วันนี้ (23 ม.ค.) เวลา 11.00 น.ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประมาณ 30 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง นายแก้วสรร อติโพธิ ประธานกรรมาธิการการสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา เนื่องจากทางกลุ่มอนุรักษ์ทราบข่าวว่าบ่ายวันนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะมีการประชุมวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณาเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตซ
ทางกลุ่มจึงได้มายื่นหนังสือถึง กมธ.เพื่อขอให้ยับยั้งการตัดสินใจก่อสร้างโครงการของคณะกรรมการการสิ่งแวดล้อม และขอให้เรียกผู้เกี่ยวข้องจากคณะ กก.สิ่งแวดล้อม และ ครม.มาตอบข้อซักถามถึงผลการประชุมเกี่ยวกับเรื่องเหมืองแร่โปแตซด้วย ว่ามีผลหรือมติเป็นอย่างไร
นายแก้วสรร ซึ่งออกมารับหนังสือด้วยตัวเอง ได้กล่าวกับชาวบ้านว่า ข้อมูลล่าสุดเท่าที่ตนทราบ คือ เมื่ออธิบดีกรมทรัพยากรและเหมืองแร่ มาตอบคำถามของ กมธ.เกี่ยวกับโครงการนี้เมื่อ 5 เดือนที่แล้วนั้น อธิบดียืนยันว่า ยังไม่มีการขอประทานบัตรโครงการดังกล่าว ซึ่งหากจะมีการยื่นขอเมื่อใด ก็จะต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ให้เสร็จเสียก่อน และให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตรวจพิจารณา
จากนั้นก็ต้องจัดประชาพิจารณ์ขึ้นในพื้นที่ โดยในการทำประชาพิจารณ์จะต้องมีการวางเงินเพื่อให้ชาวบ้านสามารถนำไปว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาตรวจดูรายงานข้อมูลก่อนด้วย
“ผมสนใจแค่ว่า ต้องทำตามที่รับปากไว้ กรรมการสำนักนายกฯ ที่ไหนจะมาพิจารณาตอนนี้ เป็นกรรมการเถื่อน ผมไม่ยุ่ง อำนาจตามกฎหมาย คือ ให้บอร์ดสิ่งแวดล้อมพิจารณาอีไอเอก่อน” นายแก้วสรร ยังกล่าวอีกว่า บริษัทหรือหน่วยงานใดจะอ้างว่าอีไอเอผ่านแล้วไม่ได้ เนื่องจากกระบวนการยื่นขอยังไม่เสร็จสิ้น “บริษัทจะยืนยันยังไงก็ช่าง อีไอเอที่ผ่านมาเป็นอีไอเอเถื่อน”
ทั้งนี้ นายแก้วสรร ได้แจ้งต่อชาวบ้านว่า ในวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ จะนัดหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตอบคำถามกรรมาธิการ ต่อหน้าตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ ที่วุฒิสภา ในเรื่องความคืบหน้าและกระบวนการต่างๆ รวมทั้งข้อห่วงใยของ กมธ.ในประเด็นเรื่องผลกระทบจากโครงการที่อาจทำให้เกิดการยุบตัวของพื้นดิน หากบริษัทรีบขุดแร่ขึ้นมาโดยไม่มีการนำกากแร่ใส่กลับลงไปใต้ดินตามที่เคยเสนอไว้ แต่กลับจะนำขึ้นมากองไว้บนดินเป็นเวลา 10-20 ปี
“ทำแบบนี้บริษัทสอบไม่ผ่านแน่ ทั้งในประเด็นเรื่องการคัดค้านของชาวบ้านและในแง่หลักวิชาการ”
จากนั้น เวลาประมาณ 14.00 น.ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ได้เดินทางต่อไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโครงการ ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยเนื้อหาในหนังสือระบุข้อเรียกร้องขอให้พิจารณาหาช่องทางยกเลิกสัญญาสิทธิสำรวจ และผลิตแร่โปแตซอุดรธานี เพราะเป็นสัญญาที่กดขี่ข่มเหงคนไทย และแย่งชิงแร่โปแตซออกไปจากอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ควรจะให้ประชาชนไทยหันหน้ามาพูดคุยกันเอง เกี่ยวกับแร่โปแตซในจังหวัดอุดรธานี ว่าจะสงวนรักษาหรือใช้สอยกันอย่างไร
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องว่าการพูดคุย ประชุม หรือเสวนาใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานีต่อจากนี้ไป จะต้องไม่กระทำกันเองแต่ในส่วนราชการ นักธุรกิจ ฝ่ายนักการเมืองและบริษัท เอพีพีซี แต่ต้องมีตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมหารือ ให้ความคิดเห็น ตัดสินใจด้วยทุกครั้งไป
นายชนินทร์ ทองธรรมชาติ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นตัวแทนของคณะกรรมการออกมารับหนังสือ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ไม่ได้เป็นการงุบงิบอนุมัติ แต่เพื่อมองให้เห็นภาพรวมของโครงการ ไม่ได้จะอนุมัติ เพราะนายกรัฐมนตรีรับปากกับชาวบ้านไว้ตั้งแต่ที่ จ.ร้อยเอ็ด แล้ว ว่า วันที่ 24 กุมภาพันธ์จะไปคุยกับชาวบ้านที่ จ.อุดรธานี “ส่วนการจะตัดสินใจอนุมัติให้โครงการนี้ผ่านหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับชาวบ้านอยู่แล้ว” รองเลขาธิการ สผ.กล่าว