xs
xsm
sm
md
lg

“คลองลาน-อุ้มผาง” ข้อเท็จจริงทางหลวงหมายเลข 1117

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แนวถนนที่มีการผลักดันให้ดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันได้ฟื้นสภาพกลายเป็นป่าไปตลอดแนวแล้ว
ในรายงานของฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ระบุถึงเส้นทางสายคลองลาน-อุ้มผาง หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1117 ไว้ว่า ในอดีต เป็นเส้นทางเพื่อความมั่นคง ก่อสร้างโดยกรมทางหลวง เมื่อปี พ.ศ.2528 เพื่อการขนย้าย และส่งกำลังบำรุง ให้แก่ทหาร ตำรวจที่ปฏิบัติงานกวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

ต่อมาสถานการณ์การก่อการร้ายคลี่คลายลง ในที่สุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2530 เห็นชอบให้ระงับการก่อสร้างเส้นทางช่วงสุดท้ายที่กิโลเมตร (กม.) ที่ 115

ถนนสายนี้มีที่ตั้งอยู่ในความรับผิดชอบของจังหวัดกำแพงเพชร ถึง กม.ที่ 94.5 โดย กม.ที่ 57 ถึง 94.5 อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลานบางส่วน ส่วน กม.ที่ 94.5 ถึง 115 อยู่ในเขตพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก โดยยังเหลือระยะทางที่ยังไม่ได้ก่อสร้างอีก 28 กม.
ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ได้ตั้งด่านที่บริเวณ กม.ที่ 57 และอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางผ่านถนนเส้นนี้ ในช่วงเวลาที่อุทยานฯ กำหนดไว้เท่านั้น ทั้งนี้ อนุญาตให้นำรถยนต์ขึ้นไปได้เพียงแค่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ กม.ที่ 93 (ช่องเย็น)

ดังนั้น 1.แนวถนนเดิมของถนนสายคลองลาน - อุ้มผาง มีอยู่เพียง 115 กม.ยังมีระยะทางเหลืออีก 28 กม.ซึ่งไม่เคยมีถนนอยู่และตลอดแนวยังคงเป็นป่าธรรมชาติ ที่มีความสมบูรณ์ ดังนั้น ข้อมูลของจังหวัดกำแพงเพชรที่นำเสนอโครงการปรับปรุงถนนสายนี้ ต่อนายกรัฐมนตรี จึงไม่สอดคล้องกับสภาพจริงของพื้นที่ เนื่องจากถนนสายนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องบุกเบิกพื้นที่ป่าก่อสร้างถนนขึ้นใหม่ มิใช่การปรับปรุงถนนตามที่จังหวัดกำแพงเพชรนำเสนอ

2.ถนนสายคลองลาน - อุ้มผาง ยุติการก่อสร้างที่ กม.ที่ 115 และไม่เคยมีการก่อสร้างเพิ่มเติม อีกทั้งผิวถนนช่วงที่ก่อสร้างแล้วไม่ได้รับการบำรุงรักษามาตั้งแต่ พ.ศ.2530

2.1 ปัจจุบันมีถนนที่ใช้งานได้เฉพาะ ตั้งแต่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ กม.57 ไปจนถึงจุดสกัด กม.93 (ช่องเย็น)

2.2 ตั้งแต่จุดสกัดที่ กม.93 (ช่องเย็น) ซึ่งเป็นจุดที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อนุญาตให้นำรถยนต์ขึ้นมาได้เป็นจุดสุดท้ายจนถึงจุดสิ้นสุดแนวถนนที่ กม.115 เส้นทางถูกทิ้งไว้ ตั้งแต่ปี 2530 และไม่เคยมีรถยนต์ผ่าน จนถึงปัจจุบัน สภาพธรรมชาติได้ฟื้นตัวกลายเป็นป่า เป็นแหล่งอาศัยและหากินของสัตว์ป่าเป็นอย่างดี

3.หากมีการก่อสร้างถนนสายคลองลาน-อุ้มผาง จะเป็นการแบ่งผืนป่าตะวันตก (Western Forest Complex) ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ ที่ทั้งพื้นที่และระบบนิเวศมีความต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกเป็น 2 ส่วน โดยจะตัดแบ่งผืนป่าอุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า และพื้นที่ตอนบนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ออกจากพื้นที่ป่าตะวันตก ส่วนที่ตั้งอยู่ใต้ลงมา
กลุ่มกำนัน – ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ที่ขึ้นป้ายแสดงตัวผลักดันโครงการตัดถนนคลองลาน – อุ้มผาง มานาน
ทั้งนี้ ผืนป่าเหล่านี้มีระบบนิเวศเชื่อมโยงกับผืนป่ามรดกโลก (World Heritage) คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งองค์การ UNESCO ประกาศเมื่อปี พ.ศ.2534 ด้วย

