาย นำโดย นายอานนท์ มากมาศิลป์ ในนาม บริษัท ศิวา จำกัด และ หจก.ศิวา พานิชย์ ได้ขออนุญาตนำเข้าไม้สักท่อนจากพม่า จำนวน 620 ท่อน ปริมาณ 900 ลบ.ม.มูลค่าราว 100 ล้านบาท เส้นผ่าศูนย์กลางราว 60-100 ซม.ได้ถูกนำลงเรือมาขึ้นที่คลังศุลกากรเชียงแสน บ้านห้วยเกี๋ยง ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
นายอานนท์ เปิดเผยว่า ในพม่ามีอุตสาหกรรมทำไม้ขนาดใหญ่ และแต่ละปีพม่าส่งออกไม้สัก จากกรุงย่างกุ้งปีละราว 5 แสน ลบ.ม.ส่งขายทั่วโลก 167 ประเทศ หากจังหวัดเชียงราย เปิดให้นำเข้าไม้สักจากพม่าถูกต้องตามกฎหมายได้ ก็จะเป็นช่องทางนำเข้ามหาศาล เพราะประเทศไทยขาดแคลนไม้สัก และคาดว่า ระยะอันใกล้จะมีไม้สักจากพม่าที่อยู่ในคลังไม้ของพม่าจำนวนมาก โดยเป็นไม้สักจากเขตรัฐฉานของพม่าที่ทางการพม่าตัดเข้าคลังไว้
สำหรับ นายอานนท์ มากมาศิลป์ หรือ เสี่ยอ๋า เป็นนักธุรกิจชายแดนเจ้าของบริษัท ศิวา จำกัด ซึ่งมีสำนักงาน ที่ อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน ตามประวัติเป็นชาว อ.แม่สาย และทำธุรกิจเกี่ยวกับไม้สัก และเฟอร์นิเจอร์มานานแล้ว อดีตเคยเป็นเพื่อนกับ “กำนันแดง : นายแสงสนิท ไชยศรี” อดีตกำนันดังผู้ล่วงลับด้วย
ส่วนการค้าชายแดนทั่วไป นายชูชัย นายด่านศุลกากรแม่สาย กล่าวว่า หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลง เจ้าหน้าที่ด่านการค้าและด่านศุลกากร จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า เป็นเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีผลต่อการค้าและการส่งออกชายแดนด้าน อ.แม่สาย โดยเฉพาะยอดรายได้จากการจัดเก็บภาษีนำเข้า และส่งออกสินค้าลดลงจากเดิม ที่มีอยู่เฉลี่ยเดือนละ 150-160 ล้านบาท ลดลงเหลือ 130 ล้านบาท ในห้วงเดือนมิถุนายน 2549 เนื่องจากมีการเปลี่ยนตัวบุคลากรใหม่ของพม่า ทำให้มีการวางระเบียบการควบคุมสินค้าครั้งใหม่ ย่อมมีผลต่อเรื่องการค้าขายชายแดนบ้าง
นอกจากนี้ ทางการพม่ายังมีการตรวจสอบ และสั่งห้ามนำเข้าสินค้าหลายชนิดของไทยอยู่เช่นเคย โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าข้ามสะพานมิตรภาพ ไทย-พม่า หรือสะพานแม่สายแห่งที่ 2 บ้านสันผักฮี้ ม.3 ต.แม่สาย อ.แม่สาย ซึ่งตามข้อตกลงจะอนุญาตให้รถขนสินค้า ใช้ลำเลียงสินค้าข้ามไปมาระหว่างพรมแดน ที่สะพานแห่งนี้เท่านั้น แต่ปัจจุบันพม่ายังอนุญาตให้รถขนสินค้าได้บางอย่างบางชนิด เช่น กรณีรถขนผักและผลไม้ จะไม่อนุญาตให้ขนโดยรถบรรทุกขนาดใหญ่อย่างเช่นที่ผ่านมา แต่อนุญาตให้รถปิกอัพขนาดเล็กเท่านั้น ที่สามารถขนข้ามบริเวณจุดผ่อนปรน ไทย-พม่า ที่มีการผ่อนผันให้ระหว่างกันมากกว่า
“ขบวนรถบรรทุกหลักๆ ที่ขนสินค้าจากฝั่งไทยข้ามไปได้ ก็จะมีเพียงรถขนวัสดุก่อสร้าง รถบรรทุกขนปูนซีเมนต์ และรถขนน้ำมันเชื้อเพลิงจากเอกชนไทย ที่สามารถข้ามผ่านสะพานแม่สายแห่งที่ 2 ได้เท่านั้น ซึ่งจากนโยบายดังกล่าว ด่านศุลกากรแม่สาย รับทราบดีถึงผลกระทบการค้าชายแดน ดูจากยอดรายได้ที่ลดลง จึงมีการหารือระหว่างหน่วยงานกับทางการพม่า เพื่อดูแนวทางความเป็นไปได้ ที่จะขอการอะลุ้มอล่วยจากฝ่ายพม่า ให้ผ่อนผันการนำเข้าสินค้าให้มากขึ้น โดยให้เห็นแก่การเป็นเมืองชายแดนมาประกอบ ซึ่งฝ่ายพม่าก็ตอบรับอย่างดี ที่จะนำไปพิจารณา จนมีการนำเข้าซุงไม้สักท่อนจากพม่าครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการนำเข้าที่ด่านแม่สาย ทำให้เศรษฐกิจเกิดความคึกคักและเกิดการสร้างงานและรายได้มากขึ้นในระยะนี้” นายชูชัย กล่าว
สำหรับกระบวนการนำเข้าไม้พม่า ผ่านชายแดน อ.แม่สาย - อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ได้เริ่มเดินเครื่องมาได้ระยะหนึ่ง และมีการนำเข้าไม้อย่างเป็นทางการแล้ว 2 ล็อต ภายใต้การดูแลของบริษัทเอกชนพม่า ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลกลาง ให้มาดูแลการซื้อขายไม้ที่ท่าขี้เหล็ก จำนวน 3 บริษัทด้วยกัน นอกจากนี้ ยังไม่ไม้ซุงท่อนที่ได้ลำเลียงเข้ามาเรียงหมอนที่ท่าขี้เหล็ก รอขนข้ามฝั่งเข้าไทยอีกร่วม 20,000 ท่อนด้วยกัน
ด้าน นายนพดล ปัทมะ ผู้ช่วย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาแถลงต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2549 ว่า กรณีที่ นายยงยุทธ ติยะไพรัช รักษาการ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางไปเยือนเมืองหลวงใหม่พม่าพร้อมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีด่วน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2549 ได้มีโอกาสหารือกับกระทรวงป่าไม้พม่า ซึ่งได้มีการเจรจากันเกี่ยวกับการเปิดให้มีการนำเข้าไม้พม่าอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ตามแนวชายแดนไทย