พิษณุโลก - “เสี่ยดี้ - นายก อบจ.พิษณุโลก” รื้อผลศึกษาโครงการตั้งหน่วยหลักตั้งศูนย์กระจายสินค้าระยะยาวพิษณุโลก (Distribution Center-DC) ใหม่ หลังจังหวัดโอนงานให้เป็นหน่วยงานหลัก ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลัก เตรียมปั้น “สี่แยกอินโดจีน” ขึ้นรองรับโลจิสติกส์ เมืองสองแควอย่างแท้จริงแทน “บึงพระ” ล่าสุด บรรจุแผนพัฒนาการขนส่งคน-สินค้า พร้อมศึกษาทิศทางการพัฒนาในปีงบประมาณ 49 แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวจากจังหวัดพิษณุโลก แจ้งถึงความคืบหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าระยะยาวของจังหวัดพิษณุโลก (Distribution Center-DC) ว่า เมื่อเร็วๆ นี้จังหวัดได้มีหนังสือเลขที่ พล 0016.2/7674 ลงนามโดย นายพิพัฒน์ วงศาโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก มีเนื้อหาระบุว่า ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก (อบจ.) ซึ่งเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ดำเนินการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าจังหวัดพิษณุโลกไปสู่การปฏิบัติ
ทั้งนี้ ให้พิจารณาจุดเหมาะสมตามผลศึกษาของ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ให้ความสำคัญบริเวณโซนพื้นที่ ต.บึงพระ เพราะใกล้สนามบินและเส้นทางรถไฟ ที่อนาคตจะเป็นรางคู่ จาก กทม.-ลพบุรี-พิษณุโลก ซึ่งสามารถเปิดใช้ปี 2553 ตามแผนลงทุนพิเศษ เป็นอันดับแรก
คณะทำงานฯมีความเห็นว่าให้ อบจ.พิษณุโลก เป็นหน่วยงานหลัก ในการดำเนินการดังนี้ 1. กรณีจัดหาที่ดิน เพราะสามารถตั้งงบประมาณได้ทันที และเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การท้องถิ่น หากเป็นหน่วยงานรัฐจะไม่เอื้อต่อการพัฒนา และมีความคล่องตัว กรณีหามืออาชีพเข้ามาบริหาร ให้ดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ก่อเกิดรายได้ จึงให้ประสานงานที่ดินจังหวัดเพื่อขอข้อมูลผู้ครอบครองบริเวณที่ดิน ต.บึงพระ ที่ศึกษาแล้วว่าเหมาะสม และ 2.ให้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ร่วมสนใจลงทุน จุดพักรถ
ด้านนายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาภาคเหนือหอการค้าไทย กล่าวว่า อบจ.เป็นหน่วยงานท้องถิ่น ที่จะสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ที่มีศักยภาพมากกว่า เช่น สามารถจัดซื้อที่ดิน และให้สัมปทานการเช่าพื้นที่ได้คล่องตัวกว่า
ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานจังหวัด หอการค้า และนักวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้หารือและเห็นชอบร่วมกันแล้ว ขณะที่นายก อบจ.พิษณุโลก เท่าที่ทราบก็ยินดีที่จะผลักดัน เพราะอยู่ในแผนงานการพัฒนาจังหวัดพิษณุโลก
นายธวัชชัย กันนะพันธุ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ได้ประชุมงานเพื่อผลักดันและสนับสนุนยุทธศาตร์จังหวัดที่ให้พัฒนาระบบโลจิสติกส์ กรณีจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าระยะยาว (Distribution Center-DC) ซึ่งถือว่า อบจ.พิษณุโลก พร้อมเป็นเจ้าภาพดำเนินการ นับเป็นจุดเปลี่ยนของการพัฒนาจังหวัดพิษณุโลก ทว่าทำเลที่เหมาะสมที่สุด น่าจะเป็นบริเวณสี่แยกอินโดจีนมากกว่า ต.บึงพระที่ผลศึกษาของ ม.หอการค้า ระบุไว้ และอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟและสนามบิน
นายก อบจ.พิษณุโลก กล่าวอีกว่า สิ่งที่ ม.หอการค้าไทย ศึกษาวิจัย ก็ถือว่า ถูกต้อง แต่ดีในอนาคต 4-5 ปีข้างหน้า แต่ถ้า อบจ.พิษณุโลก จะก่อสร้างและลงทุนไปจะต้องมีรายได้เกิดขึ้น หรือ ไม่ให้เจ๊งในปีแรก ที่สำคัญภาคเอกชนหลายแห่งตั้งศูนย์กระจายสินค้าแล้ว โดยเฉพาะบริเวณเหนือสี่แยกอินโดจีนขึ้นไปบนเส้นทางหมายเลข (11) ผ่านขึ้นเหนือไปเชียงราย-เชียงใหม่ นอกจากนี้ พื้นที่รอบๆ สี่แยกอินโดจีน ยังมีแหล่งตลาดค้าส่งผลไม้ขนาดใหญ่ที่ ต.ดอนทอง อีกด้วย
“ที่ตั้งที่เหมาะสมในการตั้งศูนย์กระจายสินค้า บริเวณสี่แยกอินโดจีนน่าจะเหมาะที่สุด เพราะเป็นทำเลที่รถบรรทุกมาจากภาคอีสาน ผ่านไปทิศเหนือ หรือตะวันตกได้สะดวก คาดว่า จะอยู่แถวแยกซีพี หลังวัดสมอแข ต.สมอแข อ.เมือง จ.พิษณุโลก มากกว่า”นายธวัชชัย กล่าว
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำวิจัยว่า ควรมีพื้นที่ 150 ไร่นั้น ตนคิดว่า เนื้อที่น้อยไป ควรใช้ประมาณ 500 ไร่ เพราะต้องมี จุดพัก-รถ หรือ สถานีขนส่งผู้โดยสารด้วย ขณะที่จุดที่ ต.บึงพระ ควรจะเป็นสถานีย่อย หรือสาขา กรณีการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่ต้องพึ่งระบบรถไฟ
อย่างไรก็ตาม หากถามว่า ขนส่งระบบรถไฟมีต้นทุนถูก คำตอบก็คือ ใช่ แต่ภาคธุรกิจ ห่วงเรื่องเวลามากกว่า เช่น การขนถ่ายสินค้าจากศูนย์ขนถ่ายที่ลาดกระบัง ไปท่าเรือแหลมฉบังใช้เวลา 6 ชั่วโมง ถือว่าช้า ฉะนั้น การขนส่งสินค้าที่เอกชนพึ่งพาเวลานี้ คือ ขนส่งทางรถยนต์เป็นหลักและใช้อยู่ประจำ หาก อบจ.ทุ่มงบลงไปที่บึงพระแล้วเจ๊ง จะทำอย่างไร
ดังนั้น ควรปรับเปลี่ยนทำเลที่ตั้งใหม่ มาอยู่ใกล้กับสี่แยกอินโดจีน และเชื่อว่า หากประชาสัมพันธ์ออกไป จะมีเจ้าของที่ดินบริจาคที่ดินให้ อบจ.เพราะที่ดินบริเวณข้างเคียงจะได้รับการพัฒนา แต่หากไม่มีใครบริจาคที่ ก็สามารถตั้งงบซื้อที่ดินเองได้ เมื่อศูนย์กระจายสินค้าก่อตั้งขึ้นแล้ว พอมีกำไรก็ยังไปซื้อที่ดินบริเวณ ต.บึงพระ ได้ทัน เพราะยังมีเวลาอีก 5 ปี กว่าที่ระบบรถไฟของประเทศไทยจะพัฒนาขึ้นมาตามแผน
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ อบจ.ได้กำหนดแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านการพัฒนารายได้และท่องเที่ยวปีงบประมาณ 2549 ไว้แล้ว ตามลำดับ คือ 1.ก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารและรับ-ส่งสินค้า บริเวณสี่แยกอินโดจีน ต.สมอแข อ.เมือง พิษณุโลก เพื่อบริการประชาชนในจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียง งบประมาณ 80 ล้านบาท หน่วยงานรับผิดชอบ คือ กองช่าง อบจ.พิษณุโลก
2.ศึกษาความเป็นไปได้ของระบบการขนส่งสินค้า และบริการโลจิสติกส์เพื่อยกระดับเมืองพิษณุโลก รองรับการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน งบประมาณ 4 ล้านบาท ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ 1) ความเป็นไปได้เพื่อการออกแบบระบบ Logistic แบบ Multi-Model Transportation Center โดยให้พิษณุโลกเป็นจุดศูนย์กลาง 2) มีแบบแผนดำเนินงานก่อสร้างระบบ Logistic แบบ Multi-Model transportation Center สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีกองช่างและกองทรัพยากรฯ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