xs
xsm
sm
md
lg

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีทุจริตที่ดินเขาไม้แก้ว (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีทุจริตที่ดินเขาไม้แก้ว
ฉบับเต็ม


ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์


ศาลอุทธรณ์ ภาค๒

วันที่ ๒ เดือน มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

ความอาญา

ระหว่าง

โจทก์ พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี

จำเลย นายสมชาย คุณปลื้ม จำเลยที่๑
นายศิวดลหรือดำ สุคนธสิทธิ์ ที่๒
นายวินัย สมทรัพย์ ที่๓
นายวิริยะ บุญกูล ที่๔
นายประเสริฐ ภู่พงษ์ ที่๕


เรื่อง ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร

จำเลยที่๑ ที่๓ และที่๔ อุทธรณ์คำพิพากษาศาลจังหวัดชลบุรีลงวันที่๓๑ เดือนมีนาคม พุทธศักราช๒๕๔๖ ศาลอุทธรณ์ภาค๒ รับวันที่๘ เดือนตุลาคม๒๕๔๖

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑กรกฎาคม ๒๕๓๕ ถึงวันที่๗ กรกฎาคม๒๕๓๖ ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งห้าและนายวิทยา คุณานุกรกุลกับพวกอีก ๑คน ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ

(ก) จำเลยที่ ๔ ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานนิติการ ระดับ ๖ประจำเมืองพัทยาและจำเลยที่๕ ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี(สาขา)ระดับ ๗กับนายวิทยา คุณานุกรกุล ปลัดเมืองพัทยา ซึ่งต่างเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ในการจัดหา ซื้อ ทำ จัดการ ตรวจรับ ที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยา รู้อยู่แล้วว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ก.) เลขที่๑๒๘๑๘ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่๑๔๐ไร่ของนายพีระ หรือเฉลียว ศิลรัตน์ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าบางละมุง” ซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากบริษัท เค.ไอ.ที.ไอ. คอปโปเรชั่น จำกัด ในราคาไร่ละ๕๐,๐๐๐บาท แต่จำเลยที่ ๔และที่ ๕ กับนายวิทยาร่วมกันดำเนินการให้เมืองพัทยารับซื้อที่ดินดังกล่าว จากนายพีระหรือเฉลียวในราคาไร่ละ๖๖๘,๐๐๐บาท รวม ๑๔๐ไร่ เป็นเงิน๙๓,๕๒๐,๐๐๐บาท ซึ่งสูงเกินกว่าความเป็นจริงมาก อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต เป็นการเสียหายแก่รัฐ

(ข) จำเลยที่ ๑ที่๒ และที่๓ กับนายพีระหรือเฉลียวร่วมกันสนับสนุนช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่จำเลยที่๔ และที่๕ กับนายวิทยาในการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ (ก)โดยร่วมกันดำเนินการให้นายพีระหรือเฉลียวไปติดต่อซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำผลประโยชน์(น.ส.๓ก.) เลขที่ ๑๑๑๐ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีเนื้อที่๑,๘๑๐-๑-๒๘ ไร่ จากบริษัท เค.ไอ.ที.ไอ.คอปโปเรชั่น จำกัด จำนวน๑๕๐ไร่ บริษัทดังกล่าวได้แบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก.) เลขที่ ๑๒๑๘เนื้อที่๑๕๐ไร่ โดยมีจำเลยที่๒ ทำหน้าที่เป็นนายหน้าติดต่อขอซื้อที่ดินดังกล่าวให้นายพีระหรือเฉลียว และเป็นผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท เค.ไอ.ที.ไอ.คอปโปเรชั่น จำกัด ในการขายที่ดินดังกล่าว จำนวน๑๕๐ไร่ ให้นายพีระหรือเฉลียว ในราคาไร่ละ๕๐,๐๐๐บาทเป็นเงิน ๗,๕๐๐,๐๐๐บาท ทั้งที่จำเลยที่๑ ที่ ๒ และที่ ๓กับพวกทราบดีว่าที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าบางละมุง”จำเลยที่ ๑ที่ ๒ และที่๓กับพวกยังร่วมกันดำเนินการให้ราษฎรผู้มีที่ดินอยู่ในบริเวณใกล้เคียงที่จะขายให้แก่เมืองพัทยา ไปจดทะเบียนซื้อขายที่ดินในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง กล่าวคือ ให้นายอำนวย จันทร์เทียน จดทะเบียนขายที่ดินตามโฉนดเลขที่๔๒๘๒๗ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี แก่นายสมใจ จันทร์เทียน ในราคา๑,๒๐๐,๐๐๐บาท ให้นายเพชร จันทร์เทียน จดทะเบียนขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๔๒๙๕๖ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี แก่นางหอม นฤทัย ในราคา๓,๐๐๐,๐๐๐บาท และให้นายเยิ้ม อยู่สบาย จดทะเบียนขายที่ดินตามโฉนดเลขที่๔๒๙๕๘ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี แก่นายอำพล จันทร์เทียม ในราคา๑,๔๐๐,๐๐๐บาท อันเป็นความเท็จ ความจริงบุคคลดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาซื้อขายที่ดินกันและไม่มีการชำระราคาในการซื้อขายแต่อย่างใด โดยมีจำเลยที่ ๑ที่ ๒ และที่ ๓กับพวกเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน ทั้งนี้เพื่อให้จำเลยที่ ๔และที่ ๕กับนายวิทยา คุณานุกรกุล นำหลักฐานการซื้อขายของบุคคลดังกล่าวไปประกอบในการที่เมืองพัทยาจัดซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก.) เลขที่๑๒๑๘ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จำนวน๑๔๐ไร่ จากนายพีระหรือเฉลียว ซึ่งต่อมาจำเลยที่๔ และที่๕กับนายวิทยาก็ได้นำหลักฐานการซื้อขายที่ดินของบุคคลดังกล่าวไปใช้ประกอบในการจัดซื้อ ตรวจรับและรับโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก.)เลขที่๑๒๑๘ จากนายพีระหรือเฉลียวจนสำเร็จสมดังเจตนาของจำเลยที่๑ ที่๒ และที่๓ กับพวก

(ค) จำเลยที่๑ ได้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เงินจำนวน๕,๐๐๐,๐๐๐บาท แก่นายวิทยา คุณานุกรกุล ปลัดเมืองพัทยาซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการเมืองพัทยาให้เป็นไปตามกฎหมาย และเป็นประธานกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษและรับโอนที่ดินสำหรับใช้ทิ้งขยะของเมืองพัทยา จำนวน๑๔๐ไร่ โดยมีงบประมาณในการจัดซื้อทั้งสิ้น ๙๘,๐๐๐,๐๐๐บาท เพื่อจูงใจให้นายวิทยาอาศัยตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าว รับซื้อ ตรวจรับและรับโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก.)เลขที่ ๑๒๓๘ จำนวน ๑๔๐ไร่ ทั้งที่จำเลยที่๑และนายวิทยาทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าบางละมุง” และทราบดีอยู่แล้วว่านายพีระหรือเฉลียวซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากบริษัท เค.ไอ.ทีไอ.คอปโปเรชั่น จำกัดในราคาไร่ละ ๕๐,๐๐๐บาท เป็นเหตุให้เมืองพัทยารับซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายพีระหรือเฉลียวในราคาไร่ละ ๖๖๘,๐๐๐บาท จำนวน ๑๔๐ไร่ เป็นเงิน ๙๓,๕๒๐,๐๐๐บาทซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินกว่าความเป็นจริงมาก

(ง) เมื่อวันที่ ๑๓สิงหาคม ๒๕๓๕ เวลากลางวัน จำเลยที่๒ และจำเลยที่ ๓ ร่วมกันใช้ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริมให้นายอำนวย จันทร์เทียน กับนายสมใจ จันทร์เทียน ไปแจ้งแก่นายไพรัตน์ เศียรสมาน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ตำแหน่งหัวหน้างานนิติกรรม มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนสิทธินิติกรรมที่ดินทุกประเภทที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๔,๐๐๐,๐๐๐บาท ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่า บุคคลทั้งสองมีความประสงค์จะจดทะเบียนทำนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่๔๒๘๒๗ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ในราคา ๑,๒๐๐,๐๐๐บาท โดยนายอำนวยเป็นผู้ขายนายสมใจเป็นผู้ซื้อ อันเป็นความเท็จ ความจริงทั้งสองมิได้มีเจตนาซื้อขายที่ดินกัน แต่เป็นการซื้อขายหลอกๆ โดยมิได้มีการชำระราคากันและบุคคลทั้งสองได้ไปแจ้งแก่นายไพรัตน์ ให้ดำเนินการตามที่จำเลยที่ ๒ และที่๓ ใช้ จ้าง วาน ดังกล่าว เป็นเหตุให้นายไพรัตน์หลงเชื่อว่าเป็นความจริง ได้ดำเนินการจดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวลงไว้ในเอกสารสัญญาซื้อขายและบันทึกลงไว้ในสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดดังกล่าว อันเป็นเอกสารราชการและเอกสารมหาชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลัก ทั้งนี้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีวัตถุประสงค์เพื่อจะนำหลักฐานการซื้อขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ดังกล่าวไปใช้เป็นหลักฐานแสดงประกอบในการเสนอขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ก.) เลขที่ ๑๒๑๘ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ให้แก่เมืองพัทยา โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่เมืองพัทยา ผู้อื่นและหรือประชาชน

(จ) เมื่อวันที่๒๖สิงหาคม๒๕๓๗ เวลากลางวัน จำเลยที่ ๒ และที่๓ ร่วมกัน ใช้ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริมให้นายเพชร จันทร์เทียน กับนางหอม นฤทัย ไปแจ้งแก่นายไพรัตน์ เศียรสมาน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ตำแหน่งหัวหน้างานนิติกรรม มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนสิทธินิติกรรมที่ดินทุกประเภทที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๔,๐๐๐,๐๐๐บาท ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่า บุคคลทั้งสองมีความประสงค์จะจดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดิน โฉนดเลขที่ ๔๒๙๕๖ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ในราคา ๓,๐๐๐,๐๐๐บาท โดยนายเพชรเป็นผู้ขาย นางหอมเป็นผู้ซื้อ อันเป็นความเท็จ ความจริงบุคคลทั้งสองมิได้มีเจตนาซื้อขายที่ดินกัน แต่เป็นการทำสัญญาซื้อขายกันหลอกๆ โดยมิได้มีการชำระราคากัน และบุคคลทั้งสองได้ไปแจ้งแก่นายไพรัตน์ให้ดำเนินการตามที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ใช้ จ้าง วาน ดังกล่าว เป็นเหตุให้นายไพรัตน์หลงเชื่อว่าเป็นความจริงได้ดำเนินการจดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวลงไว้ในเอกสารสัญญาซื้อขายและบันทึกลงไว้ในสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดดังกล่าว อันเป็นเอกสารราชการและเอกสารมหาชนซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน ทั้งนี้ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีวัตถุประสงค์เพื่อจะนำการซื้อขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ดังกล่าวไปใช้เป็นหลักฐานแสดงประกอบในการเสนอขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก.) เลขที่ ๑๒๑๘ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ให้แก่เมืองพัทยา โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่เมืองพัทยา ผู้อื่นและหรือประชาชน

