xs
xsm
sm
md
lg

“ถัมภาวาส” วัดไร้กฐิน-เกือบสิ้นพระจำพรรษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไพรัช มิ่งขวัญ/กิ่งอ้อ เล่าฮง
ศูนย์ข่าวอิศรา,สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (www.tjanews.org)

บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 ห่างจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ 50 กิโลเมตร เมื่อถึงแยกซ้ายเลี้ยวเข้าอำเภอสายบุรี จะมีถนนลาดยางสายเล็กๆ ทอดตัวยาวเหยียดอยู่เบื้องหน้า ซึ่งตลอดสองข้างทางถูกขนาบด้วยป่ารกชัฏ เมื่อข้ามพ้นแม่น้ำสายบุรีก็เข้าสู่เขตพื้นที่ ต.ปะเสยะวอ ทางด้านซ้ายจะเป็นที่ตั้งของ “วัดบางตะโล๊ะ” หรือ “วัดถัมภาวาส” วัดเก่าแก่ที่มีอายุนานกว่า 200 ปี

ในอดีตวัดแห่งนี้เคยมีความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ที่ผลิตพระภิกษุ-สามเณร ที่มีความรู้ความสามารถมารับใช้ศาสนาและสังคมเป็นจำนวนมาก

แต่สภาพของ“วัดถัมภาวาส”ในวันนี้ช่างแตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง วัดที่ครั้งหนึ่งเคยคลาคล่ำไปด้วยพระภิกษุ-สามเณรหลายสิบรูป มีญาติโยมเดินเข้าออกพระอุโบสถเพื่อเข้ากราบนมัสการ “หลวงพ่อศิลา” พระพุทธรูปหินอ่อน ซึ่งสร้างในรัชสมัย ร.6 กันอย่างคึกคัก

ในวันนี้ภาพที่หลงเหลือ คือ ความเงียบเหงาวังเวง พื้นที่กว้างขวางถูกปกคลุมด้วยเงารกครึ้มของไม้ใหญ่ เศษใบไม้แห้ง โบสถ์ ศาลา กุฏิทุกหลังเต็มไปด้วยฝุ่น หยากไย่ ประตูอุโบสถถูกปิดลงกลอนอย่างแน่นหนา ไม่มีแม้แต่เงาของพระสงฆ์และฆราวาสคอยดูแล

“วัดนี้ยังมีพระอยู่ 1 รูป ตอนนี้ท่านไม่อยู่ไปทำธุระต่างจังหวัดคงอีกหลายวันกว่าจะกลับ ตอนนี้วัดเลยต้องปิดตาย” น้ำราบเรียบของ “ครูแจ้ง สกนธวุฒิ” อดีตครูโรงเรียนวัดถัมภาวาส วัย 66 ปี ผู้ทำหน้าที่ดูแลวัดแห่งนี้มากว่า 5 ปี เล่าสาเหตุที่วัดแห่งนี้เงียบเหงาจนน่าใจหาย

พื้นที่ ต.ปะเสยะวอ มีหมู่บ้านทั้งหมด 6 หมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทย-มุสลิม ส่วนไทยพุทธเชื้อสายจีนมีเพียงบ้านบางตะโล๊ะหมู่ 3 เท่านั้น ดังนั้น ศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญนอกจากวัดถัมภาวาสแล้ว คือ “ศาลเจ้าตี่ยู่อ่องเอี่ย” ที่ชาวประมงมักจะมากราบไหว้ขอพรทุกครั้งก่อนที่จะออกทะเลหาปลา

ครูแจ้ง เล่าว่า พระครูอดุลย์วุฒิคุณ คือ เจ้าอาวาสรูปที่ 5 และถือเป็นพระรูปสุดท้าย เมื่อมรณภาพไปแล้ว วัดก็ไร้ซึ่งพระและสามเณรที่จะเข้ามาจำพรรษา ชาวบ้านต้องแก้ปัญหาด้วยการนิมนต์พระจากวัดอื่นให้ช่วยเข้ามาจำพรรษาที่วัด