4.แนวเส้นทางที่ถนนสายคลองลาน - อุ้มผาง จะตัดผ่านมีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชัน ซึ่งนอกจากจะเป็นเขตอนุรักษ์ในรูปแบบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังเป็นพื้นที่ที่ต้นน้ำชั้น 1A ของแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ เช่น

- คลองขลุง ในเขตอุทยานแห่งชาติคลองลานและแม่วงก์ ต้นน้ำของแม่น้ำปิง เป็นต้น
- คลองไพและห้วยอุ้มผาง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลอง เป็นต้น

5.ถนนสายนี้จะส่งผลกระทบกับสัตว์ป่าที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น

5.1 ผลการวิจัยของกรมป่าไม้ (เดิม) ระบุว่า บริเวณนี้เป็นแหล่งอาศัยและหากินของเสือโคร่ง (Panthera tigris) สัตว์ผู้ล่าลำดับสูงสุดในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นสัตว์ที่บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในป่า แต่ปัจจุบันเสือโคร่งจัดว่ามีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species) ดังนั้น การตัดเส้นทางถนนสายคลองลาน-อุ้มผาง จะเป็นการลดพื้นที่อาศัยและหากิน จนส่งผลให้ประชากรเสือโคร่งลดจำนวนลงอีกตามทฤษฎีชีวภูมิศาสตร์ของเกาะ (Theory of Island Biogeography) ซึ่งเสือโคร่งอาจสูญพันธุ์ไปจากป่าแห่งนี้ได้

5.2 ผืนป่าตะวันตกเป็นขอบเขตการกระจายพันธุ์ทางชีวภูมิศาสตร์ หรือเขตชีวภูมิศาสตร์ (Biogeographical region) ของเขต Sundaic Sub-region ทำให้สามารถพบสัตว์ป่าที่กระจายมาจากตอนใต้ของประเทศ ตัวอย่างเช่น สมเสร็จ (Tapirus indicus) ซึ่งมีการศึกษาพบว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งอาศัยและหากินของสมเสร็จ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบทางใต้และกระจายขึ้นมาทางด้านตะวันตกขึ้นสูงสุดถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ดังนั้น การตัดเส้นทางถนนสายคลองลาน - อุ้มผาง จะเป็นการขวางกั้นเส้นทางการกระจายพันธุ์ของสัตว์ป่าตามเขตกระจายพันธุ์

6.การตัดถนนสายคลองลาน-อุ้มผาง จะกระตุ้นให้มีการบุกเบิกขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวและบุกรุกทำลายป่ามากขึ้น ซึ่งจะทำให้พื้นที่ป่าลดลงและเกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันราษฎรที่ประกอบการเกษตรในอำเภออุ้มผางจำนวนมาก ที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่มีปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สวนส้ม ไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง ซึ่งส่งผลให้เกิดการชะล้างพังทลายของดิน และมีสารเคมีการเกษตร ปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเกิดปัญหาการบุกรุกขยายพื้นที่เพาะปลูก เข้าสู่พื้นที่ป่ารวมถึงส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออกเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต

ส่วนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และคลองลาน ไม่มีชุมชนตั้งอยู่ แต่บริเวณรอบแนวเขตอุทยานฯ นั้น ปัจจุบันราษฎรที่ประกอบการเกษตร ในอำเภอคลองลาน เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวจนเกิดกรณีปัญหาจำนวนมาก คือ ไร่มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด และสวนส้ม ซึ่งเกิดปัญหาสารเคมีปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมและยังเกิดความขัดแย้งในเรื่องการใช้น้ำลำน้ำสาธารณะ รวมทั้งการลักลอบสูบน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยสรุปแล้วทั้งหมดนี้จะทำให้พื้นที่อนุรักษ์ลดพื้นที่ลง และส่งผลกระทบเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมภายในเขตอนุรักษ์
กำลังโหลดความคิดเห็น