xs
xsm
sm
md
lg

แปดริ้วรับซื้อสับปะรดจากชาวไร่กว่า 500 ตัน นำมาทำลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แปดริ้วรับซื้อ และทำลายสับปะรดจากชาวไร่ 500 ตัน
ศูนย์ข่าวศรีราชา- เกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา ยื่นมือช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่สับปะรดเข้ารับซื้อสับปะรดส่วนเกิน 500 ตัน เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ เหตุจากผลผลิตออกมาล้นตลาด

วันที่ 15 มิ.ย.2549 เวลา 09.30 น.ที่ตลาดกลางสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดิน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา นางกาญจนาภา กี่หมัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย นายอภิชาติ กาญจนโอภาส เกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เปิดตลาดรับซื้อสับปะรดจากเกษตรกรชาวแปดริ้ว จำนวน 500,000 กก.หรือ 500 ตัน ในพื้นที่ 3 อำเภอ ที่ทำไร่สับปะรด ได้แก่ อำเภอแปลงยาว อ.สนามชัยเขต และ อ.ท่าตะเกียบ บนเนื้อที่กว่า 36,486 ไร่ เพื่อนำไปทำลายทิ้ง ในราคากิโลกรัมละ 1 บาท หลังเกิดปัญหาภาวะผลผลิตล้นตลาด ส่งผลให้ราคาสับปะรดตกต่ำ

นายอภิชาติ กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.กระทรวงเกษตรฯ ได้เรียกประชุมหารือผู้ว่าราชการจังหวัด 13 จังหวัด ที่มีพื้นที่ปลูกสับปะรดจากทั่วทุกภาคของประเทศ ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ตราด อุทัยธานี ลำปาง หนองคาย และนครพนม ประชุมหาแนวทางการแก้ไข และมีมติในที่ประชุมให้จังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกสับปะรด ทั้ง 13 จังหวัด ดำเนินการรับซื้อสับปะรดจากเกษตรกรนำไปทำลายทิ้ง เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ และมีผลผลิตออกมามากจนล้นตลาด

สำหรับจังหวัดฉะเชิงเทรานั้น มีผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดในขณะนี้จำนวน 183,600 ตัน และมีผลผลิตโดยรวมตลอดทั้งปีจำนวน 306,000 ตัน การรับซื้อสับปะรดไปทำลายในครั้งนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในภาวะผลผลิตล้นตลาด

ขณะที่ นายวิรัตน์ บูรณศีลสุนทร อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 23 ม.6 ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ตนทำไร่ปลูกสับปะรดบนเนื้อที่ 30 ไร่ มีผลผลิตออกมาในแต่ละปี ประมาณ 20-30 ตันต่อปี และเคยขายสับปะรดได้ในราคากิโลกรัมละ 4 บาท ส่วนในปีนี้ขายสับปะรดได้เพียงราคา กก.ละ 2 -2.50 บาท และต้องแจ้งโควต้าให้โรงงานแปรรูปอาหารกระป๋อง ทราบก่อนว่าจะมีผลผลิตส่งให้แก่โรงงานจำนวนเท่าใดในแต่ละช่วง ก่อนล่วงหน้า 3-5 เดือน และต้องจองคิวการส่งสับปะรดเข้าโรงงานล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ จึงจะสามารถนำสับปะรดเข้าไปขายให้แก่โรงงานได้

ส่วนสับปะรดส่วนเกินที่ผลผลิตออกมา มากกว่าโควตาที่ได้แจ้งไว้กับโรงงาน โรงงานก็จะไม่รับซื้อ และก็ไม่มีตลาดจำหน่ายรองรับ จนบางครั้งต้องปล่อยให้สับปะรดเน่าเสีย ทิ้งคาต้นภายในไร่ หรือบางครั้งก็ต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเอง ตัดนำสับปะรด ออกไปเร่ขายเอง ในราคา 3 กก.10 บาท แต่ก็ระบายออกได้ไม่หมด และก็มีชาวไร่สับปะรดด้วยกันต่างพากันเร่งระบายสับปะรดออกไปแข่งกันขายหลายเจ้า

“การที่รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา รับซื้อสับปะรดจากเกษตรกรในครั้งนี้ ในราคา กก.ละ 1 บาท ก็ยังพอได้ทุนคืนบ้าง เพราะยังดีกว่าปล่อยสับปะรดทิ้งให้เน่าเสียคาต้นในไร่” นายวิรัตน์ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น