“เจ้าอาวาสรูปแรก คือ พ่อท่านลังกา เหยียบน้ำทะเลจืด แล้วก็มีหลวงพ่อสี พระครูสมานการโกศล พระครูจิตานุรักษ์ แล้วก็พระครูอดุลย์ ตอนนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสรูปใหม่ เลยทำให้ดูเหมือนเป็นวัดร้างพระ”อดีตครูโรงเรียนวัดถัมภาวาส บอก

ปัญหาความรุนแรงรายวันที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการบุกเข้าทำร้าย ฆ่า เผาวัดและพระสงฆ์ ทำให้ศิษย์ตถาคตหลายรูปต้องมรณภาพ พระภิกษุที่เหลือเกิดความหวาดวิตก ส่วนหนึ่งจำต้องลาสิกขาบทหรือละทิ้งวัดไป ส่งผลให้วัดหลายแห่งขาดแคลนพระอยู่แล้วประสบปัญหามากขึ้น บางวัดมีสภาพเป็นวัดร้างจนไม่สามารถประกอบศาสนกิจได้

“เมื่อช่วงเข้าพรรษา วัดนี้ยังไม่ถึงขั้นร้างนะ มีพระสงฆ์เดินทางมาจากจ.ศรีษะเกษ ตามโครงการอุปสมบทเทอดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เข้าจำพรรษาอยู่ 2 รูป พอออกพรรษาท่านก็ไป ผมคิดว่า ถ้าวัดไม่มีพระสงฆ์อยู่ชาวบ้านแย่ แค่ตอนนี้พระท่านไม่อยู่พวกเราไม่ค่อยสบายใจ ชาวบ้านไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยว ทุกวันนี้อยู่ด้วยความกลัว” ครูแจ้งเล่าก่อนถอนหายใจเฮือกใหญ่

เหตุร้ายรายวันที่เกิดขึ้นส่งผลให้วิถีชีวิตของพระสงฆ์และพี่น้องบ้านบางตะโละเปลี่ยนไปราวหน้ามือเป็นหลังมือ ครูแจ้งเล่าว่า ชีวิตพระตกอยู่ในสถานนะอันตรายต้องหยุดบิณฑบาต งดกิจนิมนต์ ทุกวันนี้ชาวบ้านจะแบ่งเวรกันนำข้าวปลาอาหารถวายให้พระทำศาสนกิจในวัดแทนที่จะให้ออกมาข้างนอก ขณะที่กิจกรรมทางศาสนาหลายอย่างต้องเปลี่ยนไป

“กฐินสามัคคี ที่นี่ไม่มีการทอดมา 2 ปีแล้ว ไม่มีใครกล้าจัดงาน เพราะไม่มีประธาน ประเพณีการเวียนเทียนที่เคยปฏิบัติต้องเปลี่ยนมาเวียนเทียนตอนเที่ยงวัน เพราะกลางคืนอันตราย เมื่อก่อนมีการแข่งขันกีฬาทางน้ำก็ซบเซาเงียบมากๆ สงกรานต์แทบไม่ได้จัดเลย หรืองานศพ เมื่อก่อนพระจะมาสวดประมาณ 2-3 ทุ่ม เดี๋ยวนี้เหรอ 4-5 โมงเย็นพระต้องรีบมาสวดแล้ว สวดเสร็จเจ้าภาพก็ปิดประตูนอน ไม่กล้าเปิด....เดี๋ยวมีงานต่อ” สนั่น จันทร์ขาว ชาวบ้านวัย 61 ปี เล่าแทรกอย่างอัดอั้น

ในขณะที่ครูแจ้ง เสริมว่า งานบุญที่ทางอำเภอจัดขึ้นในปีนี้ไม่มีใครกล้าออกไปร่วมงาน หรือหากมีงานศพที่ไหน เมื่อก่อนชาวบ้านในหมู่บ้านจะเหมารถกันไปร่วมงานครั้งละ 10-15 คน แต่ปัจจุบันทำได้ดีที่สุด คือ การส่งตัวแทนไปร่วมงานเพียง 2-3 คนเท่านั้น ส่วนงานบวชก็ไม่เคยมีการจัดงานอุปสมบทในวัดมาสองปีแล้วเช่นกัน

