ตาก - หอการค้าตาก เปิดรับความคิดเห็น โครงการตัดถนนสายคลองลาน-อุ้มผาง เข้าน้ำตก “ทีลอซู” หลัง “ผู้กองแดง” แกนนำผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ ยื่นฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือตัดถนนให้แล้วเสร็จ ท่ามกลางกระแสคัดค้านของภาคประชาชน แถมโครงการตัดถนนใหม่ภายใต้ ACMECS ใกล้เป็นจริง พร้อมเผยนายทุนแห่กว้านซื้อที่ดินทำสวนส้ม/รีสอร์ต ไว้รอเพียบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้หอการค้าจังหวัดตาก ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงตัดถนนสายคลองลาน - อุ้มผาง จ.ตาก หรือทางหลวงหมายเลข 1117 ที่กลุ่มผู้ประกอบการนำเที่ยวในพื้นที่ พยายามผลักดันมานาน เพื่อเปิดเส้นทางคมนาคมจากจังหวัดกำแพงเพชร ตรงเข้าสู่น้ำตกทีลอซู อ.อุ้มผาง จ.ตาก โดยเปิดให้แสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์หอการค้าจังหวัดตาก (www.takchamber.com)
หลังจากเมื่อ 5 มิถุนายน 2549 นายอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้มีหนังสือที่ ตก.0017.1/ศดธ./ว666 สอบถามมายังหอการค้าจังหวัดตาก เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของโครงการดังกล่าว เพื่อชี้แจงต่อสำนักราชเลขาธิการ ที่มีหนังสือสอบถามมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 เนื่องจากได้มีราษฎรชื่อร้อยตำรวจเอก สมบัติ พันธุ์ณรงค์ หรือผู้กองแดง ตัวแทนราษฎรอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีหนังสือกราบบังคมทูลฯขอพระราชทานความช่วยเหลือต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดตาก ในการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1117 ให้แล้วเสร็จ
“ผู้กองแดง” ที่เป็น 1 ในกลุ่มแกนนำผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ ให้เหตุผลว่า เนื่องจากราษฎรมีความเดือดร้อนจากการเดินทางไปมาไม่สะดวก ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน อยู่ห่างไกลจากอำเภอแม่สอดถึง 164 กิโลเมตร (กม.) ห่างจากตัวจังหวัดตากถึง 244 กม.ในฤดูฝนเส้นทางช่วงที่อยู่บนภูเขา จะถูกดินเคลื่อนตัว (Slide) ลงมาปิดทับ ทำให้การจราจรไม่สามารถผ่านได้ ครั้งละ 1 ถึง 2 วัน ทำให้ชาวอุ้มผางอยู่ในสภาพเสียเปรียบทางเศรษฐกิจตลอดมา ผลผลิตทางการเกษตรต้องมีต้นทุนค่าขนส่งสูง จึงถูกกดราคาผลผลิต
ในทางตรงกันข้าม จำต้องซื้อสินค้าอุปโภคในราคาที่สูงกว่าปกติ และมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติในช่วงฤดูฝน หากมีเส้นทางเชื่อมกับจังหวัดกำแพงเพชรได้ โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 1117 ตอน กำแพงเพชร-คลองลาน-บ.ห้วยน้ำเย็น-อุ้มผาง ระยะทางประมาณ 135 กม.เป็นทางลาดยางแล้ว ประมาณ 115 กม.(จาก กม.93 (ช่องเย็น) ถึง อ.อุ้มผาง ระยะทางประมาณ 42 กม.เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไม่อนุญาตให้การจราจรทุกชนิดผ่าน แม้จะมีแนวทางลาดยางอยู่บ้างเป็นบางช่วง)
ดังนั้น จึงมีแนวคิดในการต่อเชื่อมทางหลวง ช่วง กม.115 ถึง อ.อุ้มผาง ระยะทาง 20 กม.โดยให้มีผลกระทบกับสภาพสิ่งแวดล้อม และสภาพเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าน้อยที่สุดสามารถทำได้ในลักษณะเดียวกันกับโครงการแหลมผักเบี้ย ซึ่งจะสร้างเป็นสะพานลอยยกสูงข้ามอ่าวไทย
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ ชลสาคร ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ, รองประธานหอการค้าจังหวัด ได้ทำหนังสือที่ หกค.มส.07/2549 ชี้แจงต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ว่า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1117 หมดความจำเป็นทางยุทธศาสตร์แล้ว หากจะตัดถนนต่อมีแต่จะทำให้ป่าไม้ที่เป็นผืนเดียวกันกับป่ามรดกโลก คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร - ห้วยขาแข้ง ถูกทำลาย
นายอภิสิทธ์ ยืนยันว่า จากประสบการณ์ที่เคยอยู่ในพื้นที่มาเกือบ 20 ปี เชื่อว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะไม่สามารถรักษาป่าตามแนวสองข้างทางที่ถนนตัดผ่านได้แน่นอน
นอกจากนี้ หนังสือดังกล่าวของ นายอภิสิทธิ์ ยังระบุอีกว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ขณะนี้มีนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดิน หรือจับจองที่ในเขตอุ้มผางจำนวนมาก มีการทำสวนส้มขนาดใหญ่ และเตรียมพื้นที่ทำรีสอร์ต อีกหลายราย ดังนั้น ข้ออ้างผลประโยชน์จากการตัดถนนที่บอกว่า จะตกถึงชาวบ้านนั้น ความเป็นจริงผลประโยชน์ส่วนใหญ่จากโครงการนี้จะตกไปอยู่ในมือนายทุน หรือผู้มีอิทธิพลที่เข้ามาซื้อที่ดินไว้รอมากกว่า
ส่วนปัญหาไม่มีถนนติดต่อ จากปัจจุบันต้องใช้เวลาเดินทาง 3-4 ชั่วโมง จากอุ้มผาง - แม่สอดนั้น นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า กำลังได้รับการแก้ไขจากโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน (ACMECS) โดยตัวถนนเชื่อมจากบ้านวาเลย์ อ.พบพระ - บ้านหนองหลวง อ.อุ้มผาง ซึ่งมีระยะทางเพียง 27 กม.ผ่านพื้นที่ประเทศพม่า
ทั้งนี้ หากเส้นทางนี้สำเร็จ จะทำให้ประชาชนชาวอุ้มผางเดินทางมาที่แม่สอดได้ภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น และจะเป็นเส้นทางขนส่งผลผลิตจากโครงการคอนแทรกฟาร์มมิ่ง ไทย-พม่า ออกมาขายได้สะดวกมากยิ่งขึ้นด้วย