xs
xsm
sm
md
lg

เปิด “บันทึกเปื้อนโคลน” คนลับแล - “น้ำต๊ะ-น้ำลี” วันนี้ยังต้องร้องระงม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงาน

อุตรดิตถ์
- อุบัติภัยน้ำท่วม-ดินถล่ม 3 อำเภอของอุตรดิตถ์ ที่หลายคนไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น โดยอำเภอท่าปลา คือ พื้นที่สูง มีลำห้วยน้ำลี ที่เป็นห้วยขนาดไหญ่ไหลลงสู่แม่น้ำน่านที่มีปลายทางที่เขื่อนสิริกิติ์ โดยผ่านหมู่บ้านน้ำต๊ะ และบ้านน้ำลี ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา ท่ามกลางความหนาแน่นของประชากรตั้งบ้านเรือนและทำไร่ลางสาดและทุเรียนบนที่ราบเชิงเขา โดยไม่มีพื้นราบใช้ประกอบอาชีพทำนาตลอดแนวของลำห้วย

ขณะที่อีกสายน้ำของทิวเขาใกล้กัน คือ “ลำห้วยน้ำไคร้” ผ่านหมู่บ้านแม่เฉย ผ่านเข้าพื้นที่ ต.บ้านด่านนาขาม เกือบทั้งหมด เลาะเลียบมาตามถนนสายเอเชียหมายเลข 11 ที่ 2 ข้างทางเป็นแหล่งกระจายสินค้าพื้นเมือง คือ ทุเรียน และลางสาดออกสู่ตลาด

ส่วนอีกพื้นที่เป็นจุดอันตรายทำให้เกิดการเสียชีวิตมากสุด คือ อำเภอลับแล ที่มีหมู่บ้านผามูบ ตั้งอยู่ปลายสุด เป็นหมู่บ้านแนวเขตที่กั้นระหว่าง อ.ศรีสัชชนาลัย จ.สุโขทัย - อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ นั้น มี “ลำห้วยแม่พูล” ที่เป็นที่ตั้งของน้ำตกห้วยแม่พูล ไหลสู่หมู่บ้านสองฝากทาง คือ หมู่บ้านนานกกก ผามูบ และฝายหลวง อันเป็นที่มาของโศกนาฏกรรมของคนลับแล

สำหรับอุทกภัยที่เกิดขึ้นฝั่งของเมืองอุตรดิตถ์ เป็นน้ำป่าจากบนภูเขาที่ไหลพัดพาโคลนจากบ้านแม่เฉย บนดอยสูงลงมาสู่พื้นราบหลายครัวเรือนที่ตัวอยู่ริมห้วยราบเป็นหน้ากลอง และถูกพัดพาไหลพร้อมๆ กับน้ำป่า เช่นเดียวกับทางรถไฟบิดเบี้ยวหงิกงอ เพราะกระแสน้ำป่าอันเชี่ยวกรากจนไม่สามารถใช้การได้

นายไสว ถือแก้ว อายุ 39 ปี อาชีพรับจ้าง ชาวบ้านนาฝาย หมู่ 4 ต.ด่านนาขาม อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ บอกว่า ในวันเกิดเหตุ (คืนวันที่ 22 พ.ค.) เขาได้ถือไฟฉายไปส่องกบเพื่อเลี้ยงชีพ วันนั้นฝนตกหนักในช่วงประมาณ 3 ทุ่ม แต่กลับไม่ได้กบสักตัวเดียว เหมือนมีอะไรบอกเหตุ