วัดถัมภาวาสในปีนี้ไม่เพียงเป็นวัดที่ไร้กฐินอย่างสิ้นเชิง แต่ช่วงเทศกาลออกพรรษาที่ผ่านมา แม้ชาวบ้านต้องการจะจัดงานชักพระ ซึ่งเป็นประเพณีประจำปีในช่วงเทศกาลออกพรรษาของภาคใต้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยปฎิบัติการพิเศษ (นปพ.) ที่เข้ามาใช้พื้นที่วัดตั้งเป็นฐานปฎิบัติการ ขณะที่ชาวบ้านทั่วไปก็รู้สึกไม่ปลอดภัยต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

“พระก็ไม่กล้าเข้ามาจำพรรษา เพราะว่าตอนนี้พระกลายเป็นบังเกอร์ให้กับหน่วยที่มาใช้วัดเป็นที่ตั้ง ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นพระตายก่อน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ ชาวบ้านไม่กล้าเสี่ยง จะออกไปแจกฎีกาก็ไม่กล้า ที่ผมห่วงตอนนี้คือศาสนาพุทธกำลังอ่อนแอ ถ้าเมื่อไรพระไม่มี หรือมีน้อยลงและวัดร้างแล้วศาสนาพุทธในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะอยู่ได้อย่างไร” ครูแจ้งกล่าวอย่างกลัดกลุ้ม

ปัญหาวัดร้างเพราะไร้พระจำพรรษา ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้ชาวบ้านวิตกกังวล แต่ความเหินห่างของชุมชนไทยพุทธกับมุสลิม การก่อเรื่องทะเลาะวิวาท กันบ่อยครั้งของวัยรุ่นทั้งสองกลุ่มและการกระทำในลักษณะยั่วยุ เช่น การขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาในวัดตะโกนใส่พระการจุดประทัดโยนใส่วัด การทำท่าล้อเลียนโดยเฉพาะจากกลุ่มวัยรุ่นมุสลิมยิ่งสร้างความไม่พอใจให้ชาวบ้านไทยพุทธมากขึ้น

“ซุ้มหน้าวัดที่มีรูปปั้นเทพพนมเขาก็ทุบทำลาย บางคนที่เป็นลูกศิษย์ผมเคยสอนเขา ก็เรียกเขามาคุยแล้วไปบอกพ่อแม่เขา เขาก็บอกเอาเลยครู ตีเลย บางครั้งเราก็ต้องคิดด้วยจิตเมตตาว่า พวกเขายังเด็ก เป็นวัยรุ่นก็คึกคะนองไปตามประสา คือ ของส่วนรวมไม่ว่าจะเป็นศาลาของเราสร้างหรือเขาสร้างมันก็ถูกทำลายอยู่บ่อยๆ ลำพังเด็กในหมู่บ้าน ไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่กลัวคนข้างนอกที่เข้ามาใส่ความคิดไม่ดีให้เด็กมากกว่า” อดีตครูโรงเรียนวัดถัมภาวาส กล่าว

และย้ำว่า สิ่งที่ชาวบ้านห่วงมากที่สุดในขณะนี้ คือ กุฏิโบราณหลังใหญ่ภายในวัดซึ่งกำลังจะผุพังลงทุกวัน แม้ที่ผ่านมาทางกรมศิลปกรได้ประเมินว่าต้องใช้เงินบูรณะ 6 ล้านบาท แต่เมื่อทำเรื่องของบประมาณเพื่อใช้ในการซ่อมแซมบูรณะบำรุงกลับได้มาเพียง 2 แสนบาท

“คิดดูซิในอดีตวัดนี้เคยเจริญขนาดไหน เมื่อก่อนเวลาพระจะมาสอบพระปริยัติธรรม ก็จะรู้กันดีว่าที่นี่เป็นสนามหลวง 2 แต่สภาพวัดตอนนี้มีแต่เสื่อมโทรมผุพัง ไม่มีพระ ไม่มีกฐิน ไม่มีปัจจัยที่จะบูรณะปฎิสังขรณ์ โน่นศาลาเก่าสร้างตั้งแต่ปี 2391 สองปีแล้วนะที่วัดต้องตกอยู่ในสภาพอย่างนี้” ครูแจ้งพูดพลางชี้มือให้ดูศาลาเก่าแก่

วัดถัมภาวาส เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ยังมีวัดอีกหลายแห่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำลังจะกลายเป็นวัดร้าง จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น !!



กำลังโหลดความคิดเห็น