(ฉ) เมื่อวันที่ ๑๖กันยายน๒๕๓๕ เวลากลางวัน จำเลยที่๒ และที่๓ ร่วมกันใช้ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริมให้ นายเยิ้ม อยู่สบายกับนายอำพล จันทร์เทียนไปแจ้งแก่นายไพรัตน์ เศียรสมาน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ตำแหน่งหัวหน้างานนิติกรรม มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนสิทธินิติกรรมที่ดินทุกประเภทที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๔,๐๐๐,๐๐๐บาท ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าบุคคลทั้งสองมี
ความประสงค์จะจดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๒๙๕๘ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ในราคา ๑,๔๐๐,๐๐๐บาท โดยนายเยิ้มเป็นผู้ขาย นายอำพลเป็นผู้ซื้อ อันเป็นความเท็จความจริงบุคคลทั้งสองมิได้มีเจตนาที่จะซื้อขายที่ดินกัน แต่เป็นการซื้อขายกันหลอกๆ โดยมิได้มีการชำระราคากันและบุคคลทั้งสองได้ไปแจ้งแก่นายไพรัตน์ให้ดำเนินการตามที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ใช้ จ้าง วาน ดังกล่าว เป็นเหตุให้นายไพรัตน์หลงเชื่อว่าเป็นความจริง ได้ดำเนินการจดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าว เป็นเหตุให้นายไพรัตน์หลงเชื่อว่าเป็นความจริง ได้ดำเนินการจดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวลงไว้ในเอกสารซื้อขายและบันทึกไว้ในสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดดังกล่าว อันเป็นเอกสารราชการและเอกสารมหาชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน ทั้งนี้ จำเลยที่ ๒ และที่๓ มีวัตถุประสงค์เพื่อจะนำหลักฐานการซื้อขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ดังกล่าวไปใช้เป็นหลักฐานแสดงประกอบในการขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ก.) เลขที่๑๒๑๘ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ให้แก่เมืองพัทยา โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่เมืองพัทยา ผู้อื่น และหรือประชาชน

เหตุเกิดที่ตำบลเขาไม้แก้วและตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุงและตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เกี่ยวพันกัน

จำเลยทั้งห้าได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ครั้นเมื่อวันที่ ๒๘ธันวาคม๒๕๓๗ เจ้าพนักงานได้ยึดเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน เลขที่ ๐๓๘๗๘๖๗ ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๓๖ สั่งจ่ายเงินจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐บาท และเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาหนองมน เลขที่ ๐๓๘๗๘๖๘ ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๓๖ สั่งจ่ายจำนวน ๕๐๐,๐๐๐บาท จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาหนองมน ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งห้ากับนายวิทยาร่วมกันใช้ในการกระทำความผิด เป็นของกลาง ต่อมาวันที่ ๒๓มิถุนายน ๒๕๓๘ เจ้าพนักงานได้ยึดเช็คธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด สาขาหนองมน เลขที่ ๑๙๗๖๖๗ ลงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๖ สั่งจ่ายเงินจำนวน ๘๐,๐๐๐บาท เช็คธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาหนองมน เลขที่ ๑๙๗๖๖๘ ลงวันที่ ๕กรกฎาคม ๒๕๓๖ สั่งจ่ายเงินจำนวน๒,๐๐๐,๐๐๐บาทและเช็คธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาหนองมน เลขที่๑๙๗๖๗๑ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๖ สั่งจ่ายเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐บาท จากธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาหนองมน ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งห้ากับนายวิทยาร่วมกันใช้ในการกระทำความผิด เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓,๘๓,๘๔,๘๖,๙๑,๑๔๔,๑๕๑,๑๕๗,๒๖๗ ริบของกลาง

จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๔,๑๕๑ ประกอบมาตรา ๘๖ จำเลยที่ ๒ และที่๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๑ ประกอบมาตรา ๘๖,๒๖๗ ประกอบมาตรา ๘๔ จำเลยที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๑ การกระทำของจำเลยที่ ๑ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน จำคุกจำเลยที่ ๑ กำหนด ๒ปีฐานสนับสนุนให้เจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต จำคุกจำเลยที่ ๑ ที่๒ และที่๓ มีกำหนดคนละ ๓ปี ๔เดือน ฐานใช้ให้ผู้อื่นแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามฟ้องข้อ (ง) และข้อ (ฉ) จำคุกจำเลยที่ ๔ มีกำหนด๕ปี รวมจำคุกจำเลยที่๑ที่๒ และที่๓ มีกำหนดคนละ ๕ปี๔เดือน ริบของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๕และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒ และที่๓ ในข้อหาตามคำฟ้องข้อ(จ) ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ ๑ที่ ๓ และที่ ๔ อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เมื่อปี๒๕๓๗ พลตำรวจโทเสรี เตมียเวส ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาลรักษาการในตำแหน่งรองผู้บัญชาการ รองหัวหน้าตำรวจภาค๒ ซึ่งเป็นตำแหน่งในขณะนั้น ได้รับหนังสือร้องเรียนว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยา จึงสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำการสืบสวน ผลการสืบสวนได้ความว่า นายพีระ ศิลรัตน์ คนทำสวนของจำเลยที่ ๑ และพักอาศัยอยู่กับจำเลยที่๑ เป็นผู้ขายที่ดินให้แก่เมืองพัทยาใช้เป็นที่ทิ้งขยะเป็นเงินถึง ๙๓,๐๐๐,๐๐๐บาทเศษ แต่ฐานะของนายพีระก็ไม่ดีขึ้น ยังคงเป็นคนทำสวนเช่นเดิม พลตำรวจโทเสรี จึงตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งตำรวจภาค ๒ที่ ๗๔/๒๕๓๗ เอกสารหมายเลข จ.๖๙ คณะกรรมการสืบสวนทำการสืบสวนแล้วได้รายงานผลการสืบสวนว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อที่ดินจริง โดยพบว่าที่ดินที่เมืองพัทยาซื้อตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามรายงานผลการสืบสวนเอกสารหมาย จ.๗๐ พลตำรวจโทเสรีจึงเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อขออนุมัติดำเนินคดีแก่ผู้ร่วมกระทำความผิดในการทุจริตจัดซื้อที่ดินดังกล่าว พลตำรวจโทวิสุทธิ์ กิติวัฒน์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภาค ๒ ซึ่งเป็นตำแหน่งในขณะนั้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดในกรณีดังกล่าว โดยมีพลตำรวจโทเสรีเป็นประธานกรรมการตามคำสั่งของสำนักงานตำรวจภาค ๒ ที่๙๘/๒๕๓๗ เอกสารหมาย จ.๗๑ จากการสอบสวนได้ความว่า เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๕ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูบูรณะเมืองพัทยา ซึ่งมีโครงการจัดซื้อที่ดินสำหรับเป็นที่ทิ้งขยะเนื้อที่ไม่น้อยกว่า ๑๔๐ ไร่ ในระยะห่างจากเมืองพัทยาไม่เกิน ๑๕ กิโลเมตร ในวงเงินงบประมาณ ๙๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมอยู่ด้วย โดยให้เมืองพัทยาเป็นผู้ดำเนินการและให้กรมโยธาธิการเป็นที่ปรึกษา ทางด้านเทคนิคและวิทยาการตามหนังสือที่ สพอ.๔๙/๒๕๓๕ เอกสารหมาย จ.๘ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่จังหวัดชลบุรี สามารถควบคุมการเลือกตั้งทุกระดับรวมทั้งการเลือกตั้งสมาชิกเมืองพัทยา ได้มอบหมายให้นายกำพล คุปตะวณิชย์เจริญ ลูกน้องผู้ใกล้ชิดไปกว้านซื้อที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าบางละมุง” ตำบลเขาไม้แก้ว ในราคาไร่ละ๔,๐๐๐บาทถึง๑๐,๐๐๐บาท ระหว่างกว้านซื้ออยู่นั้นปรากฏว่าทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก.)ในที่ดินดังกล่าวให้แก่ บริษัท เค.ไอ.ที.ไอ. คอปโปเรชั่น จำกัด ประมาณ ๑,๙๑๗ไร่ เศษ จำเลยที่ ๑ จึงมอบหมายให้จำเลยที่ ๒ ลูกน้องผู้ใกล้ชิดไปขอซื้อที่ดินจากบริษัทดังกล่าว โดยให้นายพีระ ศิลรัตน์
คนสวนของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ซื้อเพื่อนำมาขายต่อให้แก่เมืองพัทยา แต่เนื่องจากเป็นที่ดินแปลงใหญ่จำต้องแบ่งแยกก่อนซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ระหว่างนั้นเมื่อวันที่ ๑กันยายน๒๕๓๕ นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาได้ออกประกาศเมืองพัทยาเพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับเป็นที่ทิ้งขยะ โดยกำหนดให้ผู้ประสงค์จะเสนอขายที่ดิน เสนอราคาพร้อมหลักฐานกรรมสิทธิ์ต่อคณะกรรมการตั้งแต่วันที่ ๑ถึง๑๖กันยายน๒๕๓๕ ตามประกาศเมืองพัทยาเอกสารหมาย จ.๑๕ แต่จำเลยที่ ๒ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการให้บริษัทดังกล่าวทำการแบ่งแยกโฉนดเพื่อโอนให้แก่นายพีระซึ่งยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ทำให้ไม่สามารถเสนอราคาได้ทัน ต่อมาวันที่ ๒๓กันยายน ๒๕๓๕ นายวิทยา ได้ออกประกาศเมืองพัทยาเพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับเป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาอีกครั้ง โดยกำหนดให้ยื่นเสนอราคาตั้งแต่วันที่ ๒๓กันยายน ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๗ตุลาคม ๒๕๓๕ แต่ได้เปลี่ยนเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะห่างจากเมืองพัทยาซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ต้องไม่เกิน ๑๕กิโลเมตรเป็นไม่เกิน ๒๕ กิโลเมตร ทั้งๆที่เมืองพัทยายังไม่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าว ตามประกาศเอกสารหมาย จ.๑๖ ทั้งนี้เนื่องจากที่ดินที่จำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒กำลังดำเนินการจัดซื้ออยู่นั้นอยู่ห่างจากเมืองพัทยา ๑๘.๕ กิโลเมตร แต่เนื่องมาจากในระหว่างนั้นจำเลยที่ ๒ ยังไม่ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท เค.ไอ.ที.ไอ. คอปโปเรชั่น จำกัด ให้ดำเนินการโอนขายที่ดินให้แก่นายพีระ โดยจำเลยที่๒ เพิ่งได้รับมอบอำนาจจากบริษัทฯเมื่อวันที่ ๒๐ตุลาคม๒๕๓๕ และได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่นายพีระจำนวน๑๕๐ไร่ ในราคาไร่ละ๕๐,๐๐๐บาท ทำให้นายพีระไม่สามารถเสนอราคาได้ทัน ต่อมาเมื่อวันที่๒๒ตุลาคม๒๕๓๕ นายวิทยาได้ออกประกาศเมืองพัทยาเพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะเป็นครั้งที่๓ กำหนดให้ยื่นเสนอราคาตั้งแต่วันที่ ๒๒ตุลาคม๒๕๓๕ ถึงวันที่๑๒พฤศจิกายน๒๕๓๕โดยกำหนดเงื่อนไขตามมติคณะรัฐมนตรี ตามประกาศเอกสารหมายเลข จ.๑๗ ซึ่งในการประกาศจัดซื้อจัดจ้างจะต้องส่งประกาศไปตามหน่วยงานราชการเพื่อให้ปิดประกาศหรือส่งไปตามสถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่อประกาศให้ประชาชนทั่วๆไปได้รับทราบเพื่อเข้าเสนอราคาด้วยแต่การประกาศจัดซื้อที่ดินทั้งสามครั้งได้กำหนดระยะเวลาให้ผู้ที่จะเสนอราคาที่ดินเพียง ๑๕วันและบางฉบับไม่จัดส่งให้หน่วยราชการช่วยปิดประกาศ บางฉบับจัดส่งประกาศให้หน่วยราชการช่วยปิดประกาศเมื่อใกล้ครบกำหนด อีกทั้งไม่มีการส่งประกาศไปกระจายเสียงทางวิทยุ นอกจากนั้นก่อนที่จะมีการโอนขายที่ดินให้แก่เมืองพัทยา จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกน้องผู้ใกล้ชิดของจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นกำนันตำบลเขาไม้แก้ว ได้ไปขอร้องให้นายอำนวย จันทร์เทียน จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๒๘๒๗ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ ๑ไร่เศษแก่นายสมใจ จันทร์เทียน ในราคา๑,๒๐๐,๐๐๐บาทให้นายเพชร จันทร์เทียน จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๒๙๕๖ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ ๔ไร่ เศษ แก่นางหอม นฤทัย ในราคา ๓,๐๐๐,๐๐๐บาท ให้นายเยิ้ม อยู่สบาย จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๒๙๕๘ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ ๒ไร่ เศษ แก่นายอำพล จันทร์เทียน ในราคา ๑,๔๐๐,๐๐๐บาท โดยบุคคลทั้งหกมิได้มีเจตนาซื้อขายที่ดินกันแต่เป็นการซื้อกันหลอกๆ โดยไม่มีการชำระราคากันและราคาที่จดทะเบียนซื้อขายก็สูงกว่าความเป็นจริง โดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนและให้ค่าตอบแทนแก่ราษฎรดังกล่าว เพื่อนำราคาซื้อขายไปเปรียบเทียบในการขายที่ดินให้แก่เมืองพัทยา หลังจากดำเนินการให้ราษฎรจดทะเบียนโอนขายที่ดินกันหลอกๆแล้ว นายวิทยา มีหนังสือถึงสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ขอทราบราคาที่ดินตำบลเขาไม้แก้ว เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับที่ดินที่จะซื้อจากนายพีระตามเอกสารหมาย จ.๒๒ จำเลยที่ ๕ ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ได้แจ้งราคาที่ดินทั้งสามแปลงที่มีการซื้อขายกันหลอกๆดังกล่าวให้เมืองพัทยาทราบ ตามเอกสารหมาย จ.๒๒ เมื่อเมืองพัทยาซื้อที่ดินจากนายพีระแล้ว ราษฎรดังกล่าวก็ได้โอนขายที่ดินคืนแก่กันโดยแจ้งราคาในการจดทะเบียนต่ำกว่าการซื้อขายในครั้งแรกอย่างมาก ในการประกาศจัดซื้อที่ดินเป็นที่ทิ้งขยะครั้ง ๓ ปรากฏว่ามีผู้เสนอขายที่ดินให้แก่เมืองพัทยา ๒ราย คือนายพีระเสนอขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก.) เลขที่ ๑๒๑๘ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ ๑๕๐ไร่ ราคาไร่ละ๗๒๐,๐๐๐บาท เป็นเงิน ๑๐๘,๐๐๐,๐๐๐บาทตามใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.๑๘และนายพหล คลังพหล เสนอขายที่ดินหลายแปลงซึ่งตั้งอยู่ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ ๑๖๔-๐-๙๗ ไร่ ราคาไร่ละ ๙๖๐,๐๐๐บาท เป็นเงิน ๑๕๖,๐๓๐,๓๗๕ บาท ตามใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.๑๙ โดยนายพหลกับจำเลยที่๒ มีความคุ้นเคยกัน นายพหล ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง แต่รวบรวมที่ดินจากราษฎรหลายคนเพื่อนำมาเสนอราคาแข่งกับนายพีระ เพื่อให้ดูสมจริงว่ามีการเข้าประกวดราคาต่อมานายวิทยา ได้มีหนังสือขออนุมัติผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีดำเนินการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษและขอตั้งกรรมการจัดซื้อกับกรรมการตรวจรับพัสดุ โดยคณะกรรมการจัดซื้อที่นายวิทยาเสนอไปนั้น ได้เสนอตนเองเป็นประธานกรรมการและมีจำเลยที่ ๕เป็นกรรมการอยู่ด้วย ส่วนคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้เสนอให้ นายบุญชัย วงศ์จรรยา หัวหน้าสำนักงานปลัดเมืองพัทยาเป็นประธานกรรมการและมีจำเลยที่ ๕ เป็นกรรมการอยู่ด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเห็นชอบให้เมืองพัทยาดำเนินการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ แต่มีเงื่อนไขว่าเมืองพัทยาต้องยกเลิกการจัดซื้อหากไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการปกครองให้เปลี่ยนแปลงระยะห่างของที่ดินจากไม่เกิน ๑๕ กิโลเมตร เป็น ๒๕กิโลเมตรหรือไม่ได้รับความเห็นชอบเรื่องราคาจากสำนักงบประมาณหรือไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ และให้ชะลอการทำสัญญากับผู้เสนอราคาเอาไว้ก่อน แต่ได้อนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการทั้งสองชุดตามที่นายวิทยาเสนอตามเอกสารหมาย จ.๓๑ นายวิทยาจึงออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษและคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ตามคำสั่งเมืองพัทยาเอกสารหมาย จ.๓๒ นายวิทยามีหนังสือถึงนายอำเภอบางละมุงเพื่อขอให้เสนอเรื่องการจัดซื้อที่ดินเป็นที่ทิ้งขยะให้สภาตำบลเขาไม้แก้วและสภาตำบลหนองปลาไหล พิจารณาให้ความเห็นชอบ ปรากฏว่าสภาตำบลเขาไม้แก้วซึ่งมีจำเลยที่ ๓ เป็นประธานได้ให้ความเห็นชอบตามสำเนารายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.๙๒ ส่วนสภาตำบลหนองปลาไหลไม่ให้ความเห็นชอบ คณะกรรมการจัดซื้อจึงไม่รับพิจารณาที่ดินที่นายพหลเสนอขายและเรียกนายพีระมาต่อรองราคา ปรากฏว่านายพีระตกลงขายที่ดินบางส่วนเนื้อที่ ๑๔๐ไร่ ราคาไร่ละ๖๖๘,๐๐๐บาท เป็นเงิน ๙๓,๕๒๐,๐๐๐บาท นายวิทยามีหนังสือขออนุมัติผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีซื้อที่ดินของนายพีระ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีอนุมัติให้จัดซื้อที่ดินดังกล่าวได้ภายใต้เงื่อนไขว่า เมืองพัทยาต้องยกเลิกการจัดซื้อ หากไม่ได้รับความเห็นชอบเรื่องราคาจากสำนักงบประมาณหรือไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณและให้เมืองพัทยาชะลอการลงนามกับผู้เสนอราคาไว้ก่อน ตามเอกสารหมาย จ.๔๐ ระหว่างนั้นจำเลยที่ ๑ นายพีระให้นายวิชัย คูหา ผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาบ้านฉาง จังหวัดระยอง เปิดบัญชีสะสมทรัพย์ที่ธนาคารดังกล่าวไว้ล่วงหน้าเพื่อใช้สำหรับรับเงินจากการขายที่ดินให้แก่เมืองพัทยาตามคำขอเปิดบัญชีเงินฝากสะสม เอกสารหมาย จ. ๙๖และ จ. ๙๗ ตามลำดับ ต่อมาเมื่อวันที่๑๑มิถุนายน๒๕๓๖ เมืองพัทยาเรียกนายพีระไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขาย เอกสารหมาย จ.๔๖ ครั้นวันที่๑๔มิถุนายน๒๕๓๖ คณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ทำการตรวจรับที่ดินโดยมีจำเลยที่ ๕ ร่วมเป็นกรรมการตรวจรับด้วย ตามใบตรวจรับพัสดุเอกสารหมาย จ.๔๘ ทั้งที่จำเลยที่๕ ทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินที่นายพีระนำมาขายให้แก่เมืองพัทยานั้นตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพราะขณะที่บริษัท เค.ไอ.ที.ไอ คอปโปเรชั่น จำกัดขายที่ดินให้นายพีระได้มีการบันทึกถ้อยคำว่า ที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยที่ ๕ กลับรับรองว่าที่ดินถูกต้องตามระเบียบของราชการ ส่วนจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นกำนันตำบลเขาไม้แก้ว ทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ไม่เคยแจ้งให้เมืองพัทยาทราบ กลับร่วมมือกับจำเลยที่๑ ในการนำที่ดินดังกล่าวไปขายให้แก่เมืองพัทยาและในวันที่มีการจดทะเบียนโอนที่ดิน เมืองพัทยาได้มอบอำนาจให้จำเลยที่๔ เป็นผู้รับโอน โดยมีจำเลยที่๒เป็นผู้คอยประสานงาน นายวิชัย ได้นำเงินของธนาคารจำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐บาท มาชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีต่างๆแทนนายพีระเพราะจำเลยที่ ๑มีความคุ้นเคยกับนายวิชัย เคยเป็นประธานงานสมรสของนายวิชัย ในการโอนที่ดินเจ้าหน้าที่ผู้จดทะเบียนได้แจ้งให้นายพีระและจำเลยที่๔ ทราบว่า ที่ดินที่จะซื้อจะขายตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่นายพีระกับจำเลยที่๔ ยืนยันจะซื้อจะขายกันโดยยอมรับผิดหากเกิดความเสียหายขึ้น เจ้าพนักงานที่ดินจึงได้จดทะเบียนให้ตามความประสงค์ ซึ่งจำเลยที่ ๔ เป็นนิติกรทราบกฎหมายดี เมื่อทราบว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต้องปฏิเสธการรับโอนและแจ้งให้เมืองพัทยาทราบ แต่กลับรับโอนที่ดิน เป็นเหตุให้เมืองพัทยาต้องจ่ายค่าที่ดินให้แก่นายพีระจำนวน๙๓,๕๒๐,๐๐๐บาท ในวันจดทะเบียนโอน เมืองพัทยาได้จ่ายค่าที่ดินจำนวน ๙๓,๕๒๐,๐๐๐บาทให้นายพีระ เป็นเช็คของธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)สาขาพัทยา ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.๕๓ นายวิชัยได้รับเช็คจากนายพีระนำไปเรียกเก็บเงินที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)สาขาพัทยา แล้วโอนเงินเข้าบัญชีของนายพีระที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)สาขาบ้านฉาง ตามใบโอนเงินเอกสารหมาย จ.๕๔ นายวิชัยกับนายพีระเดินทางมาที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาบ้านฉาง และนายวิชัยได้นำใบถอนเงินให้นายพีระลงลายมือชื่อไว้หลายใบในวันนั้นนายพีระถอนเงินจำนวน๓๒,๐๐๐,๐๐๐บาท เศษ เข้าบัญชีของจำเลยที่ ๑ ที่ธนาคารดังกล่าวจำนวน๓๐,๐๐๐,๐๐๐บาท ส่วนอีก ๒,๐๐๐,๐๐๐บาท เศษ นายวิชัยหักเป็นค่าธรรมเนียมที่สำรองจ่ายไปก่อน วันที่๒๑มิถุนายน๒๕๓๖ ได้มีการถอนเงินจากบัญชีของนายพีระจำนวน๒๐,๐๐๐,๐๐๐บาท เข้าบัญชีจำเลยที่ ๑ ที่ธนาคารเดียวกันและวันที่๒๒มิถุนายน๒๕๓๖ ได้มีการถอนเงินจากบัญชีของนายพีระอีก ๑๕,๐๐๐,๐๐๐บาทเข้าบัญชีของจำเลยที่๑ที่ธนาคารเดียวกัน ต่อมาวันที่ ๒๓มิถุนายน ๒๕๓๖ นายพีระได้ถอนเงินจากบัญชีจำนวน ๑๙,๗๖๑,๐๐๐บาท เข้าบัญชีของจำเลยที่ ๑ที่ธนาคารเดียวกันจำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐บาทและโอนเข้าบัญชีนางสติล คุณปลื้ม ภิริยาจำเลยที่ ๑ ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาหนองมน จำนวน๑๓,๐๐๐,๐๐๐บาท หลังจากนั้นเมื่อวันที่ ๒๕มิถุนายน๒๕๓๖ นายพีระได้ถอนเงินทั้งหมด๖,๕๓๕,๐๔๒.๗๔บาทและปิดบัญชี ตามเอกสารหมาย จ.๑๐๐ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ให้นายวิชัยโอนเงินทั้งหมดจากบัญชีของจำเลยที่ ๑ ไปเข้าบัญชีภริยาของจำเลยที่๑ ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)สาขาหนองมน ตามใบฝาก เอกสารหมาย จ.๑๐๑ แล้วจำเลยที่ ๑ให้ภริยาสั่งจ่ายเช็คถอนเงินจากบัญชีของภริยาให้นายวิทยาจำนวน๓,๐๐๐,๐๐๐บาท และให้จำเลยที่ ๒ จำนวน ๕๐๐,๐๐๐บาทเป็นค่าตอบแทนที่ให้ความร่วมมือในการที่จำเลยที่ ๑ ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่เมืองพัทยา ซึ่งนายวิทยาและจำเลยที่ ๒ได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินแล้ว ตามเช็คเอกสารหมาย จ.๑๐๒ และ จ.๑๐๓ นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด สาขาหนองมนให้นายวิทยาอีก ๒,๐๐๐,๐๐๐บาท เพื่อตอบแทนที่ให้ความร่วมมือในการจัดซื้อที่ดินดังกล่าวซึ่งนายวิทยาได้นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินแล้วตามเอกสารหมาย จ. ๑๑๐และจำเลยที่ ๑ ได้สั่งจ่ายเช็คของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาหนองมนจำนวน ๘๐,๐๐๐บาทให้จำเลยที่๒ เพิ่มเติมเป็นค่าตอบแทนที่ให้ความร่วมมือในการจัดซื้อที่ดินดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่๒ได้รับเงินไปแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.๑๑๑ จำเลยที่ ๑ ยังสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาหนองมน จำนวน ๕๐,๐๐๐บาทให้นายพีระ ศิลรัตน์ที่ให้ความร่วมมือในการซื้อขายที่ดินครั้งนี้ ซึ่งนายพีระก็ได้รับเงินไปแล้วเช่นกันตามเช็คเอกสารหมาย จ.๑๑๒ หลังจากการขายที่ดินให้แก่เมืองพัทยาแล้ว จากการตรวจสอบกรมที่ดินและกรมป่าไม้พบว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก.) เลขที่๑๒๑๘ ที่นายพีระขายให้แก่เมืองพัทยานั้นตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าบางละมุง”ตามเอกสารหมาย จ.๑๑๕ ซึ่งกรมป่าไม้และกรมที่ดินได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีดำเนินการเพิกถอนแล้ว หลังจากคณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนแล้ว มีหนังสือแจ้งให้เมืองพัทยาไปร้องทุกข์ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.๑ถึงจ.๓ เมืองพัทยาได้มอบอำนาจให้นายศุภวัฎ สุวรรณกล่อม ไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่๑กับพวก ตามบันทึกคำร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.๗ ต่อมาจำเลยทั้งห้าได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ชั้นสอบสวน จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
จำเลยที่๑ นำสืบว่า จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองแสนสุข จำเลยที่๑ ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อที่ดินที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาหลังจากเมืองพัทยาตกลงซื้อที่ดินจากนายพีระ ศิลรัตน์ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอน ปรากฏว่าเกิดปัญหาเกี่ยวกับส่วนแบ่งในเงินค่าที่ดินซึ่งต้องแบ่งให้นายหน้า คือจำเลยที่๒ นางสวนีย์ นายพีระ นายบรรเจิด และนางสมใจและผู้ใหญ่ที่จำเลยที่๑ นับถือ ขอร้องให้จำเลยที่๑ เข้าไปไกล่เกลี่ย เนื่องจากจำเลยที่ ๑ เป็นที่นับถือของนายหน้าเหล่านั้น จำเลยที่ ๑จึงเรียกนายหน้าเหล่านั้นมาเจรจา ได้ความว่านางสมใจเจ้าของที่ดินต้องการขายที่ดินเนื่องมาจากมีปัญหาเรื่องการเงิน จึงมอบให้นางสวนีย์เป็นผู้ขายที่ดินเพื่อจะนำเงินไปชำระหนี้ให้สถาบันการเงินที่ยังค้างชำระ นายสวนีย์ได้ขายที่ดินให้แก่นายพีระ นายพีระนำที่ดินไปขายให้แก่เมืองพัทยา ฝ่ายเจ้าของที่ดินและฝ่ายนายหน้าเกรงว่าเมื่อนายพีระได้รับเงินจากเมืองพัทยาแล้วไม่นำเงินมาแบ่งตามข้อตกลง ผลการไกล่เกลี่ยทุกฝ่ายตกลงกันว่าเงินที่ได้มาจะแบ่งคนละเท่าๆกัน แต่ทุกฝ่ายยังไม่มั่นใจ จึงตกลงให้นำเงินค่าที่ดินไปเข้าบัญชีของจำเลยที่๑ ก่อน เพื่อให้จำเลยที่๑เป็นคนแบ่ง ขณะนั้นนายวิชัย คูหา ผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งรู้จักจำเลยที่๑และทราบว่าจำเลยที่๑ ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยเรื่องดังกล่าวนายวิชัยต้องการเงินฝากจึงขอนำค่าที่ดินไปฝากที่ธนาคารดังกล่าว เมื่อเมืองพัทยาสั่งจ่ายเช็คค่าที่ดินให้นายพีระ นายวิชัยจึงนำเช็คค่าที่ดินจากนายพีระไปเข้าบัญชีเงินฝากของนายพีระซึ่งเปิดไว้ล่วงหน้าที่ธนาคารดังกล่าวและทยอยโอนเงินจากบัญชีของนายพีระเข้าบัญชีของจำเลยที่ ๑ประมาณ๗๐,๐๐๐,๐๐๐บาท จำเลยที่๑ เห็นว่าการฝากเงินไว้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)สาขาบ้านฉาง ทำให้การเบิกถอนเงินไม่สะดวกจึงโอนเงินมาเข้าบัญชีภริยาจำเลยที่๑ ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)สาขาหนองมน เหตุที่ทยอยโอนเนื่องจากนายวิชัยขอร้องไม่ให้โอนหมดในคราวเดียวเพราะเป็นช่วงปิดบัญชีกลางปี และเงินที่โอนเข้าบัญชีของภริยาจำเลยที่๑ บางส่วนภริยาจำเลยที่๑ ก็สั่งจ่ายเช็คให้ทุกฝ่ายตามข้อตกลงและโอนเงินบางส่วนเข้าบัญชีของจำเลยที่๑ ที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)สาขาหนองมนและธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาหนองมน จำเลยที่๑ ได้เบิกถอนเป็นเงินสดบางส่วน และสั่งจ่ายเช็คเงินสดบางส่วนให้ทุกฝ่าย นายวิทยาและจำเลยที่๒ ไม่เคยมารับเช็คจากจำเลยที่ ๑ เช็คที่จำเลยที่ ๑และภริยาสั่งจ่ายให้คู่กรณีดังกล่าวเป็นเช็คผู้ถือซึ่งผู้ทรงคนใดก็สามารถนำไปยื่นขอรับเงินจากธนาคารได้ หลังจากที่จำเลยที่๑ และภริยาสั่งจ่ายเช็คให้แก่คู่กรณีดังกล่าวตามข้อตกลงแล้ว เงินในบัญชีของจำเลยที่ ๑และภริยาก็ไม่ได้มีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด จำเลยที่ ๑ รู้จักจำเลยที่ ๒ มาประมาณ ๒๐ ปี เพราะจำเลยที่ ๒ เป็นหัวคะแนนให้จำเลยที่ ๑ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำเลยที่ ๒ ประกอบอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่เมืองพัทยาและยังประกอบอาชีพนายหน้าค้าที่ดิน จำเลยที่ ๒ ไม่ใช่ลูกน้องจำเลยที่๑ นายพีระ ศิลรัตน์ ก็ไม่ใช่ลูกน้องหรือคนสวนของจำเลยที่ ๑ แต่เป็นผู้มีฝีมือทางด้านการจัดส่วนหย่อมและเป็นผู้รับเหมาจัดสวนให้จำเลยที่ ๑ เป็นครั้งคราวตามที่จำเลยที่ ๑ว่าจ้าง จำเลยที่ ๑ ประกอบกิจการโรงแรม รับเหมาก่อสร้างและเป็นตัวแทนจำหน่ายสุราของจังหวัดชลบุรี พลตำรวจโทเสรี เตมียเวส หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ เคยย้ายมารับราชการที่จังหวัดชลบุรีเมื่อปี ๒๕๒๙ ต่อมาปี ๒๕๓๑ มีการเลือกตั้ง พลตำรวจโทเสรีไปเข้าข้างฝ่ายตรงกันข้ามกับจำเลยที่ ๑ และมีปัญหากับจำเลยที่ ๑ หลายครั้ง เคยฟ้องจำเลยที่ ๑ ข้อหาหมิ่นประมาท แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง ตามเอกสารหมาย ล.๓๐ ต่อมาพลตำรวจโทเสรี ถูกย้ายออกจากจังหวัดชลบุรี ก็กล่าวหาจำเลยที่ ๑ ว่า เป็นคนวิ่งเต้นให้โยกย้ายออกไปทำให้พลตำรวจโทเสรีโกรธและอาฆาตจำเลยที่ ๑ จนกระทั่งกลางปี๒๕๓๖ พลตำรวจโทเสรีได้ย้ายกลับมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค๒ จำเลยที่ ๑ไม่ใช่ผู้มีอิทธิพลและไม่มีอำนาจสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของเมืองพัทยารับซื้อที่ทิ้งขยะจากนายพีระ หลังจากเกิดเหตุผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่ดินที่นายพีระขายให้แก่เมืองพัทยา โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากกรมป่าไม้และกรมแผนที่ทหารบกเป็นกรรมการด้วย ผลการตรวจสอบพบว่าที่ดินดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแต่อย่างใดตามเอกสารหมาย จ.๑๗