ระดับน้ำที่ค่อยๆ สูงขึ้นจากหัวเขา จนเที่ยงคืนก็อยู่ไม่ได้ จึงต้องกลับไปบ้านนาฝาย
หลังจากนั้น “ลำห้วยน้ำไคร้” ที่มีสีแดงเข้ม เพราะพัดหาเอาโคลนจากภูเขาผ่านบ้านแม่เฉย กระหน่ำรางรถไฟจนเบี้ยวงอ พัดบ้านพักหลังแรกๆ ของท้ายหมู่บ้านแถบบ้านผาตั้ง นาฝาย และ ต.น้ำริด ขณะที่กลางๆ หมู่บ้านที่ส่วนใหญ่ปลูกบ้านชั้นเดียว ถือเป็นชุมชนหนาแน่นขนาดใหญ่ ถูกโคลนซัดเข้าครึ่งชั้นเป็นอย่างน้อยทุกหลัง แม้ว่าความแรงของน้ำลดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อมาใกล้ตัวเมือง แต่ยังทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า

และที่นี่ “บ้านปางปาคา” คือหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ส่วนปลายของบ้านนาฝาย หมู่ 4 ต.บ้านด่านนาขาม ที่แยกหมู่บ้านออกเพราะห่างไกลตัวชุมชน 2 กิโลเมตร ล่าสุดจนถึงวันนี้ (27 พ.ค.) ยังคงถูกตัดขาดจากตัวเมือง เพราะน้ำป่าได้พัดถนนขาด ทำให้จำนวน 10 หลังคาเรือนประชากรกว่า 30 คนต้องโดดเดี่ยว เส้นทางถนนไม่สามารถใช้การได้ ล่าสุดต้องใช้แพทำด้วยไม้ไผ่ลากจูงด้วยเชือกเป็นเส้นทางสัญจรเข้าออกหมู่บ้าน

นายเส็ง สรีรักษ์ อดีตสมาชิก อบต.ด่านนาขาม บอกว่า เส้นทางตัดเข้ามาบ้านบางปาคา ประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้งบ อบต.ประมาณ 1 แสนกว่าบาท พังเสียหายทั้งหมด เชื่อว่าอีกนานกว่าชาวบ้านแถบนี้จะมีถนนใหม่ เพราะเชื่อว่า อบต.ท่านาขาม คงนำงบประมาณไปลงที่อื่นก่อน เพราะตำบลนี้เสียหายเกือบทั้งหมด น้ำป่าที่รุนแรงทำลายบ้านเกือบทั้งหมด ยุ้งข้าวของชาวบ้านหลายหลังพังทลายไม่มีชิ้นดี

“ทุกวันนี้คนในบ้านปางปาคา อาศัยเส้นทางเดินของวัด หากเข้าไปตัวเมืองอุตรดิตถ์ และต้องเดินเท้าไปหมู่บ้านนาฝายประมาณ 6 กิโลเมตร และมีระยะทางไปตำบลนำริดประมาณ 6 กิโลเมตร”

“น้ำต๊ะ-น้ำลี” วันนี้ยังร้องระงม

ในการเดินทางเข้าสู่บ้านน้ำต๊ะ–น้ำลี 2 หมู่บ้านที่ประสบอุบัติภัยโคลนถล่มหนักที่สุดของจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งอยู่ในเขต ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ของ “ผู้จัดการรายวัน” ที่เกาะท้ายรถไปกับขบวนออฟโรคจากจังหวัดตาก และอีกหลายจังหวัด เช่น กลุ่มผญจภัย กลุ่มชมรมโฟร์วิลจังหวัดตาก ฯลฯ ที่รวมตัวกันนำน้ำดื่ม-สิ่งของเครื่องใช้ เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในเบื้องต้นเมื่อวันที่ 25 พ.ค.49 ที่ผ่านมานั้น

เริ่มต้นเดินทางออกจากสี่แยกวังสีสูบ ตัวเมืองอุตรดิตถ์ ไปตามป้ายบอกทางพบว่าตลอดเส้นทางยังมีบ้านเรือนเป็นชุมชนตั้งอยู่ตามไหล่เขาเป็นหย่อมๆ แทบไม่ได้บ่งบอกได้เลยว่าข้างหน้าคือ หุบเหว ที่ก่อเกิดอุทกภัยโคลนถล่ม ที่ล่าสุดยังไม่สามารถประเมินความเสียหายและผู้เสียชีวิตได้อย่างเป็นทางการ

ตามเส้นทางจากตัวเมืองอุตรดิตถ์-น้ำต๊ะ/น้ำลี ที่มีระยะทางประมาณ 30-40 กม.นั้น ตลอดระยะทางจะพบ เหยื่อน้ำป่า-โคลนถล่มเป็นระยะๆ

หลังขับรถยนต์ผ่านเส้นทางบ้านน้ำหมัน ต.น้ำหมัน อ.ท่า ตลอดเส้นทางขวามือคือ หุบเหว และท้องน้ำลำห้วยน้ำลี ที่ไหลไปบรรจบแม่น้ำน่านมีปลายทางสุดท้ายที่เขื่อนสิริกิติ์ ตลอดทางจะมีซากบ้านเรือนที่พังทลาย เพราะดินถล่มลงมาจากไหลเขา และมีไม่น้อยที่ทับถม ถนนลาดยางเข้าหมู่บ้าน

เรียกได้กว่า ณ วันนี้ ลำห้วยนำลีที่อยู่กลางหุบเขาสามารถสร้างเขื่อนเก็บน้ำได้อย่างสบาย เพราะจากลำห้วยเล็กๆ หลังจากถูกน้ำป่าอันเชี่ยวกรากพัดผ่านไป ทำให้เกิดท้องน้ำกว้างประมาณ 1 กิโลเมตร โดยน้ำป่าได้พัดพาเอาเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านที่เคยปรากฏให้เห็นตลอดแนวของลำห้วย กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำไปในที่สุด ทิ้งซากสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่เคยพาดผ่านลำห้วยไว้เป็นที่ระลึกกลางลำน้ำอยู่

ซึ่งแม้ว่าขบวนนักเดินทางที่มุ่งหน้าไปช่วยเหลือชาวบ้านน้ำต๊ะ-น้ำลี ชุดนี้จะใช้รถออฟโรดที่แต่งเครื่อง เพิ่มแรงม้ามาอย่างดีก็ตาม แต่ก็หลุดรอดลำห้วยน้ำลีไปได้เพียง 3 คันเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีลำเลียงน้ำดื่ม เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ จากรถที่ไม่สามารถข้ามผ่านห้วยน้ำลีไปบรรทุกในรถคันที่สามารถผ่านไปได้แทน รวมทั้งรถ “อีแต๊ก” ของชาวบ้านที่นำออกมาจากหมู่บ้าน เพื่อขนเสบียงอาหารที่ได้รับบริจาคเข้าไปให้ถึงมือเพื่อนบ้านที่เหลืออยู่ไม่ถึงครึ่งหมู่บ้าน จากเดิมที่เคยมีหมู่บ้านละประมาณ 100 กว่าหลังคาเรือน รวมประชากรประมาณ 500 คนด้วยกัน

แต่ลำห้วยน้ำลี (จุดนี้) เป็นเพียงด่านแรกก่อนเข้าถึงหมู่บ้านเท่านั้น

เพราะยังต้องผ่านเวิ้งห้วยน้ำลี ที่ถูกตัดขาดเช่นเดียวกันนี้อีก 1 จุด ก่อนที่จะต้องผจญกับถนนที่สูงชัน และเต็มไปด้วยโคลนเลน ที่มีเฉพาะออฟโรดที่ผ่านการแต่งเครื่องอย่างดี/รถไถนาของชาวบ้าน และรถยูนิมอร์ค/โมบายโฟร์วีลของกองทัพเท่านั้นที่จะบุกผ่านเข้าไปถึงที่ตั้งของหมู่บ้านผ่านทางพื้นดิน

และเมื่อถึงหมู่บ้าเป้าหมายคือ น้ำลี ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ สภาพที่ปรากฏก็คือ หลักฐานที่บ่งบอกถึงความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน

นางสร้อย อสุชิน อายุ 43 ปี ชาวบ้านน้ำลี ที่ผลัดถิ่นฐานไปทำงานโรงงานฉะเชิงเทรา เปิดเผยทั้งน้ำตาหลังจากกลับมาที่บ้านว่า ทั้งแม่ที่ชื่อนางเป้า วันสนุก น้าที่ชื่อนายลี สนุกบัน และหลานที่ชื่อว่า ด.ช.นที วันสนุก หายไปในช่วงวันเกิดเหตุ เพราะบ้านตั้งอยู่ริมห้วยน้ำลี ได้หายไปพร้อมเพื่อนบ้านอีก 5 หลัง แม้แต่ซากบ้าน (เลขที่ 22/1 หมู่ 6 ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา) ก็ไม่เห็น เพราะช่วงตี 2-3 คนกำลังหลับ และไม่เชื่อว่า มีสัญญาณเตือนภัยใดๆ ทั้งสิ้นเพราะบ้านเรือนตั้งอยู่ห่างกัน

“เท่าที่รู้ที่น้ำต๊ะ จาก 100 กว่าหลังคาเรือน มันหายไปกว่า 50 หลัง ส่วนที่น้ำลี เฉพาะเวิ้งริมลำห้วยที่เคยมีบ้านอยู่ 10 กว่าหลัง ขณะนี้หายไปหมดไม่เหลือแม้แต่หลังเดียว นอกจากนี้ยังมีริมชิงเขาจุดอื่นๆ ที่อยู่ห่างกันไปพอสมควร แต่อยู่ในเขตหมู่บ้านเดียวกันอีกจุดละ 20-30 หลังคาเรือน แต่ละจุดก็เหลือยู่ไม่กี่หลังเช่นกัน”

เช่นเดียวกับนางน้อย ที่เฝ้าดูพื้นที่ที่เคยเป็นสวนลางสาดเหมือนกับบ้านอื่นที่ตั้งอยู่ริมห้วยก็หายวับไปทันที ไม่เหลือสภาพพื้นที่สวนให้เห็นอีกต่อไป และที่นาของพื้นบ้านริมห้วย ชาวบ้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค.49 ฝนตกหนักผิดปกติ ตั้งแต่บ่าย 3 โมงจนกระทั่งเที่ยงคืน กระทั่งช่วงตี 3 โคลนถล่ม หลายคนไม่ตื่นและตายหลายคน ในย่านนี้มีคนรอด ก็แค่เด็กคนเดียวที่ถูกพัดติดฝั่งริมป่าไม้

“สิ่งที่อยากได้ตอนนี้ คือ บ้านเรือนใหม่ และที่ทำกิน เพราะที่ดินเดิม กลายเป็นเวิ้งลำห้วย ไปหมดแล้ว สิ่งของอุปโภคบริโภคที่ส่งมาถึงมือชาวบ้าน แต่เงินบริจาค ขอร้องว่า อย่าให้กับผู้นำชุมชน เพราะไม่ถึง ต้องนำมาให้ถึงมือที่บ้านน้ำลีดีกว่า”

เช่นเดียวกับเหตุการณ์คนบ้านน้ำต๊ะ ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา ซึ่งอยู่ถัดออกไปนั้นก็มีสภาพไม่ต่างกันคือ น้ำป่าทะลักจากลำห้วยเข้าสู่บ้านเรือนในระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมง บ้านที่ปลูกอยู่ริมห้วยเพื่อทำสวนลางสาดและทุเรียนพังเสียหายทันที



 ยุ้งข้าวของชาวบ้านปางป่าคา ที่ถูกกระแสน้ำขุดรากถอนโคน และถนนเข้าบ้านปางป่าคาที่ถูกพัดเสียหาย

ครอบครัวนางสร้อย และซากบ้านพักที่เคยอยู่อาศัยที่บ้านน้ำลี
สภาพสวนทุเรียน - ลองกอง ของชาวบ้านน้ำลี ที่วันนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเวิ้งห้วยน้ำลีไปแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น