ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวบ้านแหลมหิน ชมรมอนุรักษ์ป่าชายเลน พบร่องรางปืนสมัย ร.3 อายุ 170 ปี ใช้ลากปืนใหญ่ต่อสู้ญวน, อบต.หนองคันทรง เร่งบูรณะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว
วันนี้ (6 เม.ย.) นายสมชาย ศรประดิษฐ์ ประธานชมรมอนุรักษ์ป่าชายเลน ต.หนองคันทรง อ.เมือง จ.ตราด และชาวบ้านแหลมหิน รวมทั้ง นายนิพัฒน์ ลัดดาโชติ นายก อบต.หนองคันทรงกว่า 50 คนได้เดินทางไปดูร่องหินบริเวณสะพานประมงบ้านแหลมหินที่อยู่ในป่าชายเลน มีความยาวประมาณ 40-50 เมตร และลึกประมาณ 10 เซนติเมตรเป็นแนวตรงไปสู่บริเวณแหลมหิน ที่เป็นที่ตั้งของ กระโจมไฟ (ประภาคาร) และยังพบบังเกอร์ดินที่คาดว่าจะเป็นที่หลบลูกปืนใหญ่ ชื่อชาวบ้านได้ขุดเป็นร่องไว้ เนื่องจากเวลาน้ำท่วมถึงที่ดินเลนมาก
นายสมชาย ศรประดิษฐ์ กล่าวว่า ผู้เฒ่าในหมู่บ้านได้เคยเล่าให้ฟัง ว่า ที่บริเวณแหลมหินที่เป็นที่ตั้งของกระโจมไฟร่องรางปืนใหญ่สมัยรัชกาลที่ 3 มาตั้งกองทัพสู้รวมกับกองทัพญวนที่แย่งแผ่นดินเขมร และปัจจุบันก็ยังอยู่แต่ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน กระทั่งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2549 ชมรมอนุรักษ์ป่าชายเลนตะหนองคันทรง ได้เข้าไปสำรวจและพบว่ามีอยู่จริงบริเวณสะพานประมงบ้านแหลมหิน จึงได้ทำการขุดลอกดินที่ทำถมอยู่นาน ซึ่งเป็นร่องลึก 10-15 เซนติเมตรเป็นแนวยาวเฉียงกับแหลมหินที่เป็นที่ตั้งกระโจมไฟ ขุดและทำเป็นร่องไว้เพื่อให้คงเป็นธรรมชาติ
“เมื่อปี พ.ศ.2372 พระบาทสมเด็นพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้พระราชทานดาบอาญาสิทธิ์แก่เจ้าพระยาบดินทร์ แม่ทัพไทย ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเต็มแทนพระองค์ในการยกทัพปราบกบฏเขมร เมื่อครั้งยกทัพไปปราบญวน เนื่องจากญวนพยายามชิงเขมรไปจากไทย ครั้งหนึ่งเจ้าพระยาบดินทร์เดชากับเจ้าพระยาคลังได้ยกทัพมา สกัดกั้นทัพญวนที่บ้านแหลมหิน จังหวัดตราด เหล่าบรรดาทหารหาญได้ช่วยกันขุดร่องรางปืนใหญ่ เพื่อลากขึ้นฝั่งยิงต่อสู้ทัพญวน และพร้มดที่จะลากปืนใหญ่ลงเรือ เมื่อเพลี่ยงพล้ำ”
การที่กองทัพไทยทำการรบกับทัพญวนครั้งนี้เป็นเวลานานถึง 15 ปี ไทยจึงได้เขมรมาอยู่ในความครอบครองตามเดิม แล้วจึงเลิกรบกันและทหารไทยได้ช่วยกันสร้างวัดเป็นที่ระลึกให้ชื่อเรียกว่า “วัดโยธานิมิต” ตราบถึงปัจจุบันนี้
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ร่องรางปืนใหญ่ไม่ใช่แต่เพียงเท่านี้ แต่ที่มีหลายร่อง เพราะมีการสร้างถนนเข้ามาที่บริเวณกระโจมไฟที่เคยมีสภาพเป็นเกาะ (เกาะปู) ได้ทับร่องรางปืนใหญ่ไปหลายช่อง แต่หากที่การขุดไปก็จะพบว่ามีร่องรางปืนใหญ่อยู่ แต่จำเป็นต้องมีการขุดอีก และต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ส่วน นายสุ่น ประสิทธินาวา กำนัน ต.หนองคันทรง ก็ให้ข้อมูลว่ายังมีบังเกอร์อยู่ในหมู่บ้านของ ก๋งนอก วรสิงห์ ที่มีสภาพเป็นคันดินใช้ไว้ป้องกัน กระสุนปืน และเชื่อว่าบริเวณแหลมงอบจะเป็นป้อมปืนใหญ่ในยุคสมัยนั้น
ด้าน นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จะใช้งบประมาณของ อบต.หนองคันทรง พัฒนาสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของตำบล และจะทำการขุดดินต่อให้เกิดความสมบูรณ์ของร่องรางปืน ร่วมกับชมรมอนุรักษ์ พร้อมจัดเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ของตำบล และทำซุ้มประวัติศาสตร์ของร่องรางปืนนี้ด้วย