จำเลยที่ ๓ นำสืบว่า จำเลยที่ ๓ เป็นกำนันตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เมื่อปี ๒๕๓๓ เมืองพัทยาได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ ๓ เพื่อขอให้นำเรื่องที่เมืองพัทยาจะซื้อที่ดินบริเวณตำบลเขาไม้แก้วเป็นที่ทิ้งขยะให้สภาตำบลเขาไม้แก้วพิจารณาเห็นชอบ จำเลยที่๓ จึงเรียกสภาตำบล ปรากฏว่าสภาตำบลมีมติอนุมัติให้เมืองพัทยาใช้พื้นที่ตำบลเขาไม้แก้วเป็นที่ทิ้งขยะได้ ตามหนังเอกสารหมาย ล.๖ เมื่อประมาณปี ๒๕๓๕ สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ ๓ ในฐานะกำนันตำบลเขาไม้แก้วซึ่งเป็นผู้ปกครองท้องที่ให้ไประวังแนวเขตในการรังวัดที่ดินของนายพีระโดยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าหน้าที่ของเมืองพัทยาไปด้วย ที่ดินบริเวณตำบลเขาไม้แก้วมีราคาประเมินไร่ละ ๑๐๐,๐๐๐บาท ถึง๘๐๐,๐๐๐บาท แต่ซื้อขายกันราคาไร่ละตั้งแต่ ๒๐๐,๐๐๐บาทถึง๒,๐๐๐,๐๐๐บาท จำเลยที่ ๓ เพิ่งรู้จักกับจำเลยที่ ๒ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ ๒ เคยมาพบจำเลยที่๓ ที่บ้านไม่ได้พบกัน จำเลยที่ ๒ ได้จดหมายเลขโทรศัพท์ให้จำเลยที่ ๓โทรกลับ แต่จำเลยที่ ๓ มิได้โทรศัพท์กลับไปหาจำเลยที่ ๒ แต่อย่างใด จำเลยที่๓ รู้จักจำเลยที่๑ แต่ไม่สนิทกัน โดยจำเลยที่ ๑ เคยให้ลูกน้องไปพบจำเลยที่๓ เพื่อขอให้จำเลยที่๓เป็นหัวคะแนน จำเลยที่ ๓ไม่เคยรับค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนจากการที่เมืองพัทยาซื้อที่ดินจากนายพีระ ที่นายอำนวย นายอำพลและนายสมใจให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ ๓ เป็นคนบอกให้ไปพบจำเลยที่๒ เพื่อให้พาบุคคลทั้งสามไปจดทะเบียนซื้อขายที่ดินกันหลอกๆนั้นไม่เป็นความจริง จำเลยที่ ๓สอบถามบุคคลเหล่านั้นแล้ว ได้ความว่าที่ให้การเช่นนั้นก็เนื่องมาจากถูกเจ้าพนักงานสอบสวนตำรวจข่มขู่และบังคับให้ลงชื่อในคำให้การ

จำเลยที่ ๔ นำสืบว่า จำเลยที่๔ เป็นนิติกรระดับ๖ประจำเมืองพัทยามีหน้าที่ทำนิติกรรมสัญญา รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายเมื่อวันที่๒๒มิถุนายน๒๕๓๖ จำเลยที่๔ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการในการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษเพื่อใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาซึ่งมีกรรมการทั้งหมด ๕คนโดยทางเมืองพัทยาได้แต่งตั้งกรรมการจัดหาที่ดินก่อนแล้วและมีผู้เสนอขายที่ดินให้แก่เมืองพัทยา ๒ราย คณะกรรมการจัดหาเป็นผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับราคาประเมินที่ซื้อขายตามท้องตลาดของที่ดินที่มีผู้เสนอขาย คณะกรรมการจัดซื้อไม่มีอำนาจกำหนดราคาซื้อขาย คงมีอำนาจต่อรองราคาให้ต่ำลงเท่านั้น ก่อนมีการต่อรองราคา คณะกรรมการจัดซื้อก็ได้ไปดูที่ดินแล้ว ผู้ที่นำที่ดินมาเสนอขายให้แก่เมืองพัทยามี ๒ราย คือนายพหล คลังพหล เสนอขายที่ดินที่ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี แต่สภาตำบลหนองปลาไหลไม่อนุมัติให้ใช้เป็นที่ทิ้งขยะ คณะกรรมการจัดซื้อจึงไม่รับพิจารณา ส่วนนายพีระ ศิลรัตน์ เสนอขายที่ดินตั้งอยู่ที่ตำบลเขาไม้แก้วตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก.)เลขที่๑๒๑๘ ซึ่งสภาตำบลเขาไม้แก้วอนุมัติให้ใช้เป็นที่ทิ้งขยะได้ คณะกรรมการจัดซื้อจึงเรียกนายพีระมาต่อรองราคา นายพีระเสนอขายในราคาไร่ละ๗๒๐,๐๐๐บาท คณะกรรมการจัดซื้อต่อรองราคาเหลือไร่ละ๖๖๘,๐๐๐บาท ปลัดเมืองพัทยาจึงมีหนังสือขออนุมัติผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีซื้อที่ดินจากนายพีระโดยวิธีพิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีอนุมัติให้ซื้อที่ดินของนายพีระได้ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติให้ซื้อที่ดินดังกล่าวแล้ว ก็หมดหน้าที่ของคณะกรรมการจัดซื้อ แต่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจรับซึ่งจำเลยที่๔ไม่ได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องจำเลยที่๔ ไม่รู้จักนายพีระ หลังจากคณะกรรมการตรวจรับได้ตรวจรับที่ดินแล้ว เมื่อวันที่๑๖มิถุนายน๒๕๓๖ นายวิทยามอบอำนาจให้จำเลยที่๔ไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินจากนายพีระ ในวันจดทะเบียนรับโอน เจ้าพนักงานที่ดินได้นำหลักฐานต่างๆให้จำเลยที่ ๔ และนายพีระลงชื่อ จำเลยที่๔ ได้อ่านเอกสาร จ.๕๒ ซึ่งมีข้อความว่า “ที่ดินแปลงดังกล่าวข้างต้น กรมป่าไม้เคยออกแนวป่าทับเขตไว้ ข้าพเจ้าผู้ซื้อและผู้ขายรับทราบแล้ว ยืนยันจะซื้อขายกัน หากเกิดความเสียหาย ข้าพเจ้าทั้งสองยอมรับผิดชอบเองทั้งสิ้น” จำเลยที่๔ เกิดความสงสัยจึงสอบถามเจ้าพนักงานที่ดินได้รับแจ้งว่ากรมป่าไม้เคยประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่กรมที่ดินไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง เจ้าพนักงานที่ดินก็ไม่อาจยืนยันว่าที่ดินของนายพีระตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ แต่ผู้ซื้อผู้ขายต้องลงชื่อในเอกสารดังกล่าวเนื่องจากเป็นระเบียบของกรมที่ดิน หากยืนยันจะซื้อขายก็สามารถจดทะเบียนให้ได้ จำเลยที่๔ ได้ตรวจสอบสารบบของที่ดินนายพีระพบว่ากรมป่าไม้ได้ออกประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติจริง แต่ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก.)เลขที่๑๑๐ ซึ่งต่อมาได้แบ่งแยกขายให้นายพีระนั้น ได้มีการออกเอกสารสิทธิก่อนที่กรมป่าไม้ออกประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติและที่ดินแปลงใหญ่ดังกล่าวก็มีการจดทะเบียนจำนองไว้แก่สถานบันการเงินด้วย จำเลยที่๔ จึงโทรศัพท์แจ้งให้นายวิทยาทราบ นายวิทยาปรึกษากับนายสุพงษ์ อำไพกิจพาณิชย์ รองปลัดเมืองพัทยาแล้วได้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ ๔ดำเนินการรับโอนที่ดินดังกล่าวได้ จำเลยที่๔จึงได้ลงชื่อในบันทึกดังกล่าว พลตำรวจโทเสรี เตมียเวส เคยเรียกจำเลยที่ ๔ไปพูดคุยเป็นการส่วนตัวและขอให้จำเลยที่๔ การในชั้นสอบสวนใหม่โดยขอให้จำเลยที่ ๔ ให้การยืนยืนว่าที่ดินเมืองพัทยาซื้อจากนายพีระเป็นของจำเลยที่ ๑ แล้วจะกันจำเลยที่ ๔ ไว้เป็นพยาน หลังเกิดเหตุมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าหน้าที่ที่ดินทำการตรวจสอบที่ดินที่นายพีระขายให้แก่เมืองพัทยา ผลการตรวจสอบปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ.

พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่๑๗ มีนาคม๒๕๓๕ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการเร่งด่วนฟื้นฟูบูรณะเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก(สพอ.)เสนอ จำนวน ๙โครงการ โดยมีโครงการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลเป็นหนึ่งในโครงการดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินการ ๓ปี (พ.ศ.๒๕๓๕ถึงพ.ศ.๒๕๓๗) และให้เมืองพัทยารับผิดชอบโครงการเพื่อจัดซื้อที่ดินเป็นที่ทิ้งขยะจำนวนไม่น้อยกว่า๑๔๐ ไร่ โดยมีระยะห่างจากเมืองพัทยาไม่เกิน ๑๕ กิโลเมตร งบประมาณในการจัดซื้อ ๙๘,๐๐๐,๐๐๐บาทและให้กรมโยธาธิการเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิค ขณะเกิดเหตุนายวิทยา คุณานุกรกุล รับราชการในตำแหน่งปลัดเมืองพัทยา มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการเมืองพัทยาให้เป็นไปตามกฎหมายและเป็นประธานกรรมการจัดซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาโดยวิธีพิเศษ จำเลยที่๔ รับราชการตำแหน่งตำแหน่งหัวหน้างานนิติการ ระดับ ๖ประจำเมืองพัทยา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดินดังกล่าวและได้รับมอบอำนาจจากนายวิทยาให้เป็นผู้แทนเมืองพัทยาจดทะเบียนรับโอนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก.)เลขที่๑๒๑๘ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่๑๔๐ ไร่ จากนายพีระ ศิลปรัตน์ จำเลยที่๕ รับราชการประจำสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี(สขา)ระดับ๗และได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจรับที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑กันยายน๒๕๓๕ นายวิทยามีคำสั่งเมืองพัทยาที่ ๕๔๐/๒๕๓๕ แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดหาที่ดิน โดยมีนายบุญชัย วงศ์จรรยา หัวหน้าสำนักปลัดเมืองพัทยาเป็นประธานกรรมการ ให้มีหน้าที่ดำเนินการจัดหาที่ดินที่มีความเหมาะสมในการทิ้งขยะตลอดจนสอบถามราคาซื้อขาย ราคาประเมินของทิ่ดินและราคาซื้อขายในบริเวณใกล้เคียงเพื่อเสนอนายวิทยาขออนุมัติผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ในวันเดียวกันนั้น นายวิทยาได้ออกประกาศเมืองพัทยาเรื่อง จัดซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยา โดยมีเงื่อนไขว่าที่ดินที่จะซื้อต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า๑๔๐ ไร่ และมีระยะทางห่างจากเมืองพัทยาไม่เกิน๑๕ กิโลเมตร โดยให้ผู้ประสงค์จะเสนอขายที่ดินเสนอราคาพร้อมแสดงหลักฐานกรรมสิทธิ์ต่อคณะกรรมการตั้งแต่วันที่๑ถึงวันที่๑๖กันยายน๒๕๓๕ นายวิทยาได้ออกประกาศเมืองพัทยาครั้งที่๒ ในเรื่องเดียวกันแต่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะห่างของที่ดินที่จะซื้อต้องมีระยะห่างจากเมืองพัทยาไม่เกิน๒๕ กิโลเมตร โดยให้ผู้ประสงค์จะเสนอขายที่ดินเสนอราคาพร้อมแสดงหลักฐานกรรมสิทธิ์ต่อคณะกรรมการตั้งแต่วันที่ ๒๓กันยายน๒๕๓๕ถึงวันที่๗ ตุลาคม๒๕๓๕ ตามเอกสารหมาย จ.๑๖ แต่ไม่มีผู้เสนอราคาขายที่ดินอีก ครั้นวันที่ ๒๒ ตุลาคม๒๕๓๕ นายวิทยาได้ประกาศเมืองพัทยาในเรื่องดังกล่าวเป็นครั้งที่๓ มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับตามประกาศครั้งที่ ๒ โดยให้ผู้ประสงค์จะเสนอราคาขายที่ดินเสนอราคาพร้อมหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่๒๒ ตุลาคม๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน๒๕๓๕ ตามเอกสารหมาย จ.๑๗ ในวันที่๒ พฤศจิกายน๒๕๓๕ นายพีระ ศิลรัตน์ ได้เสนอขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๒ ก.) เลขที่ ๑๒๑๘ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางะมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่๑๕๐ ไร่ในราคาไร่ละ๗๒๐,๐๐๐บาท ตามใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.๑๘ และในวันที่ ๖พฤศจิกายน ๒๕๓๕ นายพหล คลังพหล ได้เสนอขายที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก.) จำนวนหลายแปลง ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี รวมเนื้อที่๑๖๔-๐-๙๗ ไร่ ในราคาไร่ละ๙๕๐,๐๐๐บาท ตามใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.๑๙ คณะกรรมการจัดหาที่ดินนัดเปิดซองเพื่อพิจารณาในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน๒๕๓๕ เวลา ๑๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุมสมาชิกเมืองพัทยาตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.๒๐ ต่อมานายสุพงษ์ อำไพกิจพาณิชย์ รองปลัดเมืองพัทยา มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๕ ถึงเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอบางละมุง ขอทราบราคาซื้อขายที่ดินในตำบลเขาไม้แก้ว ย้อนหลังตั้งปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ถึง ๒๕๓๕ อย่างน้อยปีละ ๑ราย เพื่อเป็นหลักฐานในการขออนุมัติวงเงินงบประมาณจากสำนักงบประมาณ และเป็นหลักฐานประกอบการจัดซื้อ ตามเอกสารหมาย จ.๒๑ จำเลยที่ ๕ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๓๕ ถึงปลัดเมืองพัทยา แจ้งราคาซื้อขายของราษฎร ๓ราย โดยมีรายของนายอำนวย จันทร์เทียน ขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๔๒๘๒๗ เนื้อที่ ๑ไร่ ๓งาน ๗ ตารางวา แก่นายสมใจ จันทร์เทียน ในราคา๑,๒๐๐,๐๐๐บาท รวมอยู่ด้วยตามเอกสารหมาย จ.๒๒ ต่อมานายวิทยามีหนังสือฉบับลงวันที่๑๑ มกราคม ๒๕๓๖ ถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ขอทราบราคาประเมินที่ดินบริเวณตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง เพื่อประกอบการพิจารณาในการจัดซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ทิ้งขยะ ตามเอกสารหมาย จ.๒๓ สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีสาขาบางละมุง ได้ส่งบัญชีราคาประเมินที่ดินไปให้ ตามเอกสารหมาย จ.๒๔ นายวิทยามีหนังสือลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ ถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ขอทราบราคาซื้อขายที่ดินบริเวณตำบลเขาไม้แก้วในครั้งหลังสุดของปี ๒๕๓๕ จำนวน ๓ราย เพื่อประกอบการพิจารณาจัดซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยา ตามเอกสารหมาย จ.๒๕ จำเลยที่ ๕ ได้มีหนังสือตอบกลับโดยแจ้งการซื้อขายของนายอำนวยกับนายสมใจ รายนายเพ็ชร จันทร์ เทียนกับนางหอม นฤทัยและรายนายเยิ้ม อยู่สบายกับนายอำพล จันทร์เทียน ตามเอกสารหมาย จ.๒๖ ต่อมานายวิทยามีหนังสือฉบับลงวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๓๖ ถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ขอทราบราคากลางของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก.) เลขที่ ๑๒๑๘ เนื้อที่ ๑๕๐ ไร่ ที่นายพีระเสนอขายให้แก่เมืองพัทยา ตามเอกสารหมาย จ.๒๗ จำเลยที่ ๕ มีหนังสือตอบกลับว่า ไม่สามารถระบุแน่ชัดลงในแผนที่ประเมินราคาที่ดินได้ จึงส่งบัญชีราคาประเมินที่ดินตำบลเขาไม้แก้วมาให้ ตามเอกสารหมาย จ.๒๘ นายวิทยาได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์๒๕๓๖ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี แจ้งว่ามีผู้เสนอขายที่ดิน ๒ราย ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีอนุมัติให้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษตามเอกสารหมาย จ.๒๙ นายยุวรัตน์ กมลเวชช ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีในขณะนั้น พิจารณาแล้วเห็นชอบให้เมืองพัทยาดำเนินการจัดซื้อที่ดินได้โดยวิธีพิเศษ แต่มีเงื่อนไข ๓ข้อ ข้อแรก เมืองพัทยาต้องยกเลิกการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการปกครองให้เปลี่ยนแปลงระยะห่างของที่ดินจากเมืองพัทยา จากระยะห่างมิ่กิน ๑๕ กิโลเมตร เป็นระยะห่างไม่เกิน ๒๕ กิโลเมตร ข้อ ๒ เมืองพัทยาต้องยกเลิกการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษหากไม่ได้รับความเห็นชอบเรื่องราคาจากสำนักงานงบประมาณหรือไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการจัดซื้อ ข้อ ๓ ให้เมืองพัทยาชะลอการทำสัญญาผูกพันในการจัดซื้อที่ดินกับผู้เสนอราคาไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากกรมการปกครอง สำนักงบประมาณและได้รับแจ้งจากจังหวัดแล้ว แต่นายยุวรัตน์อนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษและคณะกรรมการตรวจรับพัสดุตามที่เสนอตามเอกสารหมาย จ.๓๑ ต่อมาวันที่๑๒ มีนาคม ๒๕๓๖ นายวิทยาได้ออกคำสั่งเมืองพัทยาที่ ๑๕๗/๒๕๓๖ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ ประกอบด้วยนายวิทยาเป็นประธานกรรมการ นายสุพงษ์ อำไพกิจพาณิชย์ รองปลัดเมืองพัทยา นายสุมนัส อินทฤทธิ์ ผู้อำนยการกองคลัง นายสมศักดิ์ สุระประสิทธิ์ หัวหน้าฝ่ายโยธา และจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นหัวหน้านิติการ เป็นกรรมการ ส่วนคณะกรรมการตรวจรับพัสดุประกอบด้วย นายบุญชัย วงศ์
จรรยา หัวหน้าสำนักปลัดเมืองพัทยาเป็นประธานกรรม โดยมีจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง นายภาทร อินวะษา ผู้อำนวยการกองช่าง นายปรีดา ไวโรจน์พันธ์ ผู้อำนวยการกองอนามัยและสิ่งแวดล้อม นางดวงเดือน แย้มละออ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานคลังเป็นกรรมการตามเอกสารหมาย จ.๓๒ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๖ คณะกรรมการจัดซื้อที่ดินรวมทั้งจำเลยที่ ๔ ได้ประชุมเกี่ยวกับการจัดซื้อที่ดิน ที่ประชุมมีมติให้จำเลยที่ ๔ ติดต่อเจ้าของที่ดินและประสานงานกับคณะกรรมการเพื่อไปดูที่ดินของนายพีระในวันรุ่งขึ้น และให้ทำหนังสือเชิญนายพีระซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมาทำการต่อรองราคาในวันที ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๖ ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.๓๓ นายวิทยา ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๖ มีนาคม๒๕๓๖ เชิญนายพีระมาต่อรองราคาในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๖ ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.๓๔ วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๖ นายพีระมาพบคณะกรรมการจัดซื้อและได้มีการต่อรองราคาโดยนายพีระตกลงขายที่ดินจำนวน ๑๔๐ ไร่ ให้แก่เมืองพัทยาในราคาไร่ละ ๖๖๘,๐๐๐บาทเป็นเงิน ๙๓,๕๒๐,๐๐๐บาท และนายพีระยอมรับเงื่อนไข ๓ข้อ ของผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีด้วย ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.๓๕ แล้วนายวิทยามีหนังสือฉบับลงวันที่๒๖มีนาคม ๒๕๓๖ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีขอให้พิจารณาอนุมัติให้เมืองพัทยาซื้อที่ดินจากนายพีระจำนวน ๑๔๐ ไร่ ในราคาไร่ละ๖๖๘,๐๐๐บาท เป็นเงิน๙๓,๕๒๐,๐๐๐บาท ตามเอกสารหมาย จ.๓๗ ระหว่างนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๖ เมษายน๒๕๓๖ แจ้งให้เมืองพัทยาทราบว่ากรมการปกครองได้เห็นชอบให้เมืองพัทยาเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบเกี่ยวกับระยะห่างของที่ดินจากเขตเมืองพัทยาจากเดิมไม่เกิน ๑๕ กิโลเมตร เป็นไม่เกิน ๒๕ กิโลเมตร พร้อมแจ้งให้เมืองพัทยาจัดส่งแผนที่สังเขปของที่ดินที่จะซื้อ ราคากลาง ราคาที่ดินซื้อขายตามท้องตลาดของที่ดินบริเวณใกล้เคียง ราคาที่ดินใกล้เคียงที่ประเมินเพื่อเสียภาษีพร้อมสำเนาโฉนดที่ดินไปให้จังหวัดชลบุรีเพื่อใช้ประกอบการขออนุมัติวงเงินและเงินประจำงวดจากสำนักงบประมาณ ตามเอกสารหมาย จ.๓๙ และผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีอนุมัติให้เมืองพัทยาจัดซื้อที่ดินจากนายพีระได้ แต่มีเงื่อนไข ๒ข้อ ข้อแรกเมืองพัทยาต้องยกเลิกการจัดซื้อที่ดินกรณีไม่ได้รับความเห็นชอบในเรื่องราคาจากสำนักงบประมาณหรือไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการจัดซื้อจากสำนักงบประมาณ ข้อ ๒ให้เมืองพัทยาชะลอการลงนามในสัญญาการจัดซื้อที่ดินกับผู้เสนอราคาไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากกรมการปกครอง สำนักงบประมาณ และได้รับแจ้งจากจังหวัดชลบุรีแล้วตามหนังสือเอกสารหมาย จ.๔๐ อธิบดีกรมการปกครองได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ถึงผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเพื่อขออนุมัติวงเงินจัดซื้อที่ดินเพื่อเป็นที่ทิ้งขยะ ของเมืองพัทยาภายในวงเงิน ๙๓,๕๒๐,๐๐๐บาท ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.๔๑ ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๖ แจ้งเมืองพัทยาว่าจังหวัดชลบุรีได้รับแจ้งจากกรมการปกครองว่าสำนักงบประมาณได้อนุมัติวงเงินค่าจัดซื้อที่ดินแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.๔๒ คณะกรรมการจัดซื้อจึงแจ้งนายพีระมาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ครั้นวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๓๖ นายวิทยาได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนายพีระ ศิลรัตน์ ตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.๔๖ ระหว่างนั้นนายวิทยามีหนังสือไปถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ขอความอนุเคราะห์ให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการรังวัดสอบเขตที่ดินตามใบตรวจรับเอกสารหมาย จ.๔๘ นายวิทยามีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีขอเบิกเงินจำนวน ๙๓,๕๒๐,๐๐๐บาท มาไว้ที่เมืองพัทยาเพื่อเตรียมจ่ายให้แก่ผู้ขายตามเอกสารหมาย จ.๔๙และนายวิทยาทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๔ เป็นผู้จดทะเบียนรับโอนในนามของเมืองพัทยาและมีการจดทะเบียนโอนกันเมื่อวันที่๑๘มิถุนายน ๒๕๓๖ ตามเอกสารหมาย จ.๕๐ ในการจดทะเบียนซื้อขายกันดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำบันทึกถ้อยคำมีข้อความวา “ด้วยที่ดินแปลงดังกล่าวข้างต้นนี้ กรมป่าไม้ได้เคยออกแนวเขตป่าสงวนทับเขตไว้ ข้าพเจ้าผู้ซื้อและผู้ขายรับทราบแล้วและยืนยันจะซื้อขายกัน หากเกิดความเสียหาย ข้าพเจ้าทั้งสองขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น” ให้คู่สัญญาลงชื่อไว้ตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.๕๒ โดยมีนายวิชัย คูหา ผู้จัดการธนาคารกรงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านฉาง หวัดระยอง นำเงินของธนาคารจำนวน ๒,๒๖๐,๙๘๖ บาท มาทดรองจ่ายค่าธรรมเนียมและค่าภาษี ในการจดทะเบียนโอน และเมืองพัทยาได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)จำนวน ๙๓,๕๒๐,๐๐๐บาท ชำระค่าที่ดินให้นายพีระ ตามเอกสารหมาย จ.๕๓ นายวิชัยได้รับเช็คจากนายพีระนำไปเรียกเก็บเงินที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาพัทยาและในวันเดียวกันก็โอนเข้าบัญชีของนายพีระที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาบ้านฉาง ตามเอกสารหมาย .๕๔ แล้วนายวิชัยกับนายพีระเดินทางมาที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาบ้านฉาง ในวันนั้นนายพีระได้ถอนเงินจำนวน ๓๒,๐๐๐,๐๐๐บาท เศษ ฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ ๑ที่ธนาคารดังกล่าวจำนวน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐บาท ส่วนอีก ๒,๒๖๐,๙๘๖ บาท นายวิชัย รับคืนไปเป็นค่าธรรมเนียมที่นายวิชัยนำเงินของธนาคารไปทดรองจ่ายให้ก่อน วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๓๖ ได้มีการถอนเงินจากบัญชีของนายพีระจำนวน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐บาท ฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ ๑ที่ธนาคารเดียวกัน วันที่ ๒๒มิถุนายน ๒๕๓๖ ได้มีการถอนเงินจากบัญชีของนายพีระจำนวน๑๕,๐๐๐,๐๐๐บาท ฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ ๑ ที่ธนาคารเดียวกัน วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๓๖ ได้มีการถอนเงินจากบัญชีของนายพีระจำนวน ๑๙,๗๖๑,๐๐๐ บาท ฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ ๑ ที่ธนาคารเดียวกันจำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐บาทและโอนเข้าบัญชีของ นางสติล คุณปลื้ม ภริยาของจำเลยที่ ๑ ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาหนองมน จำนวน ๑๓,๐๐๐,๐๐๐บาท วันที่๒๕ มิถุนายน ๒๕๓๖นายพีระ ได้ถอนเงินทั้งหมดและปิดบัญชีตามใบถอนเงินและใบฝากเงินเอกสาร จ.๙๙และ จ.๑๐๐ ระหว่างวันที่ ๒๒ มิถุนายน ถึงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๖ จำเลยที่ ๑ ได้โอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชีของภริยาที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน ๓ครั้ง รวมเป็นเงิน๗๐,๐๐๐,๐๐๐บาท ตามใบฝาก เอกสารหมาย จ.๑๐๑ และเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๓๖ นายวิทยากับจำเลยที่ ๒ ได้นำเช็คผู้ถือที่มีภริยาจำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่ายไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐บาทและ๕,๐๐๐,๐๐๐บาท ตามลำดับ ครั้นวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๖ นายวิทยากับนายพีระ ได้นำเช็คผู้ถือที่มีจำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่ายไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารจำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐บาทและ๘๐,๐๐๐บาท ตามลำดับ ตามเช็คเอกสารหมาย จ.๑๑๐และ จ.๑๑๑ วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๖ นายพีระ ได้นำเช็คผู้ถือที่มีจำเลยที่ ๑เป็นผู้สั่งจ่ายไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารจำนวน ๕๐๐,๐๐๐บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.๑๑๒ สำหรับจำเลยที่ ๕ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ ๕ จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สวนจำเลยที่ ๒ ถึงแก่ความตายหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ดังนั้นความผิดของจำเลยที่ ๒ ย่อมระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๑)

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓และที่ ๔ ว่า จำเลยดังกล่าวได้กระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ โดยศาลอุทธรณ์ภาค ๒ เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ ว่า จำเลยที่ ๓ ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ข้อ(ง) และข้อ(ฉ) หรือไม่เป็นอันดับแรก ซึ่งตามคำฟ้อง ข้อ(ง) โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒และที่ ๓ ร่วมกันก่อให้นายอำนวย จันทร์เทียน และนายสมใจ จันทร์เทียน แจ้งให้นายไพโรจน์ เศียรสมาน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ตำแหน่งหัวหน้างานนิติกรรม จดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๒๘๒๗ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ในราคา๑,๒๐๐,๐๐๐บาท ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงบุคคลทั้งสองไม่ได้มีเจตนาซื้อขายกัน ทั้งนี้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ มีวัตถุประสงค์เพื่อจะนำหลักฐานการซื้อขายไปประกอบการขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก.) เลขที่๑๒๑๘ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ให้แก่เมืองพัทยา ส่วนคำฟ้องข้อ (ฉ) โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ร่วมกันก่อให้นายเยิ้ม อยู่สบายกับนายอำพล จันทร์เทียน กระทำความผิดในลักษณะทำนองเดียวกับกรณีของนายอำนวยและนายสมใจ ในชั้นพิจารณา โจทก์มีนายอำนวย นายสมใจ และนายอำพลเป็นพยาน ส่วนนายเยิ้มโจทก์ไม่ได้ตัวมาคงอ้างส่งแต่คำให้การชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.๑๙๒ นายอำนวยเบิกความว่า พยานจดทะเบียนขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.๒๖ ให้นายสมใจซึ่งเป็นพี่ชายในราคา ๑,๒๐๐,๐๐๐บาท โดยไม่มีการชำระราคาเนื่องจากนายสมใจประกอบอาชีพนายหน้าต้องการนำที่ดินไปขายต่อ แต่ภายหลังขายไม่ได้จึงจดทะเบียนโอนที่ดินคืบแก่พยาน ส่วนนายสมใจเบิกความว่า นายอำนวยจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้พยานโดยไม่มีการชำระราคา ต่อมานายอำนวยขอให้พยานคืนที่ดินให้ สำหรับนายอำพลเบิกความว่า พยานจดทะเบียนซื้อที่ดินจากนายเยิ้มตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.๒๖ ในราคา ๑,๔๐๐,๐๐๐บาท แต่ชำระราคาเพียง๕๐๐,๐๐๐บาท เพื่อจะนำที่ดินไปขายต่อ แต่ขายไม่ได้จึงจดทะเบียนขายที่ดินคืนให้นายเยิ้มในราคา๕๐๐,๐๐๐บาท คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าวแตกต่างจากการที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวน โดยนายอำนวยและนายอำพลให้การในชั้นสอบสวนถึงสาเหตุจดทะเบียนโอนขายที่ดินกลับไปกลับมา ตามคำให้การเอกสารหมาย จ.๑๔๓ และ จ.๑๔๕ ตามลำดับว่า จำเลยที่ ๓ซึ่งเป็นกำนันตำบลเขาไม้แก้วขอให้ช่วยหาพรรคพวกมาจดทะเบียนซื้อขายที่ดินกันหลอกๆ เพื่อจะนำหลักฐานการซื้อขายไปใช้ประกอบการที่เมืองพัทยาจัดซื้อที่ดินในบริเวณดังกล่าวเป็นที่ทิ้งขยะโดยจะคนช่วยออกค่าธรรมเนียมให้ นายอำนวยและนายอำพล เกรงใจจำเลยที่ ๓ จึงตกลงร่วมมือ ต่อมาจำเลยที่ ๓ ให้คนมาแจ้งให้ไปพบจำเลยที่ ที่ร้านอาหารของจำเลยที่ ๒ ใกล้สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง นายอำนวยพานายสมใจ ส่วนนายอำพลพานายเยิ้มไปพบจำเลยที่ ๒ แล้วจำเลยที่ ๒ พากันไปจดทะเบียนซื้อขาย นายอำนวยยังให้การในชั้นสอบสวนอีกว่าจำเลยที่ ๒ ให้ค่าตอบแทนแก่ตนกับนายสมใจคนละ๕๐๐บาท และจำเลยที่ ๒ แจ้งว่าเมื่อถึงเวลาจะเรียกมาจดทะเบียนโอนที่ดินคืนแก่กัน หลังจากนั้นประมาณ ๑ปี นายอำนวยไปสอบถามจำเลยที่ ๒ เรื่องจดทะเบียนโอนที่ดินคืนแก่กัน จำเลยที่ ๒ แจ้งว่าเมื่อถึงเวลาจะให้คนไปตาม ไม่นานนักจำเลยที่ ๒ ให้คนมาตามอำนวย นายอำนวยจึงพานายสมใจไปพบจำเลยที่ ๒ แล้วจำเลยที่๒ พาไปสำนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินคืนให้ จากนั้นประมาณ ๑เดือน นายอำนวยไปทวงถามค่าตอบแทนในการดำเนินการดังกล่าวจากจำเลยที่ ๒ ตามที่เคยรับปากไว้ จำเลยที่ ๒ แจ้งว่าได้ฝากไว้กับนายเพ็ชรซึ่งเป็นลุงของนายอำนวย นายอำนวยจึงไปพบนายเพ็ชรและนายเพ็ชรได้มอบเงิน๒๐,๐๐๐บาท แก่นายอำนวย นายอำนวยได้แบ่งให้นายสมใจ ๑๐,๐๐๐บาท ส่วนนายสมใจได้ให้การในชั้นสอบสวนตามคำให้การพยานเอกสารหมาย จ.๑๔๔ ว่า นายอำนวยซึ่งเป็นน้องชายขอให้ไปเซ็นชื่อซื้อที่ดินของนายอำนวย ต่อมานายอำนวยพานายสมใจไปพบจำเลยที่๒ที่ร้านอาหาร แล้วจำเลยที่ ๓พาบุคคลทั้งสองไปจดทะเบียนซื้อขายที่ดินกันหลอกๆโดยจำเลยที่ ๒ ได้มอบค่ารถให้นายสมใจและนายอำนวยคนละ ๕๐๐บาท จากนั้นประมาณ ๑ปี นายอำนวยพานายสมใจไปโอนที่ดินคืนโดยนายอำนวยให้ค่าตอบแทน ๑๐,๐๐๐บาท เมื่อพยานโจทก์ทั้งสามปากเบิกความแตกต่างกันจากที่เคยให้การในชั้นสอบสวน จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ระหว่างคำเบิกความในชั้นพิจารณากับคำให้การในชั้นสอบสวนอย่างไหนมีเหตุผลน่าเชื่อถือกว่ากัน ซึ่งแยกพิจารณาได้ ๒ ประเด็นคือ ประเด็นแรก ในเรื่องเหตุผลของการจดทะเบียนโอนกลับไปกลับมา กับประเด็นที่ ๒ ในเรื่องที่ว่าจำเลยที่๓ เป็นผู้ที่ขอให้พยานโจทก์ดังกล่าวจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวแก่กันหรือไม่ สำหรับประเด็นแรก นายอำนวยเบิกความว่า เหตุที่จดทะเบียนขายที่ดินแก่นายสมใจเพราะนายสมใจซึ่งประกอบอาชีพนายหน้าขายที่ดินประสงค์จะนำที่ดินไปขาย แต่ภายหลังขายไม่ได้จึงจดทะเบียนโอนคืนโดยไม่มีการชำระราคากันนั้น เห็นว่า หากเป็นดังที่อ้างก็ไม่มีความจำเป็นที่นายอำนวยจะต้องโอนที่ดินคืนแก่นายสมใจก่อนเพราะทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมรวมทั้งตลอดจนค่าภาษีต่างๆโดยใช่เหตุซึ่งเป็นจำนวนเงินมิใช่น้อย ผิดปรกติวิสัยของผู้มีอาชีพเป็นนายหน้าค้าที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายสมใจเองกลับไม่ได้เบิกความตอบโจทก์ถึงเหตุผลตามที่นายอำนวยอ้าง คงเบิกความตอบทนายจำเลยที่ ๑ ถามค้านเพียงว่า บางครั้งถ้ามีเวลาก็จะทำหน้าที่เป็นนายหน้าขายที่ดินด้วยและเคยเป็นนายหน้าขายที่ดินได้เท่านั้น ข้อที่นายสมใจเบิกความตอบทนายจำเลยที่ ๔ ถามค้านทำนองว่า เหตุที่ระบุราคาที่ดินในสัญญาซื้อขาย ๑,๒๐๐,๐๐๐บาท ซึ่งเป็นราคาท้องตลาดก็เพื่อประโยชน์ในการขายต่อจะได้ราคาสูงขึ้นนั้น ก็ไม่ทำให้คำเบิกความของนายสมใจมีน้ำหนักรับฟัง เพราะนายสมใจเองมิได้เบิกความว่า ประสงค์จะซื้อที่ดินของนายอำนวยเพื่อไปขายต่อ ทั้งผู้จะซื้อต่อคงไม่ได้ยึดราคาซื้อขายที่ระบุในเอกสารจดทะเบียนเพียงอย่างเดียวเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา เพราะผู้ซื้อและผู้ขายที่ดินทอดก่อนจะแจ้งราคาอย่างไรก็ได้ อีกข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายสมใจได้ติดต่อขายที่ดินของนายอำนวยให้ผู้ใด ราคาเท่าใด มีเงื่อนไขและข้อตกลงอย่างไร ยิ่งกว่านั้นนายสมใจยังเบิกความตอบโจทก์ซักถามว่า ที่ดินที่นายอำนวยขายให้ตนอยู่ติดถนนสาธารณะมีราคาไร่ละ๓๐๐,๐๐๐บาท แม้จะเบิกความตอบทนายจำเลยที่ ๔ ถามค้านว่า ราคาซื้อขายสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับที่ระบุให้สัญญา แต่ก็ไม่ปรากฏเหตุผลว่า เหตุใดจึงตอบโจทก์อย่างหนึ่งและตอบทนายจำเลยที่๔ อีกอย่างหนึ่ง จึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่าราคาที่ดินที่ตอบโจทก์ไปครั้งแรกนั้นเป็นความจริง นายอำพลเบิกความว่า เหตุที่ซื้อที่ดินจากนายเยิ้มเพื่อจะนำไปขายต่อ แต่ภายหลังขายไม่ได้ จึงจดทะเบียนขายคืนให้นายเยิ้มนั้น หากเป็นตามที่อ้างก็ไม่มีเหตุต้องด่วนจดทะเบียนโอน ทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมตลอดจนค่าภาษีถึง ๒ รอบ ซึ่งพยานเบิกความว่าต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนครั้งละ ๕๐,๐๐๐บาทถึง๖๐,๐๐๐บาท อันเป็นเงินจำนวนมาก ที่อ้างว่าจะนำไปขายต่อก็ไม่ปรากฏว่าขายแก่ผู้ใด และที่อ้างว่าได้จ่ายค่าที่ดินให้นายเยิ้มไปแล้วจำนวน๕๐๐,๐๐๐ บาท ก็ไม่ปรากฏหลักฐานทางการเงินว่านำเงินมาจากที่ใดมาชำระทั้งที่เป็นเงินจำนวนมาก เมื่อพิจารณาคำให้การของนายเยิ้มตามเอกสารหมาย จ.๑๙๒ แล้วปรากฏว่าสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของพยานปากนี้ อีกทั้งระยะเวลาที่จดทะเบียนซื้อขายในครั้งแรกในครั้งแรกของที่ดินทั้งสองแปลงระหว่างบุคคลทั้งสี่ก็เป็นช่วงเวลาที่เมืองพัทยากำลังจัดหาที่ดินเพื่อใช้ทิ้งขยะ หลังจากเมืองพัทยาซื้อที่ดินจากนายพีระเพียง ๒เดือนถึง๓เดือน ก็มีการจดทะเบียนขายคืนแก่กันในราคาต่ำกว่าการซื้อขายครั้งแรกอย่างมาก ข้ออ้างของพยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าวจึงเป็นข้อกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีหลักฐานอื่นมาสนับสนุนและขัดต่อเหตุผล ปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาว่าเมืองพัทยานำราคาซื้อขายที่ดินทั้ง ๒แปลง ดังกล่าวเสนอผ่านจังหวัดชลบุรีและกรมการปกครองให้สำนักงบประมาณใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดวงเงินในการซื้อที่ดินจากนายพีระ แสดงให้เห็นว่าการซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงของบุคคลทั้งสี่กระทำไปโดยมีกลุ่มบุคคลประสงค์จะนำราคาซื้อขายไปใช้ประกอบการขออนุมัติวงเงินจากสำนักงบประมาณเพื่อจัดซื้อที่ดินจากนายพีระในราคาสูงกว่าท้องตลาดจึงฟังได้ว่าการซื้อขายที่ดินของบุคคลทั้งสี่กระทำไปโดยไม่มีเจตนาซื้อขายกันจริง และราคาซื้อขายที่จดทะเบียนก็สูงว่าราคาท้องตลาด มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ ๒ว่าจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ใช้ให้พยานโจทก์ทั้ง ๓ ปากดังกล่าวกับนายเยิ้มไปแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนซื้อขายที่ดินกันหลอกๆ หรือไม่ เห็นว่า ในชั้นสอบสวนนายอำนวยและนายอำพลให้การว่า จำเลยที่ ๓ ขอความร่วมมือบุคคลทั้งสองให้หาพรรคพวกมาทำการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินกันหลอกๆ ส่วนนายสมใจและนายเยิ้มมิได้ให้การพาดพิงถึงจำเลยที่ ๓ เนื่องจากจำเลยที่๓คงเรียกเฉพาะนายอำนวยและนายอำพลไปขอความร่วมมือ ส่วนนายสมใจได้รับการติดต่อจากนายอำนวย และเยิ้มได้รับการติดต่อจากนายอำพลอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ในชั้นสอบสวนนายเพ็ชร จันทร์เทียน และนางหอม นฤทัย ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าซื้อขายที่ดินกันหลอกๆอีกรายหนึ่งด้วยนั้น กลับมิได้ให้การซัดทอดจำเลยที่ ๓ หากพนักงานสอบสวนมุ่งปรักปรำจำเลยที่ ๓ แล้วย่อมต้องให้บุคคลทั้งสองให้การซัดทอดจำเลยที่ ๓ด้วย แต่ข้อเท็จจริงไม่เป็นเช่นนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนไปตามข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ข้อที่นายอำนวยเบิกความตอบโจทก์ซักถามว่า คำให้การชั้นสอบสวนของตนในส่วนที่พาดพิงถึงจำเลยที่ ๓ไม่ถูกต้อง และตอบทนายจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ถามค้านว่า เหตุที่ยอมลงชื่อในคำให้การชั้นสอบสวนเพราะเจ้าพนักงานตำรวจบอกให้ช่วยหน่อยนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ข่มขู่หรือเป็นการให้การโดยไม่สมัครใจ แต่นายอำนวยกลับเบิกความตอบทนายจำเลยที่ ๒และที่ ๓ ถามค้านในตอนหนึ่งว่า ในชั้นสอบสวนนายอำนวยไม่ได้ระบุชื่อกำนันที่มาติดต่อให้จดทะเบียนซื้อขายที่ดินกันหลอกๆ ว่าหมายถึงจำเลยที่ ๓ แต่กำนันที่มาติดต่อหมายถึงกำนันเพ็ชร คำเบิกความดังกล่าวของนายอำนวยยิ่งแสดงให้เห็นชัดว่านายอำนวยให้การต่อเจ้าพนักงานสอบสวนตามข้อความที่ปรากฏในคำให้การ เพียงแต่นายอำนวยพยายามปัดความรับผิดให้กำนันเพ็ชรซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว นายอำนวยและนายอำพลเป็นราษฎรที่อยู่ในท้องที่ปกครองของจำเลยที่ ๓ ไม่ปรากฏว่าบุคคลทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ ๓จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ ๓ พยานโจทก์ทั้งสามปากกับนายเยิ้มต่างให้การในชั้นสอบสวนตรงกันว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้พาไปจดทะเบียนในการซื้อขายทั้งสองครั้งและเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนและยังมอบค่าตอบแทนให้ด้วย ความเชื่อมโยงระหว่างจำเลยที่ ๒กับจำเลยที่ ๓นั้น โจทก์มีพันตำรวจเอกอุดม จันทร์พิทักษ์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการสอบสวนคดีนี้เบิกความว่า จากการตรวจค้นบ้านจำเลยที่ ๓ พบสมุดปกอ่อนที่มีบันทึกข้อความของจำเลยที่ ๒ถึงจำเลยที่ ๓ว่า ให้จำเลยที่ ๓ โทรศัพท์กลับไปหาจำเลยที่ ๒ ด่วนที่สุด ตามเอกสารหมาย จ.๑๒๑ จำเลยที่ ๒และที่ ๓ ก็นำสืบรับเกี่ยวกับบันทึกดังกล่าว อันเป็นการสนับสนุนให้คำให้การชั้นสอบสวนของบุคคลทั้งสี่มีน้ำหนักรับฟังมากยิ่งขึ้น ข้อเท็จจริงยังได้ความต่อมาว่าเมื่อเมืองพัทยาได้รับแจ้งจากจังหวัดชลบุรีให้ดำเนินโครงการจัดซื้อที่ดิน ๑๔๐ ไร่ เป็นที่ทิ้งขยะแล้ว เมืองพัทยาได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาที่ดินตามเอกสารหมาย จ.๑๔ จำเลยที่ ๓ ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการจัดหาที่ดินเกี่ยวกับราคาและสภาพที่ดินบริเวณตำบลเขาไม้แก้วตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย ล.๖ ว่า ที่ดินส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าละเมาะและเป็นที่ดอน มีประชาชนอาศัยอยู่น้อยซึ่งขัดกับที่จำเลยที่ ๓ เบิกความว่า ที่ดินบริเวณตำบลเขาไม้แก้วไม่มีสภาพเป็นป่า แต่เป็นที่โล่งเตียน ชาวบ้านปลูกมันสำปะหลังสอดคล้องกับคำของนายอำนวยเบิกความตอบทนายจำเลยที่ ๒และที่๓ ถามค้านว่า สภาพที่ดินบริเวณตำบลเขาไม้แก้วส่วนใหญ่เป็นที่โล่งเตียน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกมันสำปะหลังและเลี้ยงสัตว์ แสดงว่าจำเลยที่ ๓ ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมการจัดหาที่ดินเพื่อพยายามสร้างภาพให้เห็นว่าที่ดินบริเวณตำบลเขาไม้แก้วมีความเหมาะสมเป็นที่ทิ้งขยะ ส่อให้เห็นว่าจำเลยที่ ๓ มีส่วนได้เสียในการจัดซื้อที่ดินของเมืองพัทยา การที่ราษฎรทั้งสี่รายดังกล่าวจดทะเบียนซื้อขายกันหลอกๆ โดยระบุราคาสูงกว่าท้องตลาดอย่างมาก เมื่อเมืองพัทยาซื้อที่ดินจากนายพีระแล้ว ราษฎรทั้งสี่รายกลับจดทะเบียนโอนขายที่ดินแก่กันโดยระบุราคาต่ำกว่าการซื้อขายครั้งแรกอย่างมาก จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นแผนการสร้างราคาที่ดินเพื่อให้ผู้มีอำนาจจัดซื้อนำไปใช้ในการขออนุมัติวงเงินจัดซื้อโดยจำเลยที่ ๓ เป็นตัวจักรหนึ่งในแผนการดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๓ ใช้ให้ราษฎร ๔รายดังกล่าวไปแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนซื้อขายที่ดินกันหลอกๆ โดยไม่ได้มีเจตนาซื้อขายกันจริง จึงเป็นการใช้ให้บุคคลอื่นแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารการซื้อขายซึ่งเป็นเอกสารราชการที่มีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานโดยจำเลยที่ ๓ มีวัตถุประสงค์เพื่อจะนำหลักฐานซื้อขายดังกล่าวไปใช้ประกอบการขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก.) เลขที่ ๑๒๑๘ ให้แก่เมืองพัทยาย่อมทำให้เมืองพัทยาได้รับความเสียหาย พยานโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคง ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ ๓ได้กระทำความผิดตามคำฟ้องข้อ (ง)และข้อ (ฉ)

ข้อที่จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์ว่า เหตุที่พยานโจทก์ทั้ง ๓ปาก ให้การชั้นสอบสวนซัดทอดจำเลยที่ ๓ เกิดจากพลตำรวจโทเสรี ซึ่งเป็นคณะกรรมการสอบสวนคดีนี้มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ ๑ จึงปรักปรำจำเลยที่ ๓ นั้น เห็นว่า ประการสำคัญอยู่ที่เหตุผลตามคำให้การชั้นสอบสวนและเหตุผลตามคำเบิกความในชั้นพิจารณาว่าอย่างใหนมีเหตุผลน่ารับฟังกว่ากันซึ่งได้วินิจฉัยข้างต้นแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์ว่า โจทก์มีเพียงคำให้การชั้นสอบสวนโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบ เมื่อพยานมาเบิกความในชั้นพิจารณา ศาลต้องรับฟังคำเบิกความว่าเป็นความจริงนั้นเห็นว่า โจทก์ได้นำตัวพยานที่ให้การในชั้นสอบสวนมาเบิกความในชั้นพิจารณาและมีพยานอื่นประกอบด้วย ส่วนศาลจะเชื่อตามที่พยานให้การในชั้นสอบสวนหรือคำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณา ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุผลเป็นสำคัญ หาใช่ว่าในชั้นพิจารณาเมื่อพยานกลับคำให้การที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนแล้ว ศาลจะต้องฟังตามที่พยานเบิกความในชั้นพิจารณาตามที่จำเลยที่ ๓ เข้าใจเพราะพยานอาจกลับคำให้การในชั้นพิจารณาโดยมีมีมูลเหตุจูงใจ มิฉะนั้นแล้วหากในชั้นพิจารณาพยานกลับคำให้การในทางที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลย
ศาลคงต้องยกฟ้องโจทก์เสมอไป ย่อมไม่ต้องด้วยหลักในการรับฟังพยานหลักฐาน อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ ๓ ฟังไม่ขึ้น

**อ่านต่อ**
กำลังโหลดความคิดเห